วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปิดประวัติศาสตร์ ! "ญาท่านมหาผ่อง-มหาสังฆนายกลาว" ผู้รวมคณะสงฆ์ลาวให้เป็นหนึ่งเดียว ลาวทำได้ แต่..ไทยทำไม่ได้

 

เปิดประวัติศาสตร์ !

 

"ญาท่านมหาผ่อง-มหาสังฆนายกลาว"

 

ผู้รวมคณะสงฆ์ลาวให้เป็นหนึ่งเดียว

 

 

ลาวทำได้ แต่..ไทยทำไม่ได้

 

อ่านแล้วอยากได้ญาท่านมหาผ่องมาเป็นสังฆราชไทยจัง เพราะ สังฆราชไทย น่าที่จะเป็นผู้รวบรวมนิกายสงฆ์ให้เป็นหนึ่ง กลับนำขบวนคัดค้านการรวมนิกายสงฆ์จนเละเทะมาจนปัจจุบันวันนี้ ใครอยากรู้ว่าสังฆราชที่ว่านั้นชื่ออะไรก็ไปค้นประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์เอาเองเด้อ

 

 

 

 

พระสงฆ์ สปป.ลาว ไม่มีพระมหานิกายและธรรมยุต

 

คอลัมน์ ไลฟ์สไตล์ หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์

 

 

พระมหาผ่อง สะมะเลิก เจ้าอาวาสวัดองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์ ประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ สปป.ลาว รับนิมนต์จากสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 มาประชุมที่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เพื่อฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วันที่ 3 ต.ค. 2556 ในโอกาสสำคัญนี้ พระเถระวัย 97 ปี ได้เล่าให้ประชาชนชาวไทย และสมาชิก พ.ส.ล. ทราบถึงสถานการณ์พระพุทธศาสนาในสปป.ลาวด้วย

 

ประเด็นที่พระมหาผ่อง หรือที่พุทธศาสนิกชนเรียกว่าหลวงปู่ เล่าให้ฟังนั้น เป็นเรื่องที่ชาวพุทธคอยฟังมาตลอด คือ สถานการณ์พระพุทธศาสนาใน สปป.ลาว หลังจากปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ โดยท่านเล่าว่า ตั้งแต่ สปป.ลาว ได้รับการปลดปล่อย เมื่อ ค.ศ. 1975 หรือ พ.ศ. 2518 สปป.ลาว ยังมีพระสงฆ์เหมือนเดิม แต่เป็นพระสงฆ์ลาว เถรวาท ไม่พระมหานิกาย หรือธรรมยุต เหมือนที่เคยมีในอดีต

 

ท่านเล่าว่า ทันทีที่ สปป.ลาวได้รับการปลดปล่อย ตัวท่านพระมหาผ่อง สะมะเลิก ที่เข้าเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์ลาวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 จนกระทั่งได้รับชัยชนะ เมื่อ พ.ศ. 2518 ได้รับมอบหมายจากพรรคไปรวมพระสงฆ์ที่แบ่งเป็นนิกายให้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับที่ สปป.ลาว ปกครองเพียงพรรคเดียว โดยทางพรรคกำชับมาว่าถ้าทำไม่ได้ ไม่ต้องกลับมาเวียงจันทน์

 

เป็นคำสั่งที่ท้าทายยิ่งนัก ตรงกับคติของท่านว่า ถ้าเฮ็ดเวี่ยก บ่ย่านตาย หากย่านตาย บ่ต้องเฮ็ดเวี่ยก (ถ้าทำงาน ไม่ต้องกลัวตาย ถ้ากลัวตาย ก็ไม่ต้องทำงาน)

 

 

เลิกธรรมยุตมหานิกาย

 

ก่อนที่จะเป็นอิสระนั้น ประเทศ สปป.ลาว มีพระสงฆ์ 2 นิกาย คือ มหานิกายและธรรมยุต คณะสงฆ์ทั้งสองนิกายมีความแตกแยกมากที่สุดที่นครจำปาสัก หรือแขวงจำปาสัก ประชาชนและพระสงฆ์ที่เป็นธรรมยุต จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับพระมหานิกาย แม้กระทั่งผู้ชายที่อยู่ฝ่ายมหานิกายจะแต่งงานกับหญิงสาวที่อยู่ฝ่ายธรรมยุต ฝ่ายชายต้องมาเข้าแต่ฝ่ายธรรมยุตเท่านั้น

 

ในครั้งนั้นวัดพระธรรมยุตที่แขวงจำปาสักมีรวมกันถึง 23 วัด ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากบุตรธิดาและญาติเจ้าบุญอุ้ม ผู้ครองนครจำปาสัก จึงมีอำนาจและบารมีเหนือกว่าพระในฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นนิกายเก่าและมีจำนวนมากกว่า

 

เมื่อได้รับมอบหมาย ท่านจึงเดินทางไปนครจำปาสักเพื่อประชุมเกลี้ยกล่อมให้ทั้งสองฝ่ายเปลี่ยนนิกาย พร้อมกับเกลี้ยกล่อมญาติโยมทั้งสองฝ่ายให้เห็นชอบด้วย ในการจะยกเลิกมหานิกายและธรรมยุตนั้นได้กำหนดให้มีเพียงพระสงฆ์ลาวเท่านั้น และได้ประกาศว่าใครยังถือนิกาย จะอยู่ในแผ่นดินลาวไม่ได้เด็ดขาด

 

