วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

"สมุดภาพแห่งความทรงจำ...จารึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม" ในวาระครบรอบ 36 ปี

สมุดภาพความทรงจำ จารึกเหตุการณ์ 14 ตุลา

“สมุดภาพแห่งความทรงจำ...จารึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม”

ในวาระครบรอบ 36 ปี

กาลก่อน 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เรียบเรียงโดยสันติสุข โสภณสิริตัดฉากจากอภิวัฒน์ 2475 กำเนิดประชาธิปไตยไทย ยุคสายลมแสงแดด...สู่ยุคฉันจึงมาหาความหมาย หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์หัวหน้าคณะปฏิวัติ

เถลิงอำนาจ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 แล้วประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคมืดแห่ง ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  เพราะแม้ในยุคเผด็จการทหารจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ยังมีรัฐธรรมนูญ มีพรรคการเมือง และมีการเลือกตั้ง

แต่...ในยุคเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์ กลับมีการประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ยกเลิก ส.ส. ทั้งสองประเภท ยุบเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง มีผลให้พรรคการเมืองทั้งหมดสิ้นสภาพ พร้อมทั้งประกาศ กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนล้มเลิกกฎหมายแรงงาน ห้ามกรรมกรชุมนุมประท้วง...

นักศึกษา ปัญญาชน นักการเมืองฝ่ายค้านจึงถูกกวาดล้างจับกุมอย่างกว้างขวาง มีการปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการใช้มาตรา 17 สั่งประหารชีวิตผู้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และคดีอื่นๆ รวม 11 คน โดยไม่มีการผ่านกระบวนการยุติธรรม

กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ภายใต้บรรยากาศยุคมืดทางการเมืองก่อน พ.ศ.2510 จึงไม่มีลักษณะสร้างสรรค์ บรรยากาศเช่นนี้ นิสิต นักศึกษาจึงใช้ชีวิตอยู่บนหอคอยงาช้าง หมกมุ่นอยู่กับการเรียน กิจกรรมอันฉาบฉวย ไม่สัมพันธ์มวลชนภายนอก ไม่ตื่นตัวก้าวหน้าเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ เรียกว่า...“ยุคสายลมแสงแดด”

แต่กระนั้นในสถานการณ์นี้ ก็เริ่มมีกลุ่มนิสิต นักศึกษาบางส่วนรู้สึกเบื่อหน่าย ต้องการออกมาสู่โลกภายนอกเพื่อสร้างประโยชน์กับสังคมจึงเรียกยุคนี้ว่า...ยุค “ฉันจึงมาหาความหมาย”

กรณี จุฬาฯ เดินขบวนต่อต้านการทุจริต เปิดโปงการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้บริหารจากที่ดิน ทำให้เกิดการชุมนุม เดินขบวนของนิสิต กว่า 3,000 คน ไปยังทำเนียบรัฐบาล...นับเป็นหมุดหมายสำคัญอีกครั้งหนึ่งของการรวมพลังนิสิตนักศึกษานอกรั้วมหาวิทยาลัยในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516

เดือนพฤศจิกายน 2514 มีการรัฐประหาร คืนสู่ยุคมืดอีกครั้ง...แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญโดยตรง ต่อต้านจอมพลถนอมก็ยังเป็นกิจกรรมที่ทำไม่ได้ภายใต้กฎอัยการศึก

กลุ่มนิสิต...นักศึกษายังเป็นพลังที่สังคมไทยให้การยอมรับว่ามีความเป็นกลาง บริสุทธิ์ ปราศจากผลประโยชน์ทางการเมืองส่วนตัวขบวนการนักศึกษาจึงเป็นผู้นำการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ที่โดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น

“การรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น” ปลายปี 2515 สมัยที่ธีรยุทธ บุญมี ตัวแทนจากจุฬาฯ เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ

ไทย ส่งผ่านมาถึงการชูธงคัดค้านกฎหมายโบว์ดำ ภายใต้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของระบอบเผด็จการทหาร ออกกฎหมายโดยฝ่ายบริหารไม่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ

ตัดฉากหน้าประวัติศาสตร์รวดเร็ว มาสู่กรณีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่...พลังการเคลื่อนไหวกลุ่มนักศึกษาแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่มีเป้าหมายต่อต้านเผด็จการอย่างชัดเจนและประชาชนสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

แล้วการเดินทางของหน้าประวัติศาสตร์ก็มาถึงกรณี “13 กบฏรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นชนวนสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการนักศึกษาอาศัยช่วงจังหวะที่มีความตื่นตัวทางการเมือง รุกคืบเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรภายใน 6 เดือน...อย่างสันติวิธี

ปรากฏว่า ตำรวจสันติบาลได้จับกุมสมาชิกกลุ่มที่เรียกร้อง 11 คน ขณะรณรงค์แจกใบปลิวที่ประตูน้ำ...ในจำนวนนั้นมีธีรยุทธ บุญมี รวมอยู่ด้วย ต่อมาตำรวจจับกุมเพิ่มอีก 1 คน...แต่กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดกระแสเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา ประชาชน อันยิ่งใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นับถอยหลัง...สู่วันประวัติศาสตร์ 7 ตุลาคม 2516 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเริ่มเคลื่อนไหว ออกแถลงการณ์ พร้อมประกาศเจตนารมณ์หนักแน่นว่า “จะยืนหยัดร่วมกับประชาชนในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของปวงชนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรม”

