วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

"นันทวัฒน์ บรมานันท์" วิพากษ์อำนาจ 3 ฝ่าย ชี้"องค์กรอิสระ"เครื่องมือคว่ำ รบ.

 

"นันทวัฒน์ บรมานันท์" วิพากษ์อำนาจ 3 ฝ่าย ชี้"องค์กรอิสระ"เครื่องมือคว่ำ รบ.

วันที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 13:25:14 น.

  

สัมภาษณ์โดย ปิยะ สารสุวรรณ




หมายเหตุ - นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ในฐานะศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิพากษ์ปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างอำนาจ 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยมีอำนาจที่สี่ คือ องค์กรอิสระ เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญตัดสินอนาคตรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในช่วงข่าวลือหนาหูว่ารัฐบาลอาจจะชิงปรับคณะรัฐมนตรีและยุบสภา

 



- อำนาจ3ฝ่ายปัจจุบันเป็นอย่างไร

ปกติอำนาจนิติบัญญัติ คือ การผลิตกฎหมาย อำนาจบริหาร คือ การนำกฎหมายไปใช้ อำนาจตุลาการ คือ พิจารณาว่าใครกระทำผิดกฎหมาย แต่เหตุการณ์บ้านเราในวันนี้ การจะนำหลักการแบ่งแยกอำนาจมาใช้ในขณะนี้มันลำบาก เพราะว่าความรู้สึกมันไปอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่า ซึ่งการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปตรวจสอบ อาทิ เรื่องงบประมาณ หรือ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าฝ่ายหนึ่งมีอำนาจ อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าศาลไม่มีอำนาจ 

ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจเฉพาะ หมายความว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีศาลและแต่ละศาลก็มีเขตอำนาจของตัวเอง อะไรก็ตามที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าศาลมีเขตอำนาจ ศาลก็จะไม่มี

ถ้าพลิกไปดูหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่มีบัญญัติไว้แม้แต่คำเดียวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบตรงจุดใดได้บ้าง และถ้าไปดูหมวดว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีการพูดว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถควบคุมร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่าถ้าศาลไม่ตรวจสอบแล้วใครจะตรวจสอบ เพราะฉะนั้นศาลสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เป็นการพูดแบบไม่มีเหตุผล เพราะว่าถ้าเป็นนักกฎหมายต้องทราบว่าศาลมีเขตอำนาจเฉพาะ เกินกว่านั้นไม่ได้ 

ฝ่ายนิติบัญญัติในสถานการณ์ในตอนนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ คนและงาน คน มีการเอากระบวนการนอกสภา คือ ตุลาการมาเยื้อยุด ฉุดกระชาก การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ในสภาเอง ส.ส.ก็สนุกกับการเล่นกับการนำข้อบังคับมาใช้เล่น จนทำให้การประชุมสภาน่าเบื่อ น่ารำคาญ และไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นถ้าจะดูที่ตัวบุคคลที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะที่เป็นประชาชน ผมคิดว่าเป็นการเล่นเกมกันมากเกินไป

ส่วนงาน คือ การร่างกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องทำในลักษณะนี้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ศาลบอกว่าให้ฝ่ายนิติบัญญัติไปชี้แจง ฝ่ายนิติบัญญัติก็ไปชี้แจง ทั้งที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่จำเป็นต้องชี้แจง เพราะฝ่ายนิติบัญญัติ

ไม่แข็งพอ แล้วก็ไม่เข้าใจว่าตัวเองมีอำนาจอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นการที่ฝ่ายนิติบัญญัติไปยอมรับอำนาจในการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการถือว่าเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป และไม่รู้อำนาจหน้าที่ของตัวเอง ความจริงแล้วต้องเดินหน้าต่อ เพราะว่าในตอนนั้นคุณต้องโหวตวาระ 3 แต่วันนี้พอไม่โหวตวาระ 3 ถือว่าไม่เข้าใจอำนาจหน้าที่ของตัวเอง และไปเชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ ไปเดินตามในสิ่งที่ไม่ควรไปเดินตาม