ท่านมหาผ่องใช้เวลา 21 วัน เกลี้ยกล่อมให้พระสงฆ์ 2 นิกาย และญาติโยมให้เห็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าที่ทรงยกย่องความสามัคคีว่าสามารถนำไปสู่ความเจริญได้ (สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา) ที่ประชุมตกลงเลิกนิกายเมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือน 7 (พ.ศ. 2518) ท่านจึงจัดให้พระทั้งหมดลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ร่วมกันในวันนั้น แต่มีเสียงค้านว่าผิดธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นการทำลายพระศาสนา เพราะปาฏิโมกข์ต้องสวดวันขึ้น 15 คำ หรือแรม 1415 ค่ำ (วันพระใหญ่) ท่านบอกว่าทำได้ ไม่ใช่ทำลายพระศาสนา แต่เป็นการส่งเสริมพระศาสนา เพราะการสวดปาฏิโมกข์มีเป้าหมายเพื่อความสามัคคีของหมู่สงฆ์ แต่พระที่ไม่เห็นด้วยก็แย้งว่าไม่เคยมีแบบนี้ในอดีต ท่านจึงตอบว่า ก็เพราะในอดีตยังไม่มีความสามัคคี ใช่ไหม เรื่องจึงจบ

 

การสวดปาฏิโมกข์เพื่อความสามัคคีของสงฆ์จึงมีขึ้นท่ามกลางพระสงฆ์ที่มีเพียงพระสงฆ์ลาวเท่านั้น ท่านถือว่าเหตุการณ์วันนั้น ถือได้ว่าศาสนายึดอำนาจนิกายมาทำลายเสีย ความแตกแยกจึงหมดสิ้นไป เหลือแต่ความสามัคคีของหมู่สงฆ์

สปป.ลาว จึงมีแต่พระสงฆ์ลาว ภายใต้การปกครองขององค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ลาว ที่มีตัวท่านเป็นประธาน มาตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2554 (ค.ศ. 2011)

 

ปัจจุบัน สปป.ลาว มีพระสงฆ์ประมาณ 2 หมื่นรูป สามเณร ประมาณ 3 หมื่นรูป โดยมีวัด 4,500 วัด

 

 

พระเถระ 2 แผ่นดิน

 

สำหรับตัวตนของพระมหาผ่อง สะมะเลิกนั้น เป็นพระเถระ 2 แผ่นดิน หรือ 2 ฝั่งโขง เพราะเกิดที่ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2459 บรรพชาและอุสมบทที่วัดโพธิ์ศรี อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2479 ได้เข้ามาอยู่วัดชนะสงคราม บางลำพู โดยญาติพี่น้องได้สำทับว่า หากไม่ได้เป็นมหาเปรียญ อย่าได้กลับ จ.อุบลราชธานี ท่านจึงทุ่มเทเรียนปริยัติธรรมที่วัดชนะสงครามอย่างเต็มที่ สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค เข้ารับพระราชทานพัดเปรียญจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ใน พ.ศ. 2489 จากนั้นได้ทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรมที่วัดชนะสงครามอีก 6 ปี รวมเวลาที่เป็นนักเรียนและครูที่วัดชนะสงคราม 16 ปี หลังจากนั้นได้เข้าร่วมขบวนปลดปล่อยประเทศลาวอย่างเต็มตัว และอยู่ฝั่ง สปป.ลาวนับแต่ พ.ศ.2495 เป็นต้นมา

 

ก่อนที่จะเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ท่านได้เคลื่อนไหวร่วมกับเสรีไทยช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาเพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น ต่อมาได้เดินทางไปภาคอีสาน พบกับเจ้าเพชรราช มหาเสนาบดีลาว เมื่อ ค.ศ. 1946 หรือ พ.ศ. 2489 ในช่วงนั้นได้พบกับ โฮจิมินห์ หรือประธานโฮ เมื่อเจ้าเพชรราชไปช่วยประธานโฮที่ถูกจับใน จ.เลย หรือหนองคาย (ไม่แน่ใจ) ท่านประธานโฮ ถามว่าท่านมหาผ่องเป็นใคร เจ้าเพชรราชว่าเป็นลูกชายและเป็นที่ปรึกษาในฐานะพระครูหลวง ประธานโฮ บอกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องเป็นลูกชายโฮด้วย ซึ่งหลวงปู่มหาผ่อง บอกว่าคือเป็นบุตรบุญธรรมร่วมอุดมการณ์

 

 

 

 

 

 

ลุงโฮบวชพระ

 

ลุงโฮหรือประธานโฮจิมินห์เคยอยู่ทางอีสานของไทยเป็นเวลา 8 ปี พูดภาษาไทยได้ เคยบวชพระที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม) เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่คนรู้จักในนามลุงจิ้น ก่อนจะไปทำสงครามปลดปล่อยเวียดนามจากฝรั่งเศส ต่อสู้กับการยึดครองของอเมริกาที่เวียดนามใต้ จนได้รับชัยชนะเวียดนามกลายเป็นประเทศเดียว ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 ที่อนุสรณ์สถานหรือสุสานลุงโฮ กรุงฮานอย มีชื่อลูกบุญธรรมที่ชื่อพระมหาผ่องจารึกอยู่ด้วย

 

ท่านได้กล่าวถึงพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาที่เป็นไปได้กับการปกครองทุกระบบ แต่ไม่ได้เป็นไปในแบบร่วมหัวจมท้าย หากแต่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนระบอบการปกครอง คล้ายๆ กับนายท้ายเรือที่คอยบังคับทิศทางเรือให้แล่นไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น