วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วุฒิสภาล่าแม่มดกระเหี้ยนกระหือรือเรียกสปอนเซอร์หนังสือรำลึก 40 ปี14 ตุลา'ย้ำยุครุกสมัย'ไปเฉ่งหมิ่นฯ

 

วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 17, 2556

วุฒิสภาล่าแม่มดกระเหี้ยนกระหือรือเรียกสปอนเซอร์หนังสือรำลึก 

40 ปี14 ตุลา'ย้ำยุครุกสมัย'ไปเฉ่งหมิ่นฯ


นี่แหละครับ พวกล่าแม่มดตัวพ่อ
........................
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
17 ตุลาคม 2556

อาจารย์จรัล ดิษฐาภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ 
เจ้าภาพผู้จัดงาน 40 ปี 14 ตุลาจงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และ
ได้จัดพิมพ์หนังสืิอ"ย้ำยุครุกสมัย" ได้โพสต์ลงในเพจ Jaran Ditapichai ว่า 
คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการบังคับใช้่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ของวุฒิสภา ได้มีหนังสือเรียกหัวหน้าส่วนราชการ 
และรัฐวิสาหกิจที่ลงโฆษณาหนังสือ ย้ำยุครุกสมัยไปชี้แจง

"ข่าวด่วน พรุ่งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการบังคับใช้่กฎหมาย
ที่เกี่ยวข้องกับการพิทกษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ของวุฒิสภา เรียก
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และธนาคารเพื่อการเกษรตรและสหกรณ์
ไปชี้แจงอีก ๒ องค์การ ที่ถูกเรียกไป คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสำนักกองทุนหมู่บ้านแห่งชาติ  
ทำไมอุดหนุนการจัดงานและลงโฆษณาในหนังสือ "ย้ำยุค รุกสมัย "
หนังสือประจำงาน ๔๐ ปี ๑๔ ตุลาคม แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายเสื้อเหลือง
กำลังใช้ประเด็นนี้มาโจมตีคณะกรรมการ ๑๔ ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ 
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการชุดนี้ ทำหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีชลอการนำร่าง
รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่แล้วกราบทูลลงปรมาภิไธย "

"ดร.หวาน (ดร.สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) บอกว่า คณะกรรมาธิการฯชุดนี้ 
เรียกอธิการบดี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยไปให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเธอด้วย แต่ไม่รู้ว่า ประเด็นใด"


กรรมการของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการบังคับใช้่กฎหมาย
ที่เกี่ยวข้องกับการพิทกษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ของวุฒิสภา ชุดนี้ประกอบด้วย
http://www.senate.go.th/w3c/senate/comm.php?url=committee&comm_id=482

รองศาสตราจารย์พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
รองศาสตราจารย์ทัศนา บุญทอง ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิพย์วัลย์ สมุทรักษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
นายสมชาย แสวงการ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ คนที่สอง
นายตวง อันทะไชย โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
นายปรเทพ สุจริตกุล โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร องเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
นายณัฐเมศร์ เรืองพิชัยพร กรรมาธิการวิสามัญฯ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณตรึงใจ บูรณสมภพ กรรมาธิการวิสามัญฯ
นายธานี อ่อนละเอียด กรรมาธิการวิสามัญฯ
นายประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมาธิการวิสามัญฯ
นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ กรรมาธิการวิสามัญฯ

นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ กรรมาธิการวิสามัญฯ
พลเอกเพิ่มศักดิ์ พวงสาโรจน์ กรรมาธิการวิสามัญฯ
พลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ กรรมาธิการวิสามัญฯ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์วงศ์กุลพัทธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมาธิการวิสามัญฯ
นายวิทวัส บุญญสถิตย์ กรรมาธิการวิสามัญฯ
นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม กรรมาธิการวิสามัญฯ
นายสมัคร เชาวภานันท์ กรรมาธิการวิสามัญฯ
นายสันติสุข โสภณสิริ กรรมาธิการวิสามัญฯ
นายสาย กังกเวคิน กรรมาธิการวิสามัญฯ
นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ รมาธิการวิสามัญฯ
พลเรือเอก สุรศักดิ์ ศรีอรุณ กรรมาธิการวิสามัญฯ
นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ รรมาธิการวิสามัญฯ
นายอนุศักดิ์ คงมาลัย กรรมาธิการวิสามัญฯ
นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล กรรมาธิการวิสามัญฯ


หนังสือต้องห้ามในสายตาของวุฒิสภา


สารบัญหนังสือ "ย้ำยุค รุกสมัย" หนังสือที่ระลึกแจกฟรีสำหรับคนที่มาร่วมงาน 
"40 ปี 14 ตุลา" เสาร์-อาทิตย์ที่ 5-6 และ 13 ตุลาคม ณ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์





.................
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:14 ตุลา 16:ภาพนี้เมื่อ 40 ปีก่อนและปากคำคนในภาพ



“หลังยึดรถมาแล้ว ผมก็อยู่กับรถคันนี้จนเหตุการณ์จบในวันที่ ๑๕“

มีแววว่าจะดราม่าก่อหวอดต้านสมเด็จฯปากน้ำขึ้นเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ อ้างเป็นนอมินีวัดพระธรรมกาย

วันศุกร์, ตุลาคม 25, 2556

มีแววว่าจะดราม่าก่อหวอดต้านสมเด็จฯปากน้ำขึ้นเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ อ้างเป็นนอมินีวัดพระธรรมกาย



สุดแสนจะอาลัยกับการจากไปของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช 
อาลัยยิ่งกว่า ถ้าสังฆราชองค์ต่อไปมาจากธรรมกาย
หน้าเพจ กรณี ธรรมกาย ออกมาคัดค้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ พ.ศ. 2538 (มหานิกาย) ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของ "ธัมชโย" วัดพระธรรมกาย โดยอ้างว่าเป็นนอมินีของวัดธรรมกาย โดยหน้าเพจดังกล่าวได้นำเสนอว่า
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 กล่าวว่า

พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนา เป็นสมเด็จพระสังฆราช 

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายก รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดย สมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระราชาคณะในปัจจุบัน เรียงตามอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุด ตาม พ.ศ.การสถาปนา

1. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ พ.ศ. 2538 (มหานิกาย) เป็นอุปัชฌาย์ของ "ธัมชโย" วัดพระธรรมกาย

2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศาราม พ.ศ. 2544 (ธรรมยุตนิกาย)

3. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พ.ศ. 2552 (ธรรมยุตนิกาย)

4. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. 2552 (ธรรมยุตนิกาย)

5. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) วัดสุทัศน์เทพวราราม พ.ศ. 2553 (มหานิกาย)

6. สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ. 2553 (ธรรมยุตนิกาย)

7. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการาม พ.ศ. 2554 (มหานิกาย)

ทางออกเพียงทางเดียว คือ พระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น
..........

