วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

"เปลื้องผ้า และไม่ไทยเลย" หนังสือดีๆ ที่จะช่วยต่อลมหายใจให้กับพี่เล็ก เหยื่อ ม.112 ในต่างแดน

วันจันทร์, เมษายน 07, 2557

จักรภพ เพ็ญแข และหนุ่ม เรดนนท์ พูดถึง "เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย" หนังสือใหม่ของ "เล็ก-จรรยา ยิ้มประเสริฐ"

ที่มา ร้านจักรภพ 
"เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย" หนังสือใหม่ของ "เล็ก-จรรยา ยิ้มประเสริฐ"

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557





“เปลื้องผ้า และไม่ไทยเลย” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทความที่กลั่นออกมาจากชีวิตจริงๆของผู้คนจริงๆ ที่ผู้อ่านอาจจะรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยเห็นผู้คนที่เป็นตัวละครในเรื่อง ซึ่งในชีวิตจริงเราอาจจะไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นเจ็บปวดเท่าไหร่? คิดเห็นอย่างไร? และเยียวยาตนเองอย่างไร? กว่าจะกลับมาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งในวันนี้ แต่ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ จะฉายภาพให้เราได้เห็นกันว่าผู้หญิงที่ต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ยากลำบาก ทั้งในชีวิตคู่และความสัมพันธ์ทางเพศ ภายใต้บริบทของสังคมจารีตที่กดขี่และตราหน้าผู้หญิงให้ต่ำต้อยด้อยกว่าชาย ว่าพวกหล่อนมีวิธีคิดอย่างไร มีวิธีเยียวยาตนเองอย่างไรเพื่อจะได้หลุดพ้นจากกรอบอันบีบคั้นเหล่านั้น

สังคมจารีตใช่แต่จะกดขี่ผู้หญิงในการใช้ชีวิตคู่เท่านั้น แต่ยังลงลึกไปถึงความสุขหรือไม่สุขสมในเพศสัมพันธ์อีกด้วย โดยที่พวกเธออาจจะไม่รู้ตัวเองเลยด้วยซ้ำ ว่าเพศสัมพันธ์ที่ผ่านไปในทุกค่ำคืนนั้น เป็นความสุขแล้วหรือไม่...?

ใช่แต่สังคมที่อิงศาสนาอย่างเข้มงวดเท่านั้นที่สร้างกรอบบีบบังคับขืนใจหญิงเช่นนี้ สังคมจารีตของไทยก็เช่นกัน ซ้ำบางทีอาจจะทำงานได้อย่างเข้มแข็งกว่าสังคมอิงศาสนาเสียด้วย เพราะสังคมจารีตของไทยไม่เปิดโอกาสให้ใครท้าทายหรือไถ่ถามถึง ขนบ ประเพณีที่เป็นมาของมันเลย การแกล้งทำลืม ละเลือน ยิ่งทำให้หญิงไทยต้องตกอยู่ภายใต้ความทุกข์ทน และความไร้สุขในชีวิตคู่และเพศสัมพันธ์มากขึ้น มากขึ้น ตลอดมา และอาจจะตลอดไป หากพวกหล่อนไม่เรียนรู้ที่จะรู้จักลุกขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยตัวของเธอเอง

“เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” จะเปิดเผยถึงเส้นทางชีวิตของผู้หญิงไร้สุขที่ต้องตกอยู่ภายใต้กรอบจารีตของสังคมในหลายๆมุมและหลายๆสถานการณ์ และฉายให้เห็นว่าพวกเธอเหล่านั้นทำอย่างไรจึงได้หลุดพ้นจากชีวิตที่ไร้สุขในกรอบจารีตมาสู่ชีวิตที่มีความสุขเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นตนเองในชีวิตไร้กรอบจารีต 