ขณะที่ฝ่ายบริหารตอนนี้ก็ไม่แข็งมากพอ ฝ่ายบริหารเวลาอยู่ในสภาก็ถูกฝ่ายค้านตีรวนตลอด อยู่นอกสภาก็ถูกตรวจสอบเกือบจะทุกโครงการทั้งในศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง แต่คราวนี้ดีขึ้นมาหน่อยเมื่อนายกรัฐมนตรียืนยันที่จะเดินหน้านำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ

- การเดินหน้าโดยไม่ฟังคำวินิจฉัยของศาลถือว่าเหมาะสมหรือไม่

ถ้าศาลไม่มีอำนาจ ทำไมจึงต้องฟัง เพราะไม่มีผล

 



- แต่คำวินิจฉัยของศาลผูกพันทุกองค์กร

คนไม่มีอำนาจจะไปเที่ยวสั่งการคนอื่นได้อย่างไร มันก็เหมือนกับศาลไม่มีอำนาจแล้วฝ่ายนิติบัญญัติจะไปฟังทำไม

 



- ฝ่ายนิติบัญญัติพลาดมาตั้งแต่ยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (วาระ 3) 

ใช่ เพราะว่าถอย ไม่สู้ จึงเป็นผลพวง เพราะไปยอมเขาเอง เพราะฉะนั้นเมื่อไปยอมเขาเอง ก็ต้องยอมให้เขาข่มเหง เพราะวันหนึ่งเมื่อไปยอมรับอำนาจ เขาก็คิดว่าเขาทำได้ ถึงแม้ว่าไม่มีอำนาจ ก็ทำต่อไปเรื่อยๆ ถ้ายอมต่อไปเรื่อยๆ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า คือ สิ่งนี้สามารถทำได้ 

อีกไม่กี่วันรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วันนี้มาตรา 68 ถูกจัดระดับว่าเป็นสิทธิของประชาชนไปแล้ว ที่จะสามารถฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นวันนี้เรื่องมันไปไกลมาก เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จะถูกยกเป็นประเด็นว่าไปลิดรอนสิทธิประชาชน ทั้งที่ไม่ถูกต้อง แต่ขณะนี้ทุกฝ่ายทำให้เป็นเรื่องนี้ไปแล้ว ดังนั้นเรื่องมาตรา 68 น่ากลัวถ้าจะอ้างกันแบบนี้

- ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะไม่ยอมรับได้หรือไม่

ก็ต้องไม่ยอมรับ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถเอาคนที่ไม่ทำตามไปเข้าคุกได้ อย่างมากก็ถอดถอน แต่ทำเรื่องเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าศาลใช้อำนาจที่ตัวเองไม่มี ถือว่าไม่มีตัวตน ไม่มีผล คำสั่งหรือการวินิจฉัยที่ตัวเองไม่มีอำนาจจะไปยอมรับได้อย่างไร



- ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว

ก็ไปพลาดเอง ถ้าเป็นภาษาเด็กๆ ก็ต้องเรียกว่าสมน้ำหน้า เพราะว่าก่อนหน้านี้นักวิชาการหลายคนให้ความเห็นไปแล้วว่าไม่ต้องไปยอมรับ ให้โหวตวาระ 3 ไปเลย ถ้ากลัวก็โหวตให้ตกแล้วเริ่มต้นใหม่ แต่ถ้าไม่กลัวก็โหวตให้ผ่านและเดินหน้าเลย 