ทางด้านนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักศึกษานิติศาสตร์โพสต์ลงในfacebookยืนยันว่า เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายแล้วสมเด็จฯปากน้ำสถานเดียวเท่านั้นที่จะมีสิทธิในตำแหน่งพระสังฆราชองค์ใหม่

บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช" บุคคลนั้นต้องมีอาวุโสสูงสุด "โดยสมณศักดิ์" มิใช่ "โดยพรรษา"

กล่าวคือ นับว่าใครได้ตำแหน่ง "สมเด็จพระราชาคณะ" ก่อนหลังนั่นเอง
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ).jpg
สมเด็จวัดปากน้ำ (บวชปี ๒๔๘๘) ได้สมณศักดิ์ "สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ" เมื่อปี ๒๕๓๘
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ถาวโร มานิต ป.ธ. ๙).jpg
ส่วนสมเด็จวัดสัมพันธวงศ์ (บวชปี ๒๔๘๐)ได้สมณศักดิ์ "สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ" เมื่อปี ๒๕๔๔ ครับ

แม้สมเด็จวัดสัมพันธวงศ์ จะมีอายุพรรษาสูงกว่า แต่เมื่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ มาตรา ๗ บัญญัติว่า "...ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนา เป็นสมเด็จพระสังฆราช"

กรณีจึงไม่ต้องตีความอื่นใดอีก ว่าบุคคลที่อยู่ในคุณสมบัติจึงมีบุคคลเดียวคือ สมเด็จฯวัดปากน้ำ สถานเดียว เพราะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ครับ.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ชัยชนะด้านวาทกรรม 14 ตุลา ของขบวนประชาธิปไตย

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข"
ฉบับวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556

 การจัดงานรำลึกครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในปีนี้ ได้แยกจัดเป็นสองงานคือ งานดั้งเดิมที่จัดโดยมูลนิธิ 14 ตุลา และงานใหม่ที่จัดเป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่มีนายจรัล ดิษฐาอภิชัยเป็นประธาน นี่เป็นศึกต่อสู้ช่วงชิงสัญลักษณ์เหตุการณ์ 14 ตุลา ระหว่างคนเดือนตุลาฯกลุ่มที่รับใช้เผด็จการ กับคนเดือนตุลาฯที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน

 งานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในแต่ละปีจะจัดโดยมูลนิธิ 14 ตุลา และมีคณะญาติวีรชน 14 ตุลา เข้าร่วม แต่ในหลายปีมานี้ บุคคลหลายคนในมูลนิธิ 14 ตุลา มีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนเผด็จการอย่างคงเส้นคงวา ตั้งแต่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทย สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เข้าร่วมสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และสนับสนุนพันธมิตรเสื้อเหลืองในการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน จนทุกวันนี้ก็ยังเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คนพวกนี้อยู่กับมูลนิธิ 14 ตุลามายาวนาน ผูกขาดการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ใช้สถานะไปแสวงหาผลประโยชน์และตำแหน่งทางการเมืองที่พวกเผด็จการโยนให้ เป็นกาฝากที่เกาะกินญาติวีรชนมานานหลายปี

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในหลายปีมานี้ งานรำลึก 14 ตุลาที่จัดโดยมูลนิธิ 14 ตุลา จึงแทบไม่มีคนเดือนตุลาฯที่ต่อต้านรัฐประหาร 2549 เข้าร่วมเลย รวมทั้งมวลชนคนเสื้อแดงก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมและไม่ให้ความสนใจแต่อย่างใด จนทำให้งานรำลึกในแต่ละปีซบเซาลงไปเรื่อย ๆ และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการทรยศต่อประชาธิปไตย หันไปรับใช้เผด็จการและสนับสนุนรัฐประหาร

 แต่ในปี 2556 นี้ ฝ่ายประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งขึ้นจนสามารถเข้ามาช่วงชิงงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยจัดแยกต่างหาก คณะญาติวีรชนตัดสินใจปลดแอกตนเอง หันมาเข้าร่วม ปรากฏว่า การจัดงานประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้คนเข้าร่วมมากกว่าทุกปี มวลชนคนเสื้อแดงให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปาฐกถาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและจาตุรนต์ ฉายแสง ที่สามารถช่วงชิงพื้นที่ความสนใจในสื่อมวลชนกระแสหลักได้แทบทั้งหมด

 คำปาฐกถาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลครั้งนี้ นับเป็นปาฐกถาประวัติศาสตร์ ซึ่งมาล่าช้ามาก จนเกือบจะสายเกินไปในการกอบกู้สัญลักษณ์ 14 ตุลาปาฐกถานี้ก็คือคุณูปการสุดท้ายที่เสกสรรค์มอบให้แก่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหล่าบรรดาผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น กอบกู้มิให้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต้องจมหายไปในกระแสธารประวัติศาสตร์ของฝ่ายเผด็จการด้วยน้ำมือของคนเดือนตุลาที่สนับสนุนรัฐประหารในปัจจุบัน

แน่นอนว่า เรายังอาจวิจารณ์บทบาทและท่าทีของเสกสรรค์ในหลายปีที่ผ่านมานี้ได้ว่า เอื้อต่อการต่อต้านรัฐประหารและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสักเพียงใด รวมทั้งเนื้อหาของปาฐกถาหลายประเด็นก็สามารถนำมาถกเถียงกันได้ เช่น การนำเอาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาเชื่อมต่อโดยตรงกับขบวน

ประชาธิปไตยของ "คนชั้นกลางใหม่" ในปัจจุบัน การเน้นประเด็น "ความเหลื่อมล้ำทางสังคม" มาเป็นส่วนหนึ่งโดยตรงภายในวาทกรรม 14 ตุลา เป็นต้น แต่โดยภาพรวมแล้ว ปาฐกถาของเสกสรรค์ในครั้งนี้ ได้สร้างผลสะเทือนอย่างสำคัญในหมู่คนเดือนตุลาทั้งสองฝ่าย ต่อประชาชนที่เข้าร่วมเหตุการณ์ในครั้งนั้น ต่อความรับรู้ของประชาชนทั่วไป ต่อวิกฤตการเมืองปัจจุบัน และเป็นบทสรุปสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่จะตกทอดไปสู่ชนรุ่นต่อ ๆ ไป ปาฐกถาครั้งนี้ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลจึงเป็นคุณต่อประชาธิปไตย แต่เป็นโทษต่อเผด็จการ

นี่เป็นชัยชนะเด็ดขาดด้านวาทกรรม 14 ตุลา โดยฝ่ายประชาธิปไตย และทำให้คนเดือนตุลากลุ่มที่รับใช้เผด็จการไม่สามารถผูกขาดสัญลักษณ์ 14 ตุลาแต่ฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นหลักหมายสำคัญถึงชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในการต่อสู้ทางวาทกรรมทั้งหมดอีกด้วย

ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงสามารถช่วงชิงสัญลักษณ์วันที่ 24 มิถุนา มาได้ไม่ยากนัก เพราะฝ่ายจารีตนิยมไม่ต้องการให้มีการจดจำวันดังกล่าว ขณะที่คนเดือนตุลาที่รับใช้เผด็จการและพวกพันธมิตรเสื้อเหลืองซึ่งเป็นพวกนิยมกษัตริย์ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสัญลักษณ์ 24 มิถุนาได้

ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงช่วงชิงสัญลักษณ์เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาได้ตั้งแต่ปีแรก ๆ หลังรัฐประหาร 2549 เพราะมวลชนคนเสื้อแดงมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์นั้นมากเป็นพิเศษ ทั้งในแง่เหยื่อนิสิตนักศึกษาที่ถูกเข่นฆ่าในวันนั้นเหมือนที่คนเสื้อแดงประสบในวันนี้ แต่ยังรวมไปถึงผู้วางแผนก่อการสังหารหมู่ในครั้งนั้นก็คือคนกลุ่มเดียวกับที่วางแผนรัฐประหาร 2549 นั่นเอง ซึ่งประเด็นหลังก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนเดือนตุลาที่รับใช้เผด็จการและพันธมิตรเสื้อเหลืองไม่เต็มใจที่จะจดจำเหตุการณ์นี้และพยายามทำเป็นลืม

ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในการช่วงชิงสัญลักษณ์ 14 ตุลา ในปีนี้จึงมีความหมายพิเศษเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในด้านวาทกรรมทั้งหมดอีกด้วย ธงแดงที่อยู่ในมือของฝ่ายประชาชนในวันนี้คือธงประชาธิปไตย ที่รวมเอากระแสประชาธิปไตยนับแต่ 2475 จนถึงปัจจุบันไว้ด้วยกัน เป็นธงแดงแห่งประชาธิปไตยที่ถูกชูให้สูงเด่น เป็นสัญลักษณ์หนึ่งเดียวของการต่อสู้เพื่อเอาชนะเผด็จการ

ฝ่ายเผด็จการจึงประสบความพ่ายแพ้ทางวาทกรรมไปแล้วอย่างเด็ดขาด พวกเขาไม่อาจที่จะอ้างเอา "ประชาธิปไตย" มาเคลือบคลุมจุดมุ่งหมายที่แท้จริงและสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้อีกต่อไป พวกเขาเหลือไว้แต่เนื้อในที่เป็นเผด็จการ ต่อต้านประชาธิปไตยเสรีนิยม ได้แต่ท่องซ้ำวาทกรรม "นักการเมืองโกง" "เผด็จการรัฐสภา" "คุณธรรมจริยธรรมและคนดี" สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องอย่างเปิดเผยไม่มียางอายอีกต่อไปคือ ให้ตุลาการและทหารทำการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้ง แทนที่ด้วยระบอบเผด็จการเต็มรูป

แต่การเคลื่อนไหวของคนพวกนี้ก็อยู่ในสภาพกระเสือกกระสนรอวันล่มสลาย เพราะการพ่ายแพ้ทางวาทกรรมคือจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่จะตามมานั่นเอง
http://thaienews.blogspot.sg/

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

40 ปี 14 ตุลา... สู้เพื่อเปลี่ยนอำมาตยาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ

40 ปี 14 ตุลา... สู้เพื่อเปลี่ยนอำมาตยาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ

วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 00:14:13 น.

  




หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว/ มุกดา สุวรรณชาติ


พูดถึง 14 ตุลา

ต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญ และการพัฒนาประชาธิปไตย

ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ กฎหมายเขียนโดยผู้มีอำนาจ ในยุคที่ผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ล้วนอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ปกครองทั้งสิ้น ในยุคที่ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น กฎหมายก็จะให้ความยุติธรรม กับคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการจัดระเบียบการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือรัฐธรรมนูญ 

ทั้งประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ งอกขึ้นมาจากดิน และก็ไม่ใช่เห็ดฟาง ทั้งสองอย่าง จะใช้เป็นโครงสร้างส่วนหนึ่งของสังคมได้ต้องแข็งแกร่งแบบไม้ยืนต้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาพัฒนา เติบโต หลายสิบปี

สำหรับประเทศไทย เรานำไม้ต้นนี้มาปลูกบนที่แห้งแล้ง ในเนื้อดินมีทั้งปุ๋ย และพิษ ต้นไม้จึงโตช้า บางช่วงก็มีคนมาตัดกิ่ง ผ่านแล้งผ่านฝนมาเยอะรอดมาถึงวันนี้ในสภาพแคระแกร็น

การพัฒนาประชาธิปไตย ต้องพัฒนาปัจจัยหลายด้าน

1. พัฒนารัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การคิดขึ้นเองลอยๆ แต่จะใช้ได้จริงต้องสอดคล้องกับสถานการณ์การเมือง ในแต่ละช่วง และผลักดันให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

2. พัฒนาองค์กรหลัก คือ รัฐสภา ทั้งเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย รัฐบาล ศาล

3. พัฒนากลไกของรัฐ คือข้าราชการพลเรือนและทหาร ให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบเจ้าขุนมูลนาย

4. พัฒนาประชาชนทั้งความรู้ความคิดและและการปฏิบัติจริงคือ การปกครองท้องถิ่น

5. พัฒนาการแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรรายได้และสวัสดิการจะกระจายออก

การพัฒนาทั้ง 5 ด้านไม่เคยเกิดขึ้นพร้อมกัน ระบอบประชาธิปไตย จึงเดินไปได้ช้ามากหรือบางช่วงหยุดชะงัก ถูกทำลาย เพราะทั้ง 5 ด้าน สามารถสร้างผลด้านบวกและลบ ต่อระบบ

ลองมองย้อนดู ตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะเห็นว่าแม้แต่ด้านทหารก็มีบวกมีลบ ปัจจุบัน ศาลก็สร้างผลบวกลบได้เท่ากับทหาร กลุ่มพลังของประชาชนก็เช่นกัน ลองดูประวัติศาสตร์การพัฒนาการเมือง ก็จะพบว่าอำนาจการเมืองเป็นตัวกำหนดว่ารัฐธรรมนูญต้องเป็นอย่างไร เมื่อการต่อสู้ทางการเมืองถึงจุดสมดุลที่ก้าวหน้าขึ้น ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น การร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ถ้าอำนาจตกอยู่ในมือของคนเฉพาะกลุ่ม แม้แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่มี มีแต่กฎที่ผู้ปกครองสร้างขึ้นเอง

การต่อสู้เพื่อพัฒนาระบบจึงมีมาตลอด และจะยังต้องต่อสู้ไปอีกยาวนาน เป็นเหมือนโรงเรียนประชาธิปไตย



14 ปีแรกหลัง 2475

วางรากฐานสังคมใหม่ และต่อสู้กับอำนาจเก่า



24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งมีชื่อว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ประกาศใช้ครั้งแรกใน 10 ธันวาคม พ.ศ.2475

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย คือ อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านสภา อำนาจบริหาร ผ่านคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการ ผ่านศาล

แต่ปี 2476 ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ต้านประชาธิปไตย เกิดกบฏบวรเดช แต่ฝ่ายประชาธิปไตยก็ฝ่ามาได้