คำว่าเปลื้องผ้าพร้อมภาพหน้าปกที่โป๊เปลือยอาจทำให้หลายคนหลงคิดไปว่าหนังสือเล่มนี้จะมีเพียงความอีโรติก รักๆไคร่ๆในเรื่องเซ็กส์เท่านั้น โดยละเลยที่จะมองไปถึงความหมายที่ว่า “เปลื้องผ้า” นั้นก็คือ การปลดเปลื้องมายาแห่งจารีตที่ปิดกั้นห่อคลุมจิตใจผู้หญิงทั้งหลายออกไปด้วย เมื่อผู้คนสามารถทำลายมายาภาพที่ถูกปลูกฝังกล่อมสมองมานานได้แล้ว ก็ย่อมจะทำให้เขาได้เห็นตัวเอง และได้รู้จักตนเอง ผู้คนที่รู้จักตนเองก็ย่อมจะสามารถเลือกได้ว่าตนจะเดินไปในทางใดที่เป็นความสุข ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวของเขาเอง

และแม้เนื้อเรื่องและภาพใน “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” จะกล่าวถึงผู้หญิงเสียเยอะ ก็ใช่ว่าผู้ชายจะอ่านไม่ได้ หรืออ่านแล้วจะไม่ได้เรียนรู้อะไร เพราะในสังคมจารีตที่สร้างกรอบสำหรับควบคุมพลเมืองอย่างเข้มแข็ง แน่นหนา ของสังคมไทย แม้ผู้ชายก็ยังติดยึดในกรอบที่ถูกฝังหัวมาเช่นกัน และพวกเขาก็ยังพยายามคงคุณค่าทั้งรักษากรอบจารีตนั้นไว้โดยมิพักฉุกคิดหรือสงสัยว่า กรอบที่ตนยึดมั่นว่าสูงส่งและเพียรพยายามรักษาอยู่นั้นมันทำให้คนที่ตนรักเจ็บปวดหรือเปล่า? มันสร้างการกดขี่และข่มขู่คนอื่นอยู่หรือเปล่า? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรอบที่ว่า “ความดี ความเป็นคนดี" ในสังคมจารีตของไทย

ในนามแห่งความดี ความเป็นคนดีของไทย เราจะเห็นพวกเขาใช้กรอบอันนี้มาวางกฎระเบียบ ทั้งใช้บังคับ ตีค่าหรือตราหน้าคนอื่นๆที่ไม่ยอมอยู่ในแบบแผนจารีตที่พวกเขาพยายามวางครอบงำสังคมไว้เสมอ และสังคมจารีตที่เข้มข้นอย่างสังคมไทยนี้มันก็มีพฤติการณ์ที่แปลกประหลาดอันหนึ่งคือ เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งหรือสถาบันอันใดอันหนึ่งยกชูคุณค่าบางอย่างที่เขาชอบมาว่าเป็นความดี เขาก็จะสามารถใช้คุณค่าดังกล่าวนั้นมากดขี่ ขู่บังคับและข่มคนอื่นๆในสังคมได้เลยทันที โดยที่ไม่มีการถามหรือปรึกษากันก่อนเลยว่า คุณค่าความดีงามที่เขายกย่องเชิดชูนั้นในความเห็นของคนอื่นๆ คิดว่าเป็นเช่นไร? มันดีจริงๆ หรือมันไม่ดี? มันมีคุณค่าน่ายกย่องหรือมันไร้ค่าจนหาสาระไม่ได้...??

ไม่มีเลยที่สังคมไทยจะมีการไถ่ถามถึงความหมายในคุณค่าความดี-งามต่างๆเช่นนี้ มีแต่โยนลงมาและบังคับใช้กับผู้คนในสังคมเลยเท่านั้น สิ่งนี้บ่มเพาะและปลูกฝังมานานจนเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมไทยไปเสียแล้ว และตรงนี้มันก็บอกถึงความเป็นสังคมจารีตที่เข้มแข็งเข้มข้นของสังคมนี้ว่าอยู่ในระดับสูงเพียงใด...