- ตอนนี้ถ้าจะโหวตวาระ 3 เลยได้หรือไม่

ได้ โหวตเลย เพราะไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรเลย 

- แน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีปัญหา

วันนี้มันมีปัญหาทุกอย่าง รัฐบาลทำอะไรก็มีปัญหา เพราะฝ่ายที่ต้องการล้มรัฐบาลไม่เหลือกลไกอะไรที่จะใช้ล้มรัฐบาลแล้ว ในสภาเป็นเสียงข้างน้อย ตีรวนอย่างไรก็ล้มไม่ได้  บนถนนก็จุดไม่ติด ออกมาเสี้ยมให้ทหารปฏิวัติก็จุดไม่ติด เพราะฉะนั้นก็เหลือกลไกเดียว คือ องค์กรเหล่านี้มาช่วย ดังนั้น ทุกเรื่องไปหมดจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป แต่หากศาลไม่เล่นด้วยก็จบ แต่ว่าศาลกลับมาเล่นด้วย ทุกเรื่องมันก็เลยไม่จบ

 

 



- ท่าทีของฝ่ายนิติบัญญัติที่ถูกมองว่าจะไม่ยอมอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การโหวตร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.วาระ 3 ที่ผ่านมา

ไม่เป็นไร เพราะเมื่อศาลไม่มีอำนาจก็ไม่ต้องฟังเท่านั้นเอง ซึ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จะเถียงกันไม่รู้จบ 

 

 


- ท่าทีรัฐบาลต่อการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้

การที่รัฐบาลยอมระงับการทูลเกล้าฯ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2557 เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินก็ตาม ส่วนที่รัฐบาลไม่ยอมระงับการทูลเกล้าฯร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ก็ถือว่าถูกต้อง เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้ไม่ขัดกับอะไรก็ไม่รู้ได้ ถือว่ารัฐบาลแฟร์พอสมควร

 



- มององค์กรอิสระที่มีการพูดว่าเป็นอำนาจที่สี่อย่างไร 

ไม่เชิงเป็นอำนาจที่สี่ เพราะการออกแบบองค์กรอิสระเพื่อให้มาตรวจสอบ ถ่วงดุลระบบการเมือง แต่วันนี้องค์กรอิสระจะเห็นได้ว่าวิธีการได้คนมาอยู่ในองค์กรอิสระมันผิด เพราะองค์กรอิสระทุกองค์กรมาจากระบบศาลยุติธรรมทั้งสิ้น แต่ที่ถูกต้องอย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญคนที่จะมาอยู่ศาลได้ต้องเรียนรัฐธรรมนูญมาอย่างต่ำต้องจบปริญญาเอก และมีความเชี่ยวชาญในด้านรัฐธรรมนูญ เขียนหนังสือมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ สรุปคือต้องมีความรู้ในด้านนั้นๆ และต้องไม่มีแนวคิดทางการเมืองข้างใดข้างหนึ่ง ดังนั้นจึงมีปัญหาเรื่องการเลือกคนที่ความต้องการตัวเองเป็นหลักโดยไม่นึกถึงคุณสมบัติและเป็นปัญหาทุกองค์กรในองค์กรอิสระ

 



- การแก้กฎหมายต่างๆ ของฝ่ายนิติบัญญัติและการผลักดันโครงการตามนโยบายของรัฐบาลมีจุดใดที่ทำให้เพลี่ยงพล้ำ 

ขอไม่ตอบ เพราะพูดไปแล้วว่าวิธีเดียวที่จะสามารถคว่ำรัฐบาลได้ คือ องค์กรอิสระ ก็ต้องไประวังตรงจุดนี้ต่อว่าเขาจะใช้กฎหมายฉบับไหน โดยจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

 



- สรุปเป็นที่ตัวบุคคลหรือรัฐธรรมนูญที่บกพร่องจนประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้

ทั้งสองส่วน แต่ตัวบุคคลเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นคนนำรัฐธรรมนูญมาใช้ โดยเลือกที่เป็นประโยชน์กับตัวเองมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะปกติการใช้รัฐธรรมนูญก็เพื่อสร้างทางออกให้กับประเทศ แต่ขณะนี้เรานำรัฐธรรมนูญมาสร้างทางตัน เพราะฉะนั้นการนำรัฐธรรมนูญมาใช้มันจึงบกพร่อง 

หน้า 11 มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2556 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น