วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

'อำนาจ คือ ดาบสองคม'รำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ 'วันมหาวิปโยค'

'อำนาจ คือ ดาบสองคม'รำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ 'วันมหาวิปโยค'

"14 ต.ค. 2516 วันมหาวิปโยคของแผ่นดินไทย" หากนับถึงวันนี้ ก็รำลึกครบรอบ 40 ปี พอดิบพอดี  หากให้ย้อนเวลากลับไปได้จริง แน่นอนว่าคนไทยในยุคสมัยนั้น คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น หากทราบก่อน ก็คงจะช่วยกันหาทางหลีกเลี่ยงอย่างที่สุดเป็นแน่

แต่ประวัติศาสตร์ได้ก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีทางที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทำได้อย่างเดียว คือ การที่อนุชนคนรุ่นหลัง จะต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน พัฒนาการเมืองและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบนั้นขึ้นอีก

แต่การเมืองไทยที่ผ่านมาก็ทำไม่ได้ เพราะหลังจากนั้นก็เกิดวิกฤติการเมืองขึ้นมาอีก ทั้ง 6 ต.ค.19,พ.ค.ทมิฬ ปี35 เรื่อยมาจนถึงความรุนแรงทางการเมืองในปี 52-53 ทุกครั้งที่เกิดขึ้น ต้นเหตุแท้จริง เกิดจากนักการเมือง หรือผู้มีอำนาจใช้อำนาจที่ได้มาจากประชาชนไปในทางฉ้อฉล เอาประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง นำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลาฯ กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ เนื่องในโอกาส รำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 วันนี้เมื่อ 40 ปีที่แล้วว่า หัวใจสำคัญเกิดจากประชาชน นิสิตนักศึกษา มาผนึกกำลังเพื่อต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ต่ออำนาจเผด็จการ โดยไม่มีความเกรงกลัวภัยคุกคามต่างๆ ไม่ว่าจะถูกแจ้งข้อหา ทั้งเป็นกบฏ ถูกหลอกให้จับขัง ซึ่งประชาชนไม่หวั่นเกรง จึงมาชุมนุมกันถึง 5 แสนคนในครั้งนั้น

หลังจากมีการฆ่า การยิง ใช้แก๊สน้ำตาจนมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ประชาชนก็ไม่กลัว จนในที่สุดเผด็จการก็ถูกโค่นล้มไปทั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าในตอนนั้น ต้องลาออกพ้นหน้าที่

ช่วงนั้นประชาชนเกิดการตื่นตัว เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีมากมาย หลังจากนั้นก็มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการแรงงาน ตื่นตัวไม่ให้มีอำนาจผูกขาดอีกต่อไป ทำให้กลุ่มธุรกิจต่างไม่ถูกผูกขาดในกลุ่มเล็กๆ และกลุ่มอำนาจไม่ผูกขาด ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดี และควรดำรงอยู่ และหากว่าบ้านเมืองมีอำนาจกดขี่ อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ต้องใช้จิตวิญญาณ 14 ต.ค.ต่อสู้ ใช้พลังประชาชนให้ประเทศเป็นของคนไทยทุกคน

"สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น คือ ผู้ปกครองบ้านเมืองทั้งหลาย ควรตระหนักถึงอำนาจหน้าที่ที่ถูกต้องว่าทำอย่างไร และควรดูตัวอย่างสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ในที่สุดอำนาจมันไม่จีรัง ไม่ควรที่จะดึงดันว่า อำนาจจะอยู่กับตัวตลอดไป และควรที่จะทำอะไรเพื่อประเทศชาติ และประชาชน ถ้ายังคงใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึก ความเดือดร้อน ความเจ็บแค้นของประชาชนไปเรื่อยๆ ในที่สุดแล้ว ประชาชนก็ทนไม่ได้ เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการต่อสู้กัน ไม่ใช่ 14 ต.ค., 6 ต.ค.19, พ.ค.35 มีการต่อสู้บาดเจ็บล้มตาย แต่ไม่ว่า จะเป็นปี 49 ปี 51 ปี 53 ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ที่มีอำนาจจะครองอำนาจโดยที่ไม่ชอบธรรมไปเรื่อยๆ สักวันคงเจอกับบทเรียนที่แสนเจ็บปวด" นพ.วิชัย กล่าว...

