วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

4 ปีเมษา-พฤษภาเลือด: สรุปภาพรวมคำสั่งไต่สวนการตาย กระสุนมาจากไหน

 

วันพฤหัสบดี, เมษายน 10, 2557

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : กรณีถวิล เปลี่ยนศรี ศาลรัฐธรรมนูญ กำลังสร้างปรากฏการณ์ และบรรทัดฐานใหม่ในการบริหารราชการของไทย


ที่มา FB ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว. สรรหาและคณะยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของดิฉัน กรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในครั้งนี้ ดิฉันได้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ และบรรทัดฐานใหม่ในการบริหารราชการของไทย เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรอิสระ รับคดีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลมาพิจารณา ทั้งๆ คดีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแก่นายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถานะของดิฉันในขณะนี้นั้น ดิฉันได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 (2) แล้ว สืบเนื่องจากการยุบสภา และได้คืนอำนาจการตัดสินใจในทางการเมืองตามวิถีทางในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในปัจจุบันดิฉันปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้องดังกล่าว มาวินิจฉัยให้เกิดความซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเสียเอง แล้ว คำวินิจฉัยที่ขาดหลักการความเป็นสากลในเรื่อง “หลักนิติธรรม” อาจจะกลายเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในทางการเมืองอีกด้วย

ตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจนั้น อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการจะต้องมีความสมดุลกัน และในปัจจุบันมีหน่วยงานและสถาบันที่ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่แล้ว และหากทุกฝ่ายทำหน้าที่โดยยึดหลักการดังกล่าว ก็จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างราบรื่น และท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งเช่นปัจจุบัน สถาบันที่มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญควรต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารโดยยึดหลักการ และหน้าที่ตามขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยไม่ก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ และที่สำคัญจะต้องไม่สร้างความแตกแยกให้กับสังคมด้วยการดำเนินการใดๆ ในลักษณะสองมาตรฐาน ขอให้ทุกฝ่ายทำงานโดยยึดหลักการที่ถูกต้อง เป็นธรรม และเป็นสากล เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีหลักยึด และให้ประเทศไทยสามารถตอบคำถามของสังคมโลกได้อย่างภาคภูมิค่ะ

Unofficial Translation

As the Constitutional Court has unanimously resolved to consider the case made against me, as filed by Senator Paiboon Nittitawan , regarding the transfer order of Mr.Thawil Pliensri, National Security Council Secretary General, I wish to make the observation that this can be called a significant turning point in the Thai civil service due to the fact that it is the first time that the Constitutional Court (an independent agency) has accepted to rule on a case regarding civil service personnel, even though the Supreme Administrative Court has already ruled on this case and had consequently issued the order to return Mr.Pliensri to his original position of National Security Council Secretary-General.

Nevertheless, in consideration of my position as care-taker Prime Minister, in accordance with Article 180(2) of the Constitution of Thailand as applicable since the dissolution of the House of Representatives where the power was given back to the people in accordance to the democratic process under the constitutional monarchy. I am now performing my duties in strict accordance with Article 181 of the Constitution. Therefore, there is no ground for the Constitutional Court to further accept to consider this case. In doing so, this will run contrary from what is stipulated in the Constitution and will further contradict with the international principle of the maintenance of the rule of law, thereby leaving room for the interpretation that such an initiative may be a mechanism that is being used by certain political groups for their own advantage.

According to the principle of checks and balances based on the separation of powers, the legislative, executive and judicial branches of government should have equal power, and there are currently agencies and institutions that already perform their duties. In this case, it is essential that all sides perform their duties in accordance with this principle especially in this current atmosphere of lingering political tensions, while all relevant institutions in particular the independent agencies should scrutinize the work of the executive branch based on this principle and in accordance with the parameters stipulated in the Constitution without infringing on the authority and duties of the legislative, executive, and judicial branches. Importantly, such actions taken by the independent agencies should not be a source of further division and conflict in society, particularly those actions which may be deemed as a double standard.


I therefore urge all sides to perform their duties with integrity and to do what is correct, just, and in accordance with international standards and principles so that future generations can depend on this important foundation and so that Thailand can confidently remain as a constructive member of international society.