(...การติดอันดับโลกของไทยทั้งด้านการท้องก่อนวัย การทำแท้ง การติดโรคทางเพศ และเอดส์ ควรจะทำให้รัฐบาลและสังคมตระหนักว่าที่ผ่านมา นโยบายในเรื่องสุขภาวะทางเพศที่มีปัญหา ได้นำสู่แนวนโยบายที่ผิดทาง ที่มุ่งไปที่การควบคุมและคุมเข้มเรื่องการห้ามการมีเพศสัมพันธ์ มากกว่าการให้ทุกสถาบัน และทุกเพศทุกวัยในสังคมตระหนักถึงความเป็นจริงและความเชื่อมโยงแห่งเสรีภาพวิถีเพศกับการดูแลตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง ปลอดภัย และมีความสุข 

ทั้งนี้ รัฐควรจะส่งเสริมให้คนในสังคม รู้จักเซ็กส์ที่ปลอดภัย และไม่อายที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะแห่งชีวิตคู่และเซ็กส์ที่สุขสม 

ต้องหยุดการห้ามเยาวชนมีเซ็กส์ด้วยข้ออ้างอนุรักษ์นิยม ด้วยทัศนคติที่มองว่าเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นกลุ่มที่นำมาซึ่งปัญหาสังคม จึงต้องถูกสอดส่องในวันสำคัญต่างๆ อาทิ วาเลนไทน์ วันลอยกระทง ทำกันราวกับว่าเยาวชนหญิง-ชายเป็นดั่งอาชญากร 

รัฐต้องเปิดรับเรื่องการทำแท้งได้อย่างเสรี เพื่อผู้หญิงที่มีครรภ์ในสภาวะไม่พึงประสงค์และไม่อยู่ในสภาวะที่จะดูแลบุตรได้ ทั้งทางเศรษฐกิจและสถานภาพในสังคม ไม่ใช่เฉพาะด้านสุขภาพเท่านั้น 

เปิดเสรีภาพการเลือกวิถีเพศ การเลือกคู่ครอง ปรับแก้กฎหมายให้มีกระบวนการรับรองสิทธิการเลือกเหล่านั้น ไม่ว่าจะเรื่องเพศ และการใช้ชีวิตคู่ที่ไม่ว่าจะระหว่างเพศหรือเพศเดียวกัน
เปิดรับข้อเสนอด้านนโยบายที่ก้าวหน้าทั้งหลาย เพื่อคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจาก “ความรุนแรงในครอบครัว” ทั้งมี “มาตรการป้องปรามการทารุณเด็กและการค้าประเวณีเด็กและผู้หญิง” ที่มีประสิทธิภาพ 

ส่งเสริมแนวนโยบายให้สังคมตระหนักในเรื่อง “เซ็กส์ที่มีความสุข” “เซ็กส์ด้วยความรับผิดชอบ” และ “เซ็กส์บนฐานของการเข้าใจมัน” เคารพตนเองและคู่ครองหรือคู่นอน และไม่ใช้กำลังบังคับการมีเพศสัมพันธ์...)

ข้างบนคือข้อเสนอที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือสังคมอย่างยาวนานของผู้เขียน “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” ต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาล เพื่อที่จะปฏิรูปสังคมไทยให้หลุดพ้นจากการเป็นสังคมจารีต อนุรักษ์นิยมที่ดัดจริตและตอแหลสร้างภาพโกหกตัวเอง เพื่อที่สังคมนี้จะได้กลายเป็นสังคมที่ยืนอยู่กับความเป็นจริง เป็นสังคมที่เรียนและรู้จักตนเองอย่างแท้จริง รู้สถานภาพของตนในสังคมโลก และรู้ว่าตนจะนำพาสังคมก้าวเดินไปในแนวทางใดจึงจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างเท่าเทียมกับประเทศที่เจริญแล้วในโลก

หลายคนคงประหลาดใจว่าทำไม ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสังคมจากหนังสือ “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” ที่ผมยกมาจึงเป็นเรื่องราวของเซ็กส์และเพศสัมพันธ์ ที่จริงแล้วข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสังคมจากหนังสือเล่มนี้นั้นมีหลากหลายแง่มุม(ผู้สนใจควรจะเข้าไปศึกษาเองจากในเล่ม) แต่ที่นำเสนอการปฏิรูปเรื่องเซ็กส์ก็เพราะ เรื่องนี้เป็นพื้นฐาน เป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่อยู่คู่กับมนุษย์ เป็นเรื่องอารมณ์พื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต่างก็มีความรู้สึกต่อมันด้วยกันทั้งนั้น