รัฐธรรมนูญฉบับแรกมีอายุยาวนานมากที่สุด 13 ปี กับ 5 เดือน ถูกยกเลิกเพราะมีการแก้ไขปรับปรุง เราจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกกำหนดให้ตั้งขึ้นครั้งแรกโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ประชาธิปไตย เตาะแตะ เริ่มต้นได้เพียง 14 ปี ต้องมีการวางรากฐานของอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และเร่งให้การศึกษาประชาชนทุกชั้นชน

ปรับระบบเศรษฐกิจ การเงิน ตั้งกระทรวง หน่วยงาน สร้างคน มารองรับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

นับเป็นงานที่หนักมาก ใช้เวลามาก 



ระบอบอำมาตยาธิปไตย

ครองอำนาจ 26 ปี

ช่วงเวลานั้นลัทธิทหารครองอำนาจกระจายไปทั่วโลก มีทั้ง เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ความคิดแบบเผด็จการ ก็มีขึ้นในผู้นำสายทหารบางคน 8 พฤศจิกายน 2490 มีการทำรัฐประหารของ พลโทผิน ชุณหะวัน ทำให้ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีต้องหนีออกนอกประเทศ

คณะรัฐประหารได้เชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าคณะซึ่ง จอมพล ป. ได้แสดงให้ประชาชนเห็นว่าไม่ต้องการอำนาจจึงเชิญ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นนายกฯ ชั่วคราว 

มีการนำธรรมนูญการปกครองชั่วคราวมาใช้แทนซึ่งเปิดโอกาสให้แต่งตั้งทหารและข้าราชการเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ และมีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

รัฐบาลนายควงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 29 มกราคม พ.ศ.2491 พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งแต่ได้เป็นรัฐบาลอยู่ถึงแค่วันที่ 6 เมษายน ก็ถูกทวงอำนาจคืน นายควงลาออก (รวมเวลาเป็นนายกฯ ตัวแทน หลังรัฐประหาร 5 เดือนกว่า) จอมพล ป. เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนอย่างถาวรนานเกือบ 10 ปี

บางคนเรียกว่าเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยไม่เต็มใบ

วงจรอุบาทว์คงจะเริ่ม ณ จุดนี้ รัฐประหารปี พ.ศ.2490 ล้มรัฐบาล ฉีกรัฐธรรมนูญ ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลแล้วก็รัฐประหารอีก ในที่สุด จอมพล ป. ก็ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร จอมพล ป. ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ 

การปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ 16 กันยายน พ.ศ.2500 อำนาจเป็นของฝ่ายเผด็จการอย่างแท้จริง ระบอบการปกครองเป็นอำมาตยาธิปไตยเต็มใบ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา, ยุบพรรคการเมือง, และประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ฝ่ายก้าวหน้าถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก

ธันวาคม พ.ศ.2506 จอมพลสฤษดิ์ ก็ป่วยและเสียชีวิตลง จอมพลถนอม กิตติขจร รับตำแหน่งนายกฯ ต่อ ร่างรัฐธรรมนูญต่ออย่างช้าๆ...กว่าจะประกาศใช้ ก็... 10 มิถุนายน 2511 ใช้เวลาร่าง 9 ปี กับ 4 เดือน เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 8

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรี วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและจะมาจากข้าราชการก็ได้ มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 จอมพลถนอมได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี พอถึงปี 2514 กลุ่ม ส.ส. ได้ขอแก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจวุฒิสภาลง ให้แยกข้าราชการการเมืองออกจากข้าราชการประจำ ให้ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีได้ และมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณ

แต่คนเคยชินกับอำนาจเผด็จการ ทนฟังสียงคนอื่นไม่ได้ 17 พฤศจิกายน 2514 นายกรัฐมนตรีถนอมแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการปฏิวัติตัวเอง ยุบสภาทิ้งไปเลย แล้วตั้ง "สภาบริหารคณะปฏิวัติ" ขึ้นมาแทน จากนั้นก็ใช้อำนาจเผด็จการเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ออกประกาศคณะปฏิวัติใช้แทนกฎหมายมากกว่า 400 ฉบับ เป็น 16 ปีที่ไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเลย

ใน 40 ปีแรก ชาวไทยมีโอกาสใช้และพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไม่ถึง 20 ปี นอกนั้นตกอยู่ในอำนาจอำมาตย์



14 ตุลาคม สามัคคีทุกฝ่าย ขับไล่อำมาตย์

การใช้อำนาจในระบอบอำมาตยาธิปไตย ช่วง 10 ปี หลังไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกและประเทศไทยที่เปลี่ยนไป การต่อต้านจึงเริ่มขึ้น จากกลุ่มปัญญาชน เสรีชน และฝ่ายซ้ายบางกลุ่ม การกระจายความคิดต่อต้าน จึงค่อยๆ แพร่ออกไป...

ตื่นเถิดเสรีชน

อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน 

ดาบหอกกระบอกปืน

ฤๅทนคลื่นกระแสเรา

5-14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มีการต่อต้านระบอบอำมาตย์ของกลุ่มถนอม-ประภาสโดยขบวนการนักศึกษาประชาชนจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ขึ้น

จอมพลถนอมและจอมพลประภาสไม่รู้ว่า 5 ปี หลังสถานการณ์ ได้สุกงอมแล้ว การยอมให้เลือกตั้งในปี 2512 แล้วมารัฐประหารตัวเอง ในปี 2514 เป็นการท้าทายประชาชนว่า เขาจะทำอย่างนี้ ประชาชนมีปัญหาหรือไม่ สร้างความไม่พอใจในวงกว้าง และเป็นความไม่พอใจของ ส.ส. ทุกจังหวัด

กระแสความไม่พอใจถูกกดไว้ แต่ในกลุ่มปัญญาชนกั้นไม่อยู่ ในที่สุดรอยรั่วจากกลุ่มปัญญาชนก็ขยายตัวออก แม้เป็นรอยรั่วไม่ใหญ่มากแต่เป็นรอยรั่วบนสันเขื่อนที่มีน้ำเต็ม

พอเห็นเขื่อนร้าวก็สายไปแล้ว นักการเมือง ชนชั้นสูงและนายทุนกลุ่มอื่น กลุ่มทหารอื่น ก็ทุบเขื่อนทันที กระแสความไม่พอใจ ไหลทะลักเข้าพุ่งเข้าใส่ กลุ่มอำมาตย์ แต่สามารถทำลายไปแค่ปลายยอด โครงสร้างของระบอบอำมาตยาธิปไตยยังอยู่ แต่รากฐานบนพื้นดินก็เริ่มคลอนแคลนแล้ว เพราะผืนดินไม่แน่นเหมือนเก่า