วันเวลาผ่านไปอย่างช้าๆ เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย สันติบาลออกหมายจับอดีต ส.ส.ไขแสง สุกใส ปรากฏหลักฐานส่อว่ามีส่วนชักใยในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ...มีการประชุมลับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดโปสเตอร์โจมตีรัฐบาล งดสอบไปรวมที่ลานโพธิ์ อภิปรายโจมตีรัฐบาล เรียกประชุมคณาจารย์ กรรมการสโมสรนิสิตฯ

รวมพลังดำเนินการต่อสู้แบบอหิงสา...นั่งประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันพุธที่ 10 ตุลาคม...มีการรวมพลังกันที่ลานโพธิ์ นิสิต นักศึกษาเฉพาะในกรุงเทพฯ  ไม่น้อยกว่า 7 สถาบัน ไม่ต่ำกว่า 1,000 คนเข้าร่วมพร้อมประกาศว่า กำลังส่วนใหญ่กำลังเดินทางเข้ามา...ยิ่งค่ำก็ยิ่งเพิ่ม

ผ่านมาถึงวันที่ 11 ตุลาคม...วันที่ 3 ของการประชุมประท้วงวันที่12 ตุลาคม พลังนิสิตเริ่มหลั่งไหล มากขึ้นเป็นเรือนพัน เรือนหมื่น การเจรจาต่อรองข้อเสนอดำเนินต่อไประหว่างศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ กับรัฐบาล แต่ยังไม่มีอะไรลงตัว กระทั่งเข้าวันที่ 14 ตุลาคม...ถึงวันปฏิวัติประชาธิปไตยของประชาชน

มติมหาชนเรียกร้อง เสกสรรค์...ตัดสินใจเคลื่อนขบวนเข้าสู่พระราชวังสวนจิตรลดา เพื่อขอพระบารมีปกเกล้าฯ ฝูงชนประจันหน้าหน่วยคอมมานโด ...ตำรวจ ทหาร นั่งหยุดรอดูท่าที ขณะที่ทั้งสองฝ่ายยังโฆษณาโจมตีซึ่งกันและกัน ไม่นานนัก พ.ต.อ.วศิษฐ์ เดชกุญชร ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทมาอ่านให้ฝูงชนฟัง ณ กองบัญชาการเคลื่อนที่ของศูนย์ฯ หลังจากได้ฟัง นายเสกสรรค์ นายสมบัติได้ชี้แจงเพิ่มเติมและประกาศยุติการเรียกร้อง

ขบวนเริ่มสลายตัว...แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ที่สี่แยกดุสิตขบวนถูกสกัดกั้นโดยหน่วยคอมมานโดของตำรวจนครบาลและกองปราบ เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เหตุการณ์เริ่มตึงเครียด รุนแรง

มีการออกข่าวจากรัฐบาลว่า มีขุมกำลังอาวุธใหญ่ของกลุ่มจลาจลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่มีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์มาบินวนเวียนดูลาดเลา และไม่มีใครคาดฝันว่าจะยิงปืนกลลงมาที่ฝูงชนด้วย

นับตั้งแต่เที่ยงความรุนแรง เสียงปืน ความสูญเสีย ดำเนินต่อไปจนบ่าย

...เย็น เวลา 18.46 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตกค่ำ...นักศึกษากลุ่มหนึ่งพยายามควบคุมสถานการณ์ (ศูนย์ปวงชนชาวไทย) จำกัดพื้นที่ชุมนุมเฉพาะบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย “เราจะต่อสู้ด้วยสันติวิธี ไม่มีการใช้อาวุธใดๆ ทั้งสิ้น”

ไม่นานนัก...รัฐบาลใหม่ก็ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 22.00-05.30 น.วันที่ 15 ตุลาคม 2516 กลุ่มชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วิงวอนให้ตำรวจส่งผู้แทนมาเจรจาเพื่อหยุดยิง ส่วนผู้ก่อจลาจลก็ขยายวงกว้างออกไปทั่วกรุงเทพฯ-ธนบุรี มีการทำลายทรัพย์สิน...เป็นภาวะบ้านเมืองที่อยู่ในช่องว่างอำนาจรัฐ

นักศึกษา 2-3 คนผลัดเปลี่ยนขึ้นพูดเพื่อให้เหตุการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติอย่างสุดความสามารถ ทั้งไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้สั่งการให้ยิงตลอดเวลาเช่นนั้น เหตุการณ์ยังตึงเครียด...เวลา 19.00 น. สถานีวิทยุและโทรทัศน์ทั่วประเทศ ออกประกาศข่าวสำคัญซึ่งสามารถยุติภาวะการจลาจลได้อย่างฉับพลัน นั่นก็คือจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประพาส จารุเสถียร ลาออกจากหน้าที่ทุกอย่าง และได้เดินทางออกจากประเทศไทย

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาประชาชน...วีรภาพอันอาจหาญของวีรชน 14 ตุลา จำนวนเรือนแสนเรือนล้าน...เสียสละชีวิต เลือดเนื้อ เป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันด้วยใจบริสุทธิ์

เหตุการณ์ 14 ตุลา จึงเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ ควรค่าแก่การจารึกไว้ให้ผู้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้.

โดย: ไทยรัฐฉบับพิมพ์

14 ตุลาคม 2556, 05:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น