แต่... ด้วยความที่อยู่ในสังคมจารีตจึงทำให้คนในสังคมถูกกด ถูกปิดการรับรู้และเรียนรู้กับเรื่องพื้นๆของมนุษย์เช่นนี้ไป ทำให้การรับรู้ในเรื่องเซ็กส์และเพศวิถีของผู้คนในสังคมจารีตแห่งนี้บิดเบี้ยวและเกิดความเข้าใจผิดๆต่อๆกันมา และเป็นต้นธารให้เกิดความรุนแรงในหลากหลายมิติขึ้นในสังคม จากความเก็บกดในจิตใจของผู้คนในสังคม การจะปฏิรูปสังคม เราย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักสังคมที่ตนอยู่อย่างถูกต้อง และก่อนที่จะรู้จักสังคมของตนได้อย่างถูกต้องก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะต้องรู้จักตนเองให้ถ่องแท้เสียก่อน

ความน่าอ่านของหนังสือ “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” คือ การที่หนังสือเล่มนี้ช่วยสะท้อนภาพสังคมพร้อมทั้งตัวตนของเราออกมาอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา และเปลื้องเปลือย เพื่อที่เราจะได้รู้จัก ได้เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้สังคม จะได้เข้าใจตนเองและสังคม เพื่อจะได้ช่วยกันทลายกรอบกฎเกณฑ์ที่มันกดขี่ บีบคั้น และบังคับความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ของเราให้หมดสิ้นหรืออย่างน้อยก็ลดน้อยลงไป เพื่อที่เราจะได้อยู่ในสังคมมนุษย์ที่เทียมหน้าเสมอภาค เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจสังคมร่วมกัน

*****************************************************************************************************

เจ้าของหนังสือ : จรรยา ยิ้มประเสริฐ




ประวัติการทำงานโดยสังเขป


2532 
จบการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต (สังคมศาสตร์การพัฒนา) มหาวิทยาลัยศิลปากร 
ผู้ช่วยวิจัยเรื่องผลกระทบของการท่องเที่ยวที่เกาะสมุย 


2533 
ทุนไปศึกษาดูงานที่ออสเตรเลีย 
ศูนย์แรงงานอพยพ ช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานเอเชียร้องเรียนเรื่องสิทธิและค่าเสียหาย ฮ่องกง 


2535 
องค์กรกลาง 
ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน 


2536 
วิจัยเรื่องคนงานไทยในสิงคโปร์ 
องค์กรอาสาสมัครแคนาดา (CUSO) ทำงานด้านประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนและงานส่งเสริมบทบาทหญิงชาย 


2538 
Focus on the Global South (โครงการศึกษาแบะปฏิบัติการงานพัฒนา) 


2540 -2542 
อาสาสมัครช่วยงานสมัชชาคนจนและกลุ่มเพื่อนประชาชน 
ประสานงานสัมมนา ผู้หญิงชาวนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพ 

2542 
ผู้ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนรีบอค (4 เดือน) 
รายงาน “จรรยาบรรณด้านแรงงานของบรรษัทข้ามชาติจะสามารถส่งเสริมสิทธิแรงงานได้จริงหรือไม่? 

2544 ก่อตั้งโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจนถึงเดือนมิถุนายน 2553

2004 
มกราคม World Social Forum, Mumbai, อินเดีย 
พฤษภาคม People Global Action, Dhaka, บังคลาเทศ 
สิงหาคม โอลิมปิกคนงานเอเชีย กรุงเทพฯ 


2548 
People Global Action, ฮาริดวาร์, อินเดีย 
บริษัท Publicis ฟ้องร้องจรรยา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการช่วยเหลือคนงานบริษัทที่เมืองไทยเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกเลิก จ้างไม่เป็นธรรม บริษัทถอนฟ้องหลังจากถูกขบวนการแรงงานสากลรณรงค์ประท้วง 


2549 
ประสานเวทีสมานฉันท์โลกใต้กับโลกใต้ที่งานภาคประชาสังคมโลก ไนโรบี เคนยา
การสัมนานานาชาติของเครือข่ายแรงงานทั่วโลก ลิม่า เปรู 
ธันวาคม ย้ายไปอยู่เชียงใหม่และเริ่มสร้างโครงการ “การพึ่งตนเองด้วยวิถีออแกนิกส์ที่ไร่เปิดใจ” อ. แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 

2550 ร่วมก่อตั้งเครื่อข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ

2552 
มีนาคม - กรกฎาคม เดินสายประชุมและนำเสนอปัญหาแรงงานไทยที่ยุโรป 7 ประเทศ 

ธันวาคม ร่วมประกาศจัดตั้ง สหภาพคนทำงานต่างประเทศ 


นับตั้งแต่ปี 2553 ประสานกิจกรรม ACT4DEM แอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย และสหภาพคนทำงานต่างประเทศ เพื่อศึกษาเรื่องปัญหาแรงงานไทยในยุโรป

ปัจจุบันนั่งทำงานเขียนหนังสือ บทความ ผลิตสื่อการศึกษา และรณรงค์เพื่อสิทธิแรงงานและเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยอยู่ประเทศฟินแลนด์ 

งานเขียนที่จัดพิมพ์

มาสเตอร์ทอย: 72 ปีแห่งการต่อสู้บนท้องถนน(2544)
จรรยา ยิ้มประเสริฐ และบรรจง เจริญผล
เรื่องราวของคนงานกว่า 150 คนที่ตื่นรู้ในเรื่องสิทธิ และประท้วงบริษัทเมเฉิงทอย ที่เลิกจ้างพวกเขาเพราะจัดตั้งสหภาพแรงงาน, 2544


ใครบอกว่าคนไทยอ่อนแอ (2545)
จรรยา ยิ้มประเสริฐ จรัล กล่อมขุนทศ และรุ่งนภา ขันคำ
จรัลและรุ่งนภาเป็นสองในแกนนำสหภาพเสรีปานโก้ ที่หนังสือสือเล่มนี้ได้เขียนขึ้นเพื่อรำลึก 10 ปีแห่งการต่อสู้ของพวกเขา ชาวเสรีปานโก้, 2544 เป็นสหภาพเดียวในประวัติศาสตร์เท่าที่ทราบท่ีทำให้นายทุนที่เอาเปรียบแรงงาน ต้องเข้าไปอยู่ในคุก เผชิญกับความเจ็บปวด (แม้จะระยะเวลาสั้น) เช่นที่คนงานต้องเผชิญทุกเมื่อเชื่อวัน


โซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ไทยและอังกฤษ) (2546)
รายงานการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการและโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ในประเทศไทยที่กดชะตากรรมของคนงานหญิงนับล้านคนไว้ในขั้นตอนสุดท้ายแห่งการ ผลิตในอัตราค่าจ้างต่ำสุด และต่อต้านการรวมตัวต่อรองของคนงานหญิงอย่างรุนแรง

พอกันที (ไทยและอังกฤษ)(2546)
พอกันที
พอกันทีกับยุทธการทำร้ายและรังแกคนงาน โดยเฉพาะในความพยายามขัดขวางคนงานในทุกวิถีทางของนายทุน เพื่อไม่ให้สามารถตั้งสหภาพแรงงานเพื่อรวมตัวต่อรองกับนายทุนได้สำเร็จ เรื่องราวการต่อสู้ได้้ถูกนำเสนอในรูปแบบบทสนทนาและภาพวาดเพื่อให้เข้าใจได้ ง่าย

ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสูด (ไทยและอังกฤษ)(2549)
จรรยา ยิ้มประเสริฐ และ Petter Hveem เป็นงานเขียนที่วิพากษ์การปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มโลกที่วางระบบ การผลิตอยู่บนการลอยตัวของความรับผิดชอบตรงต่อคนงานที่อยู่ในโซ่สุดท้ายของ การผลิต และสร้างภาพลักษณ์แห่งการเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีจรรยาบรรณด้านแรงงานและมี จริยธรรมเพื่อสังคม

กว่าจะบอกได้ว่า ทำไมถึงไม่รักในหลวง
เป็นงานเขียนที่เกิดจากความสุดทนเมื่อเห็นประชาชนคนไทยถูกทหารยิงตายกลางท้องถนนอย่างป่าเถื่อนและโหดร้ายอีกครั้ง เมื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเดือนเมษา-พฤษภาฯ 2553

แรงงานข้ามชาติ
รวบบทความงานเขียนที่เชื่อมร้อยปัญหาแรงงานโรงงานอุตสาหกรรม และปัญหาเกษตรกรแรงงานในชนบทที่ถูกล่อหลอกให้จ่ายค่าหัวคิวแพงลิบกับการไปทำงานที่ยากลำบากที่ต่างแดน กับวิถีการเมืองประชาธิปไตยใต้กระบอกปืนที่ครองธรรมเนียมการเมืองไทยมายาวนานหลายทศวรรษ 


********************************************************************

"เปลื้องผ้า และไม่ไทยเลย" หนังสือดีๆ ที่จะช่วยต่อลมหายใจให้กับพี่เล็ก เหยื่อ ม.112 ในต่างแดน


สร้างเมื่อ วันศุกร์, 04 เมษายน 2557 19:09

เขียนโดย หนุ่มเรดนนท์
ที่มา กลุ่มอดีดนักโทษการเมืองไทย





ผมรู้จักพี่เล็ก จรรยา ยิ้มประเสริฐ จากหนังสือที่ชื่อว่า "แรงงานอุ้มชาติ" ที่ผมได้แอบขโมยอ่าน จากกองหนังสือของพี่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ในห้องสมุด ตอนผมอยู่ในเรือนจำ ความจริงไม่ได้ตั้งใจอ่านหรอก เพราะตัวเองไม่ได้อยู่ในวงการแรงงาน อย่างพี่สมยศ แต่พี่สมยศ เขาเปิดให้ดูในภาคที่ 3 ตอนที่ 32 ในหน้า 405 ของหนังสือเล่มนี้ แล้วบอกว่า พี่เล็ก ได้เขียนอ้างอิงชื่อผม "ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล" ประมาณ 5 บรรทัด ด้วย เป็นเนื้อหาที่ผมเขียนถึงลูกชายของผม และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อพี่เล็ก จึงเป็นที่จดจำของผมมาโดยตลอด (และมีคำถามอยู่ในใจตั้งแต่ตอนนั้นเช่นกันว่า เธอเป็นอะไรกับ อ.ยิ้ม สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ กันนะ)

เมื่อผมได้รับการปล่อยตัวออกมาจากคุก ทันทีที่ผมได้กลับมายังโลกไซเบอร์อีกครั้ง ผมจึงได้ขอแอดพี่เขาเป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊ก และได้ติดตามพี่เล็กตลอดมา สำหรับพี่เล็กแล้ว ผมทราบข้อมูลของเธอแบบคร่าวๆ ว่าเธอทำงานอยู่ต่างประเทศ ไปๆ มาๆ ที่เมืองไทย ผมคิดว่าเธอเป็น NGO ทำงานด้านแรงงาน และคิดว่า ชีวิตเธอคงอยู่สุขสบาย อย่างเช่นคนไทยทั่วไปที่ไปทำงานในต่างประเทศ แม้กระทั่งตอนที่ผมทราบข่าวว่า เธอโดนแจ้งข้อหาหมิ่นฯ (ม.112) ถึง 2 คดี ผมก็ยังคิดว่าเธอไม่น่าจะเดือดร้อนอะไร

แล้วก็มีวันหนึ่ง ที่ผมได้รับการติดต่อจากคุณ Ye Pojanamesbaanstit เพื่อนทางเฟซบุ๊ก ว่ามีสำนักข่าวจากประเทศสวีเดน ต้องการมาขอทำข่าว เกี่ยวกับนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) ในเมือไทย และจะมาขอสัมภาษณ์ผม เราจึงได้เจอกัน และคุณ Ye Pojanamesbaanstit จึงได้เล่าเรื่องพี่เล็กให้ฟังว่า ตอนนี้พี่เล็กตกอยู่ในสถานะลำบากมาก มากซะจนผมได้ยินแล้วตกใจ เพราะไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้เลย รายละเอียดขอไม่เล่าละกันครับ เพราะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และเกรงว่าจะไม่เ่หมาะ ซึ่งตลอดเวลาที่รู้จักกับพี่เล็ก (ทางเฟซบุ๊ก) ผมไม่เคยเห็นเธอเคยเล่าอะไรให้ผมฟังเลย พวกเราจึงไม่รู้ว่าเธอกำลังประสบปัญหาอะไร มากแค่ไหน

และนี่จึงเป็นที่มาของการเขียนบทความเรื่องนี้ เพราะอยากช่วยพี่เขาอีกทางหนึ่ง..