สองจอมพล ถูกกลุ่มอำนาจอื่นฉวยโอกาส ขับไล่ออกจากประเทศไทย การต่อสู้ครั้งนั้นกลุ่มชนชั้นปกครองใหม่อาศัยพลังนักศึกษาประชาชนเป็นกำลังหลัก เข้า ยึดอำนาจ และแย่งผลประโยชน์ จากผู้ปกครองเก่า 7 ตุลาคม พ.ศ.2517 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ที่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ มีการแต่งตั้ง ส.ว. ได้ 100 คน แต่ข้าราชการมาเป็น ส.ว. ไม่ได้ ตอนนั้นมีคนค้านการ แต่งตั้ง ส.ว. น้อยมาก 

มีการเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ.2518 ได้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมเป็นนายกฯ แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่เดือนเมษายน 2519 ได้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ได้เพียง 6 เดือนก็ถูกรัฐประหาร

การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มีการปราบอย่างรุนแรงทำให้นักศึกษาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งได้หนีเข้าป่า ใช้วิธีติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล ประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ต่อสู้เอาชีวิตแลกมา จบลงในเวลาไม่ถึง 3 ปี 



จากอำมาตยาธิปไตย

ทำได้แค่เป็น ประชาธิปไตยครึ่งใบ 

หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคมใหม่ๆ หลายคนยังงง ว่าการปกครองจะไปทางไหน ระบอบอำมาตยาธิปไตยจะเดินหน้าต่อ หรือจะเป็นสมบูรณาญาธิปไตย 

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร และใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ที่มีเพียง 29 มาตรา แผนแช่แข็งประเทศไทยมีตั้งแต่ครั้งนั้น กำหนดไว้นานถึง 12 ปี

แต่อยู่ได้เพียง 1 ปีก็ถูกรัฐประหาร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ ไปเป็นองคมนตรี เพื่อลดแรงกดดันจากในและนอกประเทศ มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 แต่มีวุฒิสภาแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ ถึง 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. และใช้การเลือกตั้งปี 2522 แปลงร่างให้เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ

พลเอกเกรียงศักดิ์เป็นนายกฯ ในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีเสียงสนับสนุนของ ส.ส. จากพรรคการเมืองและ ส.ว. แต่งตั้ง ไปจนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2523 ก็ถูกบีบให้ลาออกกลางสภา

จากนั้นพลเอกเปรมก็เป็นนายกฯ ต่อ โดยอาศัยนักการเมืองกลุ่มเดิม พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ อยู่หลายสมัยนานถึง 8 ปี 5 เดือนโดยไม่เคยลงเลือกตั้ง และไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยครึ่งใบไม่ได้กำหนดให้นายกฯ จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2531 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยขณะนั้น ได้รับตำแหน่งนายกฯ จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก็ถูกคณะ รสช. ทำการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 จึงสิ้นสุดลง โดยมีโอกาสใช้นานถึง 12 ปี 2 เดือน

มีผู้วิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ได้ยาวเพราะเป็นแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองเข้ามามีส่วนในอำนาจได้ง่ายโดยไม่ต้องทำการรัฐประหาร 

การดิ้นรนต่อสู้ให้พ้นจาก ระบอบอำมาตย์ ที่เริ่มนับจาก 14 ตุลาคม 2516 ได้นำประชาชนก้าวเข้าไปอยู่ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบนานถึง 19 ปี อย่าคิดว่าไม่ได้อะไรเลย เพราะถ้าสังเกตดูรัฐธรรมนูญก็จะเห็นว่าปรับเปลี่ยนไปตามสมดุลของอำนาจ

แต่ที่ผ่านมาไม่ว่ายุคไหน ส.ว. ก็ต้องมาจากการแต่งตั้ง แต่สมัยนั้น ส.ว. ก็ไม่มีอำนาจแอบแฝงไปตั้งองค์กรอิสระมาชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง 



ที่พูดมาทั้งหมด ยังมิได้กล่าวถึง ปัจจัย ข้อที่ 5 การพัฒนาการแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงขออนุญาตแนะนำให้ไปอ่านบทความ เรื่อง...กระฎุมพีสมัยใหม่ หลัง 14 ตุลาคม...ของ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งได้แจกแจงความสัมพันธ์ของทุนกับการเมือง ก่อน-หลัง 14 ตุลาคม และหลังวิกฤติ ลดค่าเงินบาท 2540 ในหนังสือเล่มใหญ่ชื่อ ... ย้ำยุค รุกสมัย...ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในงาน เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลาคม (น่าจะแจกในงานวันที่ 13 ตุลาคม)

ที่จริงการพัฒนาประชาธิปไตย แบบเต็มใบ เริ่มเดินได้ดีหลังจากพฤษภาทมิฬ 2535 แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อว่าโลกแบนมาขัดขวาง ซึ่งจะพูดถึงในตอนต่อไป ว่าจะเปลี่ยนประเทศเป็นอะไรกันแน่?

ฉบับนี้ขอจบด้วย กลอน จาก "งิ้วธรรมศาสตร์ 19" เรื่อง เปาบุ้นจิ้น ตอน สะสางคดี 6 ศพ ซึ่งจะแสดงที่หอประชุม ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ค่ำวันที่ 13 ตุลาคมนี้

แผ่นดินใด ไร้สิ้น ยุติธรรม

ความมืดดำ ย่อมงำแฝง ทุกแห่งหน

ย่อมไม่ผิด ขุมนรก หมกมืดมน

ใครยอมทน ย่อมเขลาโง่ กว่า โค ควาย

 

 

 

(ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ วันที่ 11-17 ตุลาคม 2556 )

"ขอห้องประชุมจารุพงษ์ฯ คืน" คุยกับเพจ 'จารุพงษ์ ทองสินธุ์'

“ขอห้องประชุมจารุพงษ์ฯ คืน” คุยกับเพจ ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์’

Sat, 2013-10-12 00:25

‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์’ หนึ่งในนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา 2519 วันนี้มีผู้ตั้งแฟนเพจเขาขึ้นมาเพื่อทวนความจำ ทวงห้องประชุมชื่อเดียวกับนี้ พร้อมคลิป "การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์" 

ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 37 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่เกิดการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

หนึ่งในผู้เสียชีวิตคือนักศึกษาธรรมศาสตร์รหัส 18 จากสุราษฎร์ธานี ผู้มีใบหน้ายิ้มแย้ม เจ้าของฉายา "จา สิบล้อ”ซึ่งเพื่อนๆ ตั้งให้ด้วยเหตุที่เขาไม่เคยท้อถอยในการหาเหตุผลข้อมูลมาสนับสนุนความคิดของเขา จนกระทั่งเพื่อนๆเองก็อดเห็นด้วยไม่ได้ (อ่านเรื่องราวของจารุพงษ์ เพิ่มเติมได้ที่ 15 เรื่องเพื่อทำความรู้จักกับ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" หนึ่งในผู้เข้าสอบ 6 ตุลาคม 2519)

20 ปีต่อมากลุ่มเพื่อนเขาได้ร่วมกันปรับปรุงห้องในอาคารกิจกรรมนักศึกษาห้องหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และตั้งชื่อห้องนั้นว่า "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์” ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของหมู่เด็กกิจกรรมรุ่นใหม่ ในฐานะที่พักพิงและพื้นที่ทำกิจกรรมของเหล่านักนักศึกษา แต่ล่าสุดจากการปรับปรุงอาคารดังกล่าวดูราวกับว่าห้องจารุพงษ์จะหายไปเสียแล้ว

เพจ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ที่เพิ่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาเผยแพร่ พร้อมทั้งปลุกจารุพงษ์ขึ้นมาอีกครั้งในพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยใช้รูปโปรไฟล์เป็นใบหน้าอันยิ้มแย้มของจารุพงษ์ และมีการปล่อยวิดีโอคลิปที่ชื่อว่า "การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์" ซึ่งหมายถึงบททดสอบจากเหตารณ์ 6 ตุลานั่นเอง แน่นอนว่าหนึ่งในผู้ที่สอบไม่ผ่านก็คือ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์"

วิดีโอคลิป"การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์"

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แชร์ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง (Charnvit Ks) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมข้อความในเชิงตั้งคำถามถึงห้องจารุพงษ์ฯ เช่นเดียวกับ วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แชร์ภาพรณรงค์ “อย่าลบจารุพงษ์ ออกจากธรรมศาสตร์” จากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง (Fay Suwanwattana) พร้อมกับกล่าวว่า “อย่าลบชื่อ "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์" ในตึกกิจกรรมนักศึกษา มธ. ท่าพระจันทร์ออกไป”

ประชาไทสนทนากับแอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจและผู้ทำวิดีโอคลิปดังกล่าวเพื่อสำรวจแนวคิดของการปลุกจารุพงษ์ขึ้นมา

ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์

ประชาไท : ทำไมถึงทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ขึ้นมา?

แอดมินเพจ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์" : ในปี พ.ศ. 2555 เคยได้พบกับเพื่อนของจารุพงษ์ที่ท่าพระจันทร์ เขาสอบถามว่าป้าย "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์" หน้าตึกกิจกรรมนักศึกษาหายไปไหน ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นกลุ่มที่เป็นคนร่วมกันเปิดเป็นห้องจารุพงษ์เมื่อปี 2539 หลังจากที่ได้พูดคุยกับเขา เราก็ติดตามสอบถามเรื่องนี้กับมหาวิทยาลัยมาตลอด แต่ก็ได้รับคำตอบจากทุกคนที่ไปถามว่า “ติดแน่ๆ” ต่อมาพอทราบว่าตึกกิจกรรมเปิดแล้วแต่ปรากฏว่าป้ายชื่อจารุพงษ์หายไป ก็เลยรู้สึกเสียดายที่สุดท้ายห้องหายไปดื้อๆ โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย

ในที่สุดพอได้รวมกลุ่มกันกับเพื่อนๆ ที่อยากทำเรื่องนี้ ก็เลยได้ร่วมกันทำเพจ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ขึ้น เพื่อเล่าเรื่องราวของจารุพงษ์ให้คนอื่นๆ ได้รู้ว่ามันมีคนแบบนี้อยู่ เข้าใจว่าหลายคนที่เคยเห็นคำว่า “ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์” ก็คงสงสัยเหมือนกันว่าคนคนนี้เป็นใคร เพราะเขาไม่เหมือน “เรวัต พุทธินันทน์” หรือ “ประกอบ หุตะสิงห์” เขามีห้องหลังจากเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว

วิดีโอคลิป "การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์" นั้น ต้องการจะสื่อถึงอะไร?

เริ่มมาจากการที่เรานัดประชุมกันยากมาก เพราะมหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการสอบในช่วงต้นเดือนตุลา รวมทั้งวันที่ 6 ตุลาเสมอ เราก็คิดกันว่าจะทำยังไงดี จะไปร่วมงานตอนเช้าก็ไม่ได้เพราะติดสอบ พอนัดประชุมกันไม่ค่อยได้เพราะสอบนี่ยิ่งทำให้ติดใจมากๆ ว่าทำไมนักศึกษาธรรมศาสตร์ทำอะไรเกี่ยวกับ 6 ตุลาไม่ได้ เรื่องติดสอบเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากๆ

พอสืบค้นเรื่อง 6 ตุลามากขึ้นก็พบว่า หลายคนที่รอดชีวิตมาเล่าว่ารุ่งเช้าวันนั้น (6 ตุลา) หลายคนอ่านหนังสือโต้รุ่งอยู่เพราะมีสอบเหมือนกัน เลยปิ๊งความคิดขึ้นมาว่า พวกเขาเองก็มีสอบวันนั้น แต่ใครจะไปคิดว่าพอเช้ามาหลายคนถูกทดสอบด้วยชีวิต มันก็เลยกลายมาเป็นคอนเซ็ป  "การสอบที่ยากที่สุดของเด็กธรรมศาสตร์" เพราะเราอยากให้เพื่อนที่กำลังสอบสนใจเรื่องนี้ เป็นการพยายามขยายความสนใจเหตุการณ์ 6 ตุลาออกไปด้วยวิธีการสื่อสารใหม่ๆ

คนทำทั้งวิดีโอและเฟนเพจนี้เป็นใคร?

เรามีกันหลายคนเป็นทั้งเด็กธรรมศาสตร์ที่ยังเรียนอยู่และจบไปแล้ว

ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์

ปัจจุบันมีการพยายามนำเสนอเรื่องราว 6 ตุลาแบบล้อเลียน (parody) หลายคนรู้สึกรับไม่ได้ ขณะที่บางส่วนเห็นว่ามันกระจายและสร้างความรับรู้กับเหตุการณ์มากขึ้น ทางแอดมินมองการนำเสนอในลักษณะนี้อย่างไร?

ที่จริงแล้ว ด้วยความที่ภาพจำของเหตุการณ์ 6 ตุลามันโหดร้ายรุนแรงมาก การทำออกมาในรูปแบบดังกล่าวก็เป็นการเพิ่มพื้นที่ที่มีอยู่น้อยนิดในการพูดถึง 6 ตุลา แต่เราก็ควรมองหาการเพิ่มพื้นที่ในการที่จะเล่าเรื่องราวของ 6 ตุลาในแบบอื่นด้วย สำหรับผู้สูญเสียในยุคนั้นหลายคนแม้จะเจ็บปวดแต่ก็เข้าใจดี นับว่าน่านับถือในจิตใจของพี่ๆ เขามาก

สังคมไทยผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมาตลอด แต่ไม่เคยมีการลงโทษผู้ใช้ความรุนแรงหรือชำระความจริง ปัจจุบันก็มีการพยายามเสนอเรื่องการปรองดอง แอดมินมองเรื่องนี้อย่างไร?