Exclusiveสัมภาษณ์ชายชุดดำ:ปฏิบัติการ10เมษา53


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
เผยแพร่ครั้งแรก 14 พฤศจิกายน 2556

หมายเหตุไทยอีนิวส์:เราได้สัมภาษณ์ผู้อ้างตัวเป็น"ชายชุดดำ" โดยอ้างว่าเขาเป็นหัวหน้าทีมชายชุดดำที่ปฏิบัติการยิงใส่เจ้าหน้าที่ทหาร เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นเหตุให้พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม และทหารหลายรายเสียชีวิต  เพื่อเปิดเผยความจริงทั้งหมด 

ชายผู้นี้อายุราว 30 ปี มีส่วนสูงกว่ามาตรฐานชายไทยโดยทั่วไป ผิวขาว หน้าตาจัดได้ว่าอยู่ในเกฎฑ์ดี เขาใส่เสื้อดำแขนยาว และกางเกงยีนส์ในวันที่ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยอีนิวส์ แต่ไม่มีอาวุธประจำกายใดๆ บุคลิกของเขาดูพาซื่อมากกว่าจะคิดว่า กำลังสัมภาษณ์กับใครซักคนที่มีประวัติน่าครั่นคร้าม...โดยหลักปฏิบัติที่เข้มงวดต่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว เราไม่อาจระบุพิกัดแหล่งพักพิง หรือสถานที่สัมภาษณ์ รวมทั้งภาพถ่ายหลักฐานใดๆได้

บทสัมภาษณ์นี้จัดทำขึ้นเพื่อสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีชายชุดดำและเหตุการณ์10เมษายน2553 เพื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเมืองไทย..อย่างไรก็ตามหากสังคมไม่ต้องการแสวงหาความจริง นี่ก็อาจจะเป็น1ในเรื่อง inconvenience truth ของสังคมไทย ที่แต่ละฝ่ายก็อยากให้มันเป็นความลับแบบขมุกขมัวต่อไป ตราบที่แต่ละฝ่ายยังได้ประโยชน์จากความคลุมเครือ..ส่วนชายผู้นี้ได้พูดความจริงหรือไม่ ย่อมขึ้นกับดุลพินิจอย่างเต็มที่ของท่านผู้อ่าน 

และเราได้นำบทความ"กลียุค"ของแอนดรูว์ มาแชล อดีตผู้สื่อข่าวอาชีพของรอยเตอร์มาให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาเปรียบเทียบเหตุการณ์ดังกล่าวประกอบด้วยในช่วงท้ายบทสัมภาษณ์นี้
...............

ไทยอีนิวส์: อะไรคือมูลเหตุที่คุณออกมาให้ข่าวกับไทยอีนิวส์
ชายชุดดำ: ช่วงนี้ผมเห็นนายสุเทพ พรรคประชาธิปัตย์ออกมาจัดทำม็อบขับไล่รัฐบาล และมีการพูดปลุกระดมให้ข้อมูลผิดๆทุกวันเรื่องชายชุดดำว่าเจตนาสังหารพันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม และที่เลวกว่านั้นคือชอบพูดว่าคนเสื้อแดงโดนชายชุดดำฆ่า ทหารภายใต้การอำนวยการของศอฉ.ขณะนั้นคือนายสุเทพไม่ได้เป็นฝ่ายฆ่า ซึ่งเป็นความเท็จโกหกปลิ้นปล้อน

อีกจุดประสงค์ก็คือเรื่องนี้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว คนไม่รู้ก็พูดกันไปต่างๆนานา จริงบ้างเท็จบ้าง ส่วนใหญ่เป็นเท็จ ผมจึงต้องออกมาเล่าความจริงให้ฟังเพื่อบันทึกไว้เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ และเป็นบทเรียนกับทุกฝ่ายว่า ทำไมจึงเกิดชายชุดดำ และเกิดปฏิบัติการของชายชุดดำขึ้นมา

เรื่องนี้มันไม่ได้ซับซ้อนไปเกี่ยวพันกับนักการเมือง แกนนำม็อบไหนๆ หรือได้รับการฝึกอาวุธแบบมืออาชีพจากที่ไหน หากสังคมและการเมืองของไทยเราสร้างความบีบคั้นกดดันอย่างถึงขีดที่สุด จนหาทางออกแบบสันติไม่ได้ ก็อาจจะเกิดขบวนการที่ชาวบ้านธรรมดาๆที่เคยแต่ทำมาหากินปกติ แต่รักความยุติธรรม ออกมารวมตัวกันเป็นกลุ่มติดอาวุธเพื่อป้องกันตัวเอง ปกป้องชีวิตประชาชนแบบที่ผมและทีมชายชุดดำเคยทำก็ได้

ไทยอีนิวส์: คุณยืนยันหรือไม่ว่ากำลังพูดความจริง หรือมีวัตถุประสงค์แอบแฝง
ชายชุดดำ: ผมจะพูดตามที่ผมได้รู้ได้ทำเท่านั้น ผมไม่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงอะไร ความจริงไม่เป็นผลดีต่อผมเลยที่ออกมาพูด เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกำลังตามล่าตัวผมอยู่ ในวันเกิดเหตุ10เมษา2553นั้นเจ้าหน้าที่ได้พบหลักฐานบางอย่างเชื่อมโยงถึงผม และได้ไปกดดันต่อครอบครัวของผมอย่างมากด้วย ผมจึงได้หลบหนีคดีิิออกมา ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อที่ผมพูดก็แล้วแต่จะคิดพิจารณากัน หากคิดว่าผมเป็นตัวปลอมก็ยิ่งดี ผมก็อยากให้เจ้าหน้าที่เชื่อแบบนั้น ผมจะได้กลับบ้านซะที