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ผู้มีอำนาจต้องระวัง อย่าคิดว่าตัวเองได้อำนาจมาแล้วจากประชาชน จะทำอะไรก็ทำได้ ซึ่งความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิด และไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็น "คณาธิปไตย" มีการใช้อำนาจเงินเป็นใหญ่ ใช้อำนาจคณะปกครองเป็นใหญ่ ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องเป็นของประชาชน เพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงข้ออ้าง ไม่ใช่ทำอะไรตามอำเภอใจ เพราะไม่ใช่เสียงข้างมากอย่างเดียว แล้วจะคือประชาธิปไตยแท้จริง

ผู้ที่ต่อสู้จนเป็นจิตวิญญาณประชาธิปไตยอย่างมาก คือ อดีตประธานาธิบดี "ลินคอล์น" แห่งสหรัฐอเมริกา เจ้าของวาทะ "รัฐบาลของประชาชนเพื่อประชาชน" ท่านพูดชัดเจนว่า ประชาธิปไตย ไม่ใช่นับจมูกกัน แต่จะต้องมีความถูกต้องชอบธรรม อะไรที่ผิดก็ผิด ฉะนั้นสิ่งที่ลินคอล์นพูดชัดเจนว่า เพื่อประชาชน และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ต้องมีความถูกต้องชอบธรรม และที่สำคัญไม่ใช่แค่นับจมูกกันแค่นั้น

มาฟังความคิดเห็น นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อดีตคนเดือนตุลาฯ กันบ้าง เจ้าตัวกล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่า วันที่ 14 ต.ค. ถือเป็นเจตนารมณ์ ที่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา มีเจตนาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เจตนารมณ์ของ 14 ต.ค. ก็เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย คือหัวใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรารำลึกถึงปีนี้ ครบ 40 ปี ก็รำลึกว่า จะทำอย่างไรให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยเต็มที่มากยิ่งขึ้น

''เพราะประชาธิปไตยที่ผมมอง มองทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทำยังไงก็ให้ทุกส่วนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดชะตาชีวิตประเทศ กำหนดชะตาชีวิตระบบการเมือง เพราะฉะนั้นเราต้องส่งเสริมให้ทุกคนใช้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่

การเมืองปัจจุบัน เห็นว่ามีอะไรหลายๆ อย่างไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร ซึ่งก็ยืนยันที่จะสร้างสืบทอดเจตนารมณ์ของวีรชนคน 14 ต.ค เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น มีคนบอกว่า "สายน้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ" ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนเข้าใจจิตวิญญาณของประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ที่คนจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคม เพียงเลือกวิถีทางที่เป็นที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็ต้องยอมรับความเห็นส่วนใหญ่ในสังคม อยากเห็นคนในสังคมเดินหน้าไปทางไหนก็เดินไป

ส่วนน้อยไม่เห็นด้วย ก็พูดให้เสียงดัง ให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้ ตรวจสอบด้วยกันและเดินร่วมไปด้วยกัน แต่หากเสียงส่วนใหญ่ผิดพลาดก็ทบทวนปรับปรุงกัน สิ่งที่เกิดแตกต่างทางความคิด ถือเป็นเรื่องที่ธรรมดา ที่ไม่ทำให้ขบวนการ 14 ตุลาฯ แตกแยกไป แต่ที่ปัญหาแยกออกก็ไม่รู้ว่า จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือเปล่า เป็นสิ่งที่สังคมต้องตรวจสอบ เพราะถูกตั้งคำถามว่า ไปสนับสนุนภายใต้การปกครองก็ดี ไปสนับสนุนภายใต้สิ่งที่ตัวเองเชื่อก็ดี ทุกฝ่ายก็ต้องตรวจสอบ เคารพในความเห็นที่เขาคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล

แต่ที่ไม่เห็นด้วย คือ วิถีทางนำเสนอการเมืองนอกระบบ เข้ามามีบทบาทกำหนดชะตาชีวิตคนในประเทศ วันนี้ระบบประชาธิปไตย เรายอมรับเสียงของคน ตัดสินกันที่การเลือกตั้ง แม้จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นระบบที่ดีที่สุด ที่เราสามารถเลือกได้ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาท ถ้าหากเราเคารพระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่

เขาต้องทนรอคอยจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ของเขาไปให้ครบวาระ ตามที่รัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยที่เขากำหนดไว้ ถ้าหากไม่เห็นด้วยก็มีเวทีในการแสดงออกความคิดเห็น ไม่ใช่กดดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย

"ถ้าเลือกวิถีทางนอกระบบ ผลที่จะเกิดขึ้นจะทำให้ประเทศเสียหาย เสียโอกาสที่ประเทศจะขยับขับเคลื่อน ถ้ารักประชาธิปไตยจริง ต้องรอคอยและอดทนให้ระบบประชาธิปไตยได้พัฒนา ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่าง เขามีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเต็มที่ เมื่อถึงครบวาระ 4 ปี ข้างหน้า เขาก็จะสามารถเสนอความเห็นให้ประชาชนได้เลือกและตัดสินใจ"

"ผมไม่เชื่อระบบที่ให้คนดีมาเป็นคนสรุป ตัดสินแทนประชาชน ไม่เชื่ออำนาจนอกระบบตัดสินแทนประชาชนส่วนใหญ่ ผมไม่เชื่อคนดีเพียง 5-6 คน หรือ คน 7-8 คน มาคัดสรรบุคคลมาทำหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย ผมเชื่อคนส่วนใหญ่ในระบบมันตรวจสอบตัวมันเองอยู่แล้ว ผมไม่เชื่อที่ว่า ประชาชนไม่ฉลาด หรือฉลาดไม่เพียงพอ แล้วเอาอำนาจมาตัดสินแทนเขา ผมไม่เห็นด้วย เพราะประชาชนเรียนรู้สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตเขา เหตุผลของแต่ละคนที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดไม่เหมือนกัน" นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ประชาชน คือ คนส่วนใหญ่ที่จะอยู่กับระบบนี้ จะดี-ชั่ว ระบบจะพัฒนาตัวมันเอง ไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะเลือกคนดี คนไม่ดี ใครมีอำนาจแบบนี้ในการตัดสินใจมากๆ ซึ่งอำนาจก็นำไปสู่การคอร์รัปชัน เอาอารมณ์มาเป็นตัววัดความดีความชอบไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในสังคม

"อย่างกรณีเงินกู้ 2 ล้านล้าน เป็นระบบที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า แต่ถ้าคุณกังวลใจว่า จะถูกเอาไปคอร์รัปชั่นไหม อันนี้รับฟังได้ ก็เสนอระบบตรวจสอบมา ให้ประชาชนมาตรวจสอบมากขึ้น ให้สื่อมวลชนเข้ามาควบคุมดูแล เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่ว่านำมาเป็นข้ออ้างล้มระบบที่พัฒนาไปข้างหน้า เพียงหวังว่าจะได้เสียงเยอะ อันนี้ไม่เห็นด้วย

" เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะคนเดือนตุลา กล่าว 

ความเป็นมาเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 "วันมหาวิปโยค"


เป็นเหตุการณ์ที่นิสิต นักศึกษาและประชาชน มากกว่า 5 แสนคน รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จากรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร โดยในเหตุการณ์นี้ มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก

สาเหตุเริ่มมาจาก จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหารตัวเอง เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 โดยนักศึกษาและประชาชนมองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจตนเอง จากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้น จอมพลถนอมจะต้องเกษียณอายุราชการเนื่องจากอายุครบ 60 ปี แต่กลับต่ออายุราชการตนเอง ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกไป อีกทั้งจอมพลประภาส จารุเสถียร ก็จะได้รับยศจอมพล และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ประกอบกับข่าวเรื่องทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