พี่เล็กคงกลับเมือไทยไม่ได้หรอกในเวลานี้ เพราะคงไม่มีใครอยากจะกลับมาติดคุกติดตาราง โดยเฉพาะกับการติดคุกด้วยกฎหมายมาตรานี้ การใช้ชีวิตที่เมืองไทย โอกาสในการทำมาหากิน มันมีมากกว่าการอยู่ต่างบ้านต่างเมือง และเมื่อเธอกลับเมืองไทยไม่ได้ สิ่งเดียวที่เธอต้องทำเวลานี้ ก็คือทำอย่างไรที่จะเอาตัวให้รอด ประคองชีวิตของเธอให้อยู่ต่อไปได้ จนกว่าเมืองไทย จะมีการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้

พี่เล็ก จึงมีรายได้ทางเดียวในเวลานี้ ก็คือการขายหนังสือที่เธอเคยเขียนไว้ เพื่อนำรายได้มาปลดหนี้สิน และประคองชีวิตของเธอให้อยู่รอดต่อไป และวันนี้ (4 เมษายน 2557) ผมได้ไปรับหนังสือเล่มใหม่ของพี่เล้กมาบางส่วน เพื่อนำไปขายในงานชุมนุมของ นปช. ในวันรุ่งขึ้น เธอฝากให้ผมขาย 200 เล่มโดยให้ส่วนแบ่ง 40% กับผม ในนามกลุ่มอดีตนักโทษการเมือง ซึ่งผมแทบไม่อยากเอาเปอร์เซนต์จากจากการขายจเลย เพราะรู้ดีว่าเวลานี้ เงินมันจำเป็นกับพี่เขามากขนาดไหน และผมยังไม่มีความมั่นใจว่าจะช่วยขายหนังสือพี่เขาได้สักกี่เล่มในเวลานี้ แต่ผมรับปากพี่เล็กว่า ผมจะทำให้สุดความสามารถก็แล้วกัน





ดังนั้นผมจึงขออนุญาต โฆษณาหนังสือของพี่เล็ก ทั้ง 2 เล่ม เผื่อจะมีใครทีี่สนใจ จะช่วยกันอุดหนุนผลงานดีๆ ของพี่เขา อันได้แก่ 
"แรงงาน อุ้มชาติ" การต่อสู้ของแรงงานและคนชั้นล่างที่ไม่ยอมจำนนต่อเผด็จการและทุน ราคา 300 บาท (430 หน้า) 
"เปลื้องผ้า และไม่ไทยเลย" เดินทางสู่ความนับถือตัวเอง ราคา 270 บาท (224 หน้า) 


วิธีการสั่งซื้อ 
โอนเงินเข้าบัญชี ธ. ไทยพาณิชย์ - บ้านบัวทอง เลขที่บัญชี 386-2-08844-6 ชื่อบัญชี ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล 
ถ่ายใบสลิป แจ้งมายัง Inbox ของ "หนุ่มเรดนนท์" ทางเฟซบุ๊ก / ทางโปรแกรม Line @noomrednon / หรือ SMS ส่งมาที่เบอร์ 082-725-3787 
ค่าจัดส่ง 20 บาททั่วประเทศ (ไปรษณีย์ลงทะเบียน) หรือส่ง EMS ค่าจัดส่ง 40 บาท ทั่วประเทศ 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 082-725-3787 

ซื้อด้วยตัวเองที่ตัวแทนจำหน่ายดังนี้ 
ร้านหนังสือ ทีพีนิวส์ (คุณนุชรินทร์ ต่วนเวช) อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 4 ห้อง D10 เลขที่ 2539 ถ.ลาดพร้าว 81-83 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310 โทร. 085-504-9944, 086-073-0053 (สุไพรพล-ทัวร์) อีเมล์: tpnews2012@gmail.com ร้านค้าออนไลน์: www.tpnewsbook.com 


ขอบคุณที่ช่วยเหลือกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น