วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รื้อ ภาษีบำรุงท้องที่ ทางออก...ทางตัน "คลัง-มหาดไทย"

รื้อ ภาษีบำรุงท้องที่ ทางออก...ทางตัน "คลัง-มหาดไทย"

Prev
1 of 1
Next

คลิกภาพเพื่อขยาย

updated: 03 ต.ค. 2556 เวลา 10:30:24 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์







เหมือนมีอาถรรพ์ เพราะร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ที่รัฐบาลหลายยุคสมัยพยายามผลักดันประกาศใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ที่บังคับใช้มานาน ทั้งล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหลายครั้งหลายครา แต่ไม่สำเร็จสักที

ถึงยุครัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค้างการพิจารณาอยู่ในสภามาจากรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

แม้ ครม. "ยิ่งลักษณ์" จะปรับรื้อระเบียบกฎหมายรื้อโครงสร้างอัตราภาษีหลายประเภท แต่กับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับประกาศชัดเจนว่า ไม่มีนโยบายจะผลักดันข่าวคราวที่มีออกมาบ่อยครั้งว่า กระทรวงการคลังจะปัดฝุ่นชงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา จึงจบลงแบบหายไปกับสายลมทุกครั้ง



ครม.สั่งรื้อโครงสร้างภาษี

แต่มีเซอร์ไพรส์ เมื่อพยายามผลักดันแก้ไขบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ ภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ โดย ครม.มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 มอบหมายให้กระทรวงการคลังกับกระทรวงมหาดไทย ศึกษาหาแนวทางจัดทำราคาปานกลางที่ดินขึ้นใหม่ แทนการใช้ราคาปานกลางที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้ในการประเมินเสียภาษีบำรุงท้องที่ ประจำปี 2521-2524 หรือเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ซึ่งอัตราจัดเก็บต่ำสุดอยู่ที่ไร่ละ 50 สตางค์ สูงสุดไร่ละ 70 บาทเท่านั้น เช่นเดียวกันราคาที่ดินในปัจจุบันเทียบกับราคาช่วงปี 2551-2554 "อย่างที่ดินบางพื้นที่ใน อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อ 30 ปีก่อนราคาไร่ละ 3,000 บาท ปัจจุบันขยับสูงถึง 300,000 บาท ตามการเติบโตของเมือง แต่การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ยังอยู่ในอัตราเท่าเดิม" แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยชี้ให้เห็นถึงปัญหา

ทางเลือก �คลัง-มหาดไทย�

หลังมีการหารือร่วมกันหลายครั้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตัวแทนกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมการปกครองท้องถิ่น กรมที่ดิน ฯลฯ ได้ข้อสรุปว่า แนวทางการจัดทำบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ หรือราคาปานกลางของที่ดินใหม่น่าจะดำเนินการโดย

1.การยกเลิก พ.ร.บ.กำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2529 ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายคือ "ให้นำราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้อยู่ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2524 ซึ่งใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. 2529 มาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ สำหรับปี พ.ศ. 2530 และปีต่อ ๆ ไปตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนด..."

2.ไม่เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้นำราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้อยู่ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2551-2554 มาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ปี 2557 

3.ให้คลังเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

กฤษฎีกาชี้ช่องปมกฎหมาย

ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายดังกล่าวได้ทำหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงแนวทางในการดำเนินการตาม3ทางเลือกข้างต้นได้ข้อสรุปว่า การดำเนินการตามทางเลือกที่ 1 หรือ 2 ซึ่งเป็นไปได้กว่าทางเลือกที่ 3 และสามารถดำเนินการได้สะดวกรวดเร็วกว่า สามารถทำได้ดังนี้

1.หากจะจัดทำราคาปานกลางที่ดินใหม่เพื่อใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี2557แทนการใช้ราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้อยู่ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2521-2524 ต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 โดยไม่ต้องตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 3 (9) แห่ง พ.ร.บ.กำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2529 รวมทั้งไม่ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 ในการจัดทำราคาปานกลางที่ดินใหม่

2.ไม่จำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 3 (12) แห่ง พ.ร.ก.ราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2529 รวมทั้งไม่ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 (13) แห่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 

เท่ากับเปิดโอกาสให้สามารถจัดทำบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ใหม่ประกาศบังคับใช้แทนอัตราภาษีบำรุงท้องที่โดยนำการประเมินภาษีโดยนำราคาปานกลางของที่ดินปี 2521-2524 มาใช้เหมือนที่เคยปฏิบัติตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา

วัดใจรัฐปรับภาษีบำรุงท้องที่

ทั้งนี้ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเสนอเรื่องทั้งหมดให้ ครม.พิจารณาชี้ขาด 2 ทางเลือก คือ 

1.จัดทำบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ใหม่ โดยใช้ราคาปานกลางที่ดินใหม่ และ 

2.ใช้บัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่เดิม โดยใช้ราคาปานกลางที่ดินปี 2521-2524 ตามเดิม

หากเลือกแนวทางที่ 1 จะต้องใช้เวลาสำรวจและจัดทำราคาปานกลางที่ดินใหม่ทั้งระบบ ก่อนกำหนดอัตราภาษี คงไม่สามารถดำเนินการได้ทันปีภาษี 2557 ตามที่ ครม.เคยมอบนโยบายไว้ โดยการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2557 จะใช้บัญชีอัตราภาษีที่ใช้ราคาปานกลางที่ดินปี 2521-2524 ต่อไป จนกว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จเรียบร้อย

ข้อดีสำหรับทางเลือกที่ 1 คือ เมื่อจัดทำราคาปานกลางที่ดินใหม่เป็นราคาปัจจุบัน สอดคล้องและใกล้เคียงกับราคาตลาด จะทำให้หน่วยงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้สำรวจและจัดเก็บภาษีบำรุง
ท้องที่มีรายได้มากขึ้น สามารถนำรายได้ไปพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณูปการเพื่อประโยชน์แก่ท้องถิ่นได้มากขึ้น ขณะที่ข้อเสียคือ เจ้าของที่ดินมีภาระต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น (เฉพาะที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง) และจากที่ไม่เคยมีการปรับราคาปานกลางที่ดินมานาน การจัดเก็บภาษีอาจขยับสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งอาจผ่อนภาระด้วยการปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได

ขณะที่ทางเลือกที่ 2 ใช้บัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ (ตัวอย่างอัตราจัดเก็บภาษีจริงบางส่วนในตาราง) ท้องถิ่นมีรายได้เท่าเดิม เนื่องจากอัตราเดิมกำหนดให้ที่ดินราคาไม่เกินไร่ละ 200 บาท เสียภาษี 50 สตางค์ เกินไร่ละ 200 ไม่ถึง 400 บาท เสียภาษี 1 บาท 500 บาท ไม่ถึง 600 บาท เสียภาษี 2 บาท จนถึงราคาปานกลางที่ดินเกินไร่ละ 30,000 บาท เสียภาษีเพียงแค่ 70 บาทต่อไร่ ฯลฯ 

จะเลือกแนวทางใด จะให้ท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีบำรุงท้องที่คงเดิม หรือเพิ่มขึ้น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ครม.จะเป็นผู้ชี้ขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น