ต่อมา 29 เมษายน พ.ศ.2516 เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกกลางทุ่งนา ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้น พบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิง ที่ทางผู้ที่ใช้ล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน สร้างกระแสไม่พอใจในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก

หลังจากนั้นปลายเดือนพฤษภาคม และต้นเดือนมิถุนายน นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ 4 มหาวิทยาลัย ได้ออกหนังสือชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" เปิดโปงเกี่ยวกับกรณีนี้ ผลการตอบรับออกมาดีมาก จนขายหมดในเพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง และได้รับการขยายผลโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในชมรมคนรุ่นใหม่ออกหนังสือชื่อ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" ที่มีเนื้อหาตอนท้าย เสียดสีนายกรัฐมนตรี เป็นผลให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี สั่งลบชื่อนักศึกษาแกนนำ 9 คน ซึ่งเป็นผู้จัดทำหนังสือออกจากสถานะนักศึกษา ซึ่งทำให้เกิดการประท้วง จนนำไปสู่การชุมนุมในวันที่ 21-27 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท้ายสุด ดร.ศักดิ์ ต้องยอมคืนสถานะนักศึกษาทั้ง 9 คน และดร.ศักดิ์ ก็ได้ลาออกไปเพื่อแสดงความรับผิดชอบ


จนมาถึงวันที่ 6 ตุลาคม มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ หลายวงการ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น จากนั้น บุคคลเหล่านี้ราว 20 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น ประตูน้ำ, สยามสแควร์, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ที่ส่งถึงรัฐบาล ถึงสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ แต่ทางตำรวจนครบาลจับได้เพียง 11 คน และจับขังทั้ง 11 คนนี้ไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน และนำไปขังต่อที่เรือนจำกลางบางเขน พร้อมตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยห้ามเยี่ยม ห้ามประกันเด็ดขาด

จากนั้นจึงได้มีการประกาศจับ นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และตามจับ นายไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม (ส.ส.นครพนม) ขึ้นอีก รวมทั้งหมดเป็น 13 คน โดยกล่าวหาว่า นายไขแสงเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง การแจกใบปลิวครั้งนี้ ซึ่งบุคคลทั้ง 13 นี้ ได้ถูกเรียกขานว่า เป็น "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษา และประชาชนอย่างมาก จนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งยื่นคำขาดให้ทางรัฐบาลปล่อยตัวทั้งหมดนี้ก่อนเที่ยงวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม แต่เมื่อถึงเวลาแล้วรัฐบาลก็ไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง

การเดินขบวนครั้งใหญ่จึงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีแกนนำเป็นนิสิต นักศึกษาและมีประชาชนเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก (คาดการณ์ว่า มีราว 500,000 คน) แกนนำนักศึกษาได้เข้าพบเจรจากับรัฐบาล จนได้ข้อยุติเพียงพอที่จะสลายตัว แต่ทว่าด้วยอุปสรรคทางการสื่อสารและมวลชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ก็นำไปสู่การนองเลือดจนได้ โดยในวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม เมื่อเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน ลุกลามไปยังสนามหลวง, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถนนราชดำเนิน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งบินวนอยู่เหนือเหตุการณ์ และมีการยิงปืนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ลำนั้น เพื่อสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ต่อมาในเวลาหัวค่ำ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศว่า จอมพลถนอมได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ทว่าเหตุการณ์ยังไม่สงบ กลุ่มทหารได้เปิดฉากยิงเข้าใส่นักศึกษาและประชาชนอีกครั้ง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องจากผู้ชุมนุมนับพันยังไม่วางใจในสถานการณ์ ได้มีการประกาศท้าทายกฎอัยการศึก ประกาศว่าจะอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทั้งคืน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ถูกหลอกอีก จนเวลาหัวค่ำของวันที่ 15 ตุลาคม จึงได้มีประกาศว่า จอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ ได้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงสงบลง.

โดย: ไทยรัฐออนไลน์

14 ตุลาคม 2556, 05:30 น. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น