ถ้าคำว่าปรองดองหมายถึงการสมานฉันท์ที่นำไปสู่ความก้าวหน้าและความยุติธรรม ก็เป็นเรื่องที่รับได้ แต่ถ้าหมายถึงการลบล้างความผิดให้แก่ผู้ก่ออาชญากรรมที่ฆ่าล้างคน นั่นก็ไม่ใช่การปรองดอง

มีคนชอบบอกว่าประเทศไทยเป็นสยามเมืองยิ้ม เป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์อย่างวันที่ 6 ต.ค.19 หรือความรุนแรงอื่นๆ เช่น เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์ เมษา-พ.ค.53 ได้?

ยิ้มก็ไม่ได้แปลว่าไม่โหดร้ายนี่นา

นักศึกษาในธรรมศาสตร์รู้จักจารุพงศ์และเหตุการณ์ 6 ตุลา มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งให้ความสำคัญกับเหตุการณ์หรือบุคคลเหล่านี้หรือไม่?

ถ้ามหาวิทยาลัยพยายามเล่าเรื่องราวของ 6 ตุลาอย่างจริงจังในทุกด้านย่อมต้องมีคนสนใจและให้ความสำคัญแน่นอน ส่วนในกรณีของจารุพงษ์ ก่อนหน้าที่จะทำเรื่องราวของเขาขึ้นมา แทบไม่มีใครในยุคนี้ที่รู้จักเลย เพื่อนๆ คนแรกๆ ที่ขอให้กดไลค์มักจะถามกลับมาว่าใครเหรอ (หัวเราะ)

ตอนนี้ต้องขอบอกว่าดีใจมากที่คนจำนวนมากให้ความสนใจเรื่องของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เขาอาจจะเป็นหนึ่งในเหยื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาท่ามกลางเหยื่ออีกหลายคน แต่ยิ่งมีการพูดถึงจารุพงษ์มาก ก็ยิ่งมีคนพูดถึง 6 ตุลามาก ยังมีเรื่องของจารุพงษ์ที่เราต้องพูดถึงอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะชื่อห้องประชุมที่หายไปจากตึกกิจกรรมนักศึกษาท่าพระจันทร์ เราอยากให้ทุกๆ คนช่วยกันส่งต่อและสนับสนุนให้ชื่อจารุพงษ์ยังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์ไม่ถูกลบเลือนหายไป

“และขอเรียนไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าอย่าลบจารุพงษ์ออกจากธรรมศาสตร์ ขอห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์กลับคืนมานะคะ” – แอดมินเพจ จารุพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

เร่งปรับกฎหมายอุปถัมภ์ฯ รวม พ.ร.บ.คณะสงฆ์

 

เร่งปรับกฎหมายอุปถัมภ์ฯ รวม พ.ร.บ.คณะสงฆ์

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 15:35:09 น.

  

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและมีความเห็นว่า ควรให้นำบทบัญญัติในส่วนที่กำหนดแนวทางเกี่ยวกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและการกำหนดให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาไปบัญญัติเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จะเหมาะสมกว่าการตรากฎหมายขึ้นมาใหม่นั้น ตนได้มีการนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าวรายงานต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) แล้ว ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ให้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอมา ทั้งให้หาแนวทางว่าจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยในเร็วๆ นี้จะมีการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางดำเนินการตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอมาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาต่อไป ในส่วนของการรับรองสถานภาพของแม่ชี ที่มีการระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาด้วยนั้น ทาง มส.เห็นว่า การรับรองสถานภาพของแม่ชี สามารถออกเป็นระเบียบเพื่อมารองรับสถานภาพของแม่ชีได้ ไม่จำเป็นต้องมีการระบุไว้ในร่างกฎหมายดังกล่าว


พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการและโฆษก มส. กล่าวว่า รู้สึกงงต่อกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตีกลับร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ทั้งยังแนะนำให้ไปปรับใช้กับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ซึ่งก็ยังถือว่ามีบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ อาจกล่าวได้ว่า คนเขียนกฎหมายไม่ได้ใช้ ส่วนผู้ที่ใช้ไม่ได้เขียน ทั้งที่พระคือผู้ปฏิบัติก็น่าให้พระเป็นผู้ร่วมเขียนด้วย พระจะได้ปฏิบัติถูก แนวปฏิบัติของสังคมสงฆ์ในสมัย พ.ศ.2505 กับปัจจุบันแตกต่างกันมาก ทางคณะสงฆ์อยากให้มีกฎหมายที่ตราขึ้นให้ทันต่อสภาวการณ์ กฎหมายยุคนั้นย่อมเหมาะกับยุคนั้น แต่มายุคนี้ใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น จะทำอย่างไรให้แนวบริหารกิจการคณะสงฆ์เป็นไปอย่างทันต่อสภาวการณ์ในปัจจุบัน

ปาฐกถา ยอดเยี่ยม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตอบคำถาม สังคม

ปาฐกถา ยอดเยี่ยม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตอบคำถาม สังคม

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 14:30:45 น.

  




 

 

 


ปาฐกถา "เจตนารมณ์ 14 ตุลา คือประชาธิปไตย" ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ของ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยอดเยี่ยม

มิใช่ยอดเยี่ยมอย่างธรรมดา หากแต่ยอดเยี่ยม "อย่างยิ่ง"

ความยอดเยี่ยมมิได้อยู่ที่ได้วิเคราะห์และแยกแยะให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างกลุ่มอำนาจเดิม อำนาจเก่าแก่ กับกลุ่มทุนใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากกระแสโลกาภิวัตน์ หรือทุนนิยมโลกในยุคไร้พรมแดน

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากยังได้ชี้ให้เห็นการเติบใหญ่ ขยายตัวของ "ชนชั้นกลางใหม่"

หากที่สำคัญยิ่งกว่านั้นยังชี้ให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ "ร่วม" เฉพาะหน้าระหว่างกลุ่มทุนใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากกระแสโลกาภิวัตน์ กับ กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ในชนบทอันกว้างไพศาลของประเทศ

ทั้งหมดได้ตอบคำถามอันเกิดขึ้นตลอด 7 ปีหลังรัฐประหาร 2549 ได้อย่างคมชัด

เป็นการตอบคำถามต่อปรากฏการณ์ "เสื้อเหลือง" เป็นการตอบคำถามต่อปรากฏการณ์ "เสื้อแดง"

เหมือนกับ "ง่าย" แต่ "ไม่ง่าย"

ถามว่าเหตุปัจจัยอันใดทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องพ่ายแพ้อย่างซ้ำซาก พ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง นับแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538 เป็นต้นมา

คำตอบ 1 เพราะไม่เข้าใจสังคมไทย

ไม่เข้าใจว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้วที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก คือ การเปลี่ยนแปลงในชนบท

พรรคประชาธิปัตย์อาจยังมีเสน่ห์ในหมู่คนในเมือง

องค์ประกอบ 1 คือ ชนชั้นสูง หรือที่เรียกว่าชนชั้นบ้านมีรั้ว องค์ประกอบ 1 ก็อย่างที่ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้สรุป คือชนชั้นกลางเก่า

ชนชั้นกลางที่ค่อนไปทางชนชั้นสูง

ตรงกันข้าม องคาพยพของประชาชนที่พรรคประชาธิปัตย์ละเลยอย่างรู้เท่าไม่ทันก็คือ ชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่อยู่ในชนบท หรือที่อยู่ในเมืองก็คือคนยากคนจนระดับล่าง

ระดับล่างอย่างที่เรียกกันว่า "รากหญ้า" นั้นเอง

ยิ่งชนชั้นกลางรุ่นใหม่เติบใหญ่ขยายตัว ยิ่งทำให้โอกาสของพรรคประชาธิปัตย์เหลือน้อยลง ไม่ว่าเมื่อสู้กับพรรคชาติไทยในปี 2538 ไม่ว่าเมื่อสู้กับพรรคความหวังใหม่ในปี 2539 ไม่ว่าเมื่อสู้กับพรรคไทยรักไทยในปี 2544

ในที่สุดก็ต้องแพ้แม้กระทั่งต่อ "ยิ่งลักษณ์"

ถามว่าเหตุปัจจัยอันใดทำให้พรรคไทยรักไทยไม่ว่าจะใช้ชื่อว่าพรรคพลังประชาชนหรือพรรคเพื่อไทยจึงได้ชัยชนะอย่างต่อเนื่อง

คำตอบ 1 เพราะดำเนินการเมืองอย่างเข้าใจสังคมไทย

นโยบายของพรรคไทยรักไทยตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย จึงกำชัยเหนือทุกพรรคการเมืองตั้งแต่เมื่อปี 2544 เป็นต้นมา

แม้จะก่อตั้งพรรคได้เพียง 2 ปีเท่านั้น

คำตอบ 1 อันจำหลักอย่างหนักแน่นในความรับรู้ของประชาชนก็คือ ความสามารถในการแปรนามธรรมแห่งนโยบายกลายเป็นรูปธรรมในทางการปฏิบัติ

ความหมายก็คือ พูดแล้วทำ

เป้าหมายการเข้าหาของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ นั่นก็คือ ชนชั้นกลางรุ่นใหม่ เจตนาก็เพื่อปลดเปลื้องปัญหา ปลดเปลื้องความทุกข์ที่แบกรับอยู่ให้ค่อยๆ หมดสิ้นไป

จากปี 2544 เป็นต้นมาจึงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งโดยตลอด

แม้จะมีความพยายามโค่นล้ม ทำลาย บดขยี้ ด้วยวิธีการนอกกฎหมายนอกกติกาทั้งรัฐประหารทั้งกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ แต่พรรคการเมืองนี้ก็ยังดำรงคงอยู่ 

ยังคง "ยืนหยัด" โดย "ท้าทาย"

ปาฐกถาของ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล สามารถอธิบายความข้องใจทั้งหมดของสังคมไทย

อธิบายว่าการเติบใหญ่ของชนชั้นกลางใหม่นี้เองที่กำหนดและบงการทิศทางแห่งการพัฒนาของประเทศ

ประชาธิปไตยในมือของคนรุ่นใหม่ พลังใหม่


http://www.youtube.com/watch?v=DNFAth4hdLM 

คุก 15 ปี อดีตพระธรรมทูต รุ่น 1 ศาลอเมริกาตัดสิน ข้อหาละเมิดทางเพศ

 คุก 15 ปี

อดีตพระธรรมทูต รุ่น 1

 

ศาลอเมริกาตัดสิน ข้อหาละเมิดทางเพศ

 

ข่าวระบุ เคยหลบหนีคดีออกนอกอเมริกาไปหลายปี แต่ชะล่าใจหวนกลับมาอีก เลยโดนรวบตัว

 

 

 

 

 

พระจำนงค์ จตฺตมโล

อดีตพระธรรมทูต รุ่นที่ 1
สังกัดวัดธัมมาราม นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์

 

 

แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : องค์กรช่วยเหลือผู้ถูกรังแกทางเพศโดยพระ ประกาศหา “เหยื่อ” ของอดีตพระธรรมทูต “จำนงค์ บัวอุบล” เพิ่มเติม หลังจากถูกศาลตัดสินจำคุก 15 ปี ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้

 

เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ แอนเคอเรจ เดลีนิวส์ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2013 ว่า องค์กรช่วยเหลือผู้ถูกรังแกทางเพศโดยพระ ชื่อ The Survivors Network of those Abused by Priests (SNAP) กำลังรณรงค์หาเหยื่อของอดีตพระธรรมทูตไทย จำนงค์ บัวอุบล เพิ่มเติม โดยเน้นที่เมืองแอนเคอเรจ รัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นเมืองที่นายจำนงค์ บัวอุบล เคยใช้ชีวิตอยู่ระยะหนึ่งระหว่างหลบหนีคดีจากชิคาโก ไปทำงานเป็นคนงานล้างจานอยู่ที่ร้านอาหารในสนามบินของเมืองแอนเคอเรจ ก่อนถูกเอฟบีไอตามจับกุมตัวได้ในปลายปี 2013

 

ข่าวบอกว่าองค์กรเอ็นจีโอ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ถูกรังแกทางเพศโดยบุคคลในศาสนา ซึ่งโดยปกติจะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลและได้รับการปกป้องโดยสถาบันทางศาสนา เชื่อว่าจะต้องมีเหยื่อของอดีตพระธรรมทูตจากประเทศไทยรายนี้อยู่อีกแน่นอน

 

ทั้งนี้ อดีตพระธรรมทูตฉายาพระจำนงค์ จตฺตมโล ให้การรับสารภาพต่อศาลว่าได้ลงมือทำร้ายทางเพศกับเด็กหญิงวัย 14 ปี จนตั้งครรภ์จริงระหว่างปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดธัมมาราม นครชิคาโก เมื่อปี 1998 ซึ่งศาลได้มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 28 กันยายน ให้ลงโทษจำคุกอดีตพระธรรมทูตสายอเมริการุ่นหนึ่งคนนี้เป็นเวลา 15 ปี

โดยองค์กร SNAP ได้รณรงค์ให้ผู้ที่เคยถูกอดีตพระสงฆ์ไทยทำร้ายทางเพศ ทั้งในชิคาโก หรือเมืองแอนเคอเรจ หรือเมืองอื่นๆ รวมถึงผู้ที่มีข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายจำนงค์ บัวอุบล ให้ติดต่อสำนักงานสาขาเมืองชิคาโก ที่หมายเลข 312-455-1499 โดยบอกว่าหากข้อมูลเบาะแสที่ได้รับมีความเชื่อถือได้ ก็จะทำการยื่นฟ้องร้องนายจำนงค์ บัวอุบล เพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ นายจำนงค์ บัวอุบล หรืออดีตพระจำนงค์ จตฺตมโล นั้น มีวิทยฐานะเป็น น.ธ.เอก B.A เคยสังกัดวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่หนึ่ง เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ ณ วัดธัมมาราม เมืองชิคาโก เมื่อราวปี 1995 ขณะอายุ 45 ปี พรรษา 24

 

 

 

ข่าว : สยามทาวน์ยูเอส

14 ตุลาคม 2556