ไทยอีนิวส์: คุณอยากบอกอะไรมากที่สุดกับสังคมไทย
ชายชุดดำ: 
ผมอยากบอกว่า ผมขอโทษที่ทำให้ทหารบาดเจ็บล้มตาย ทำให้พันเอกร่มเกล้าตาย แต่ผมเสียใจและเสียดายที่คนสั่งทหารมาฆ่าประชาชนคือเทพเทือก กับมาร์คยังอยู่สุขสบายดี แถมมาโป้ปดมดเท็จหลอกลวงคนไทยได้ในวันนี้ แต่ไม่เป็นไร เพราะชายชุดดำก็ยังไม่ตายเหมือนกัน ทุกคนรวมทั้งผมยังไม่ตาย

ไทยอีนิวส์: ให้คุณเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่มีการสังหารพันเอกร่มเกล้าและทหารด้วยว่าความจริงของเหตุการณ์เป็นอย่างไร

ชายชุดดำ: มันเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่เสื้อแดงนปช.จัดการชุมนุมในปีพ.ศ.2552 ตอนนั้นช่วงวันสงกรานต์ เมษายน 2552 มีข่าวทหารเคลื่อนกำลังมาทางถนนวิภาวดีเพื่อเข้ามาปราบปรามผู้ชุมนุม ผมก็เดินทางไปร่วมกับผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเพื่อขอร้องไม่ให้ทหารเข้ามาปราบปราม โดยไปรอสกัดที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง

ขบวนรถของทหารก็ลงตรงทางด่วนวิภาวดี ส่วนผมอยู่ตรงทางขาเข้าก็เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตัวเองว่าทหารได้ทำร้ายประชาชนที่ไปขอร้องทั้งการทำร้ายประชาชนที่อยู่บนรถตุ๊กๆเขามาดูเหตุการณ์เฉยๆก็ทำร้ายเขาเหมือนไม่ใช่คน ใครล้มลงหมดสติ ก็จับโยนขึ้นรถ แล้วเอารถน้ำฉีดเลือด แล้วบรรทุกคนไป

ผมเห็นคนขับแท็กซี่รายหนึ่งที่จอดรถห่างทหารไป 100 เมตร ไม่มีท่าทางว่าจะเป็นภัยคุกคามหรือมีอาวุธก็โดนทหารยิงใส่ตอนเขาเปิดประตูรถแท็กซี่ออกมาจนตาย (หมายเหตุ:ทีมข่าวไทยอีนิวส์:เราได้แทรกว่า ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ แต่ชายชุดดำผู้นี้อ้างว่า เขาเห็นมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์)

ทหารทำเกินไปแล้ว ตอนนั้นผมมีอาวุธปืนสั้น.38ก็ยิงไปใส่ทหาร แบบยิงต่ำใส่ขา ไม่กะเอาให้ตาย แต่เพื่อหยุดไม่ให้ทหารทำร้ายประชาชนได้อีก ก็ได้ผลทำให้ทหารหยุดรุกไล่ประชาชน ทำให้ประชาชนได้หนีการปราบปรามของทหารได้

ไทยอีนิวส์: นั่นเป็นที่มาของการปฏิบัติการ10 เมษายน 2553 ในอีกปีถัดมา?
ชายชุดดำ: 
ใช่ครับ เราเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามเห็นคนไม่เป็นคนก็รู้สึกเจ็บปวด พอเสื้อแดงนปช.จัดการชุมนุมใหญ่ปี2553 มีทหารออกมาปฏิบัติการอีกแล้ว ผมก็คิดว่ายังไงเขาก็ออกมาเพื่อฆ่าประชาชนผู้ชุมนุม เลยคิดอยากมีอาวุธ ผมก็เริ่มสะสมอาวุธ โดยมีทหารที่เขารักความเป็นธรรมเป็นคนหาอาวุธให้เรา แต่ผมไม่รู้จักชื่อเขาหรอก เราก็เรียกแต่ว่าทหารแตงโม

จากนั้นผมก็รวมตัวกับพวกที่ออกมาชุมนุมด้วยกันและเชื่อตรงกันว่าต้องต่อสู้ด้วยอาวุธรวมกันได้ 7 คน มีผมใช้อาวุธปืนเป็นอยู่คนเดียว เพราะเคยเรียนรด.มากับมาเข้าสนามปืนเพื่อซ้อมก็ไปฝึกสอนให้เพื่อนกลุ่มนี้ แต่จนถึงวันลงมือ 10 เมษา 53ก็ยังไม่ชำนาญพอ เอาใจมาทำล้วนๆแค่เห็นภาพเดียวกันก็พอ บางคนในทีมก็แค่เหนี่ยวไกปืนเป็น

อาวุธที่ทีมของเรามีในวันนั้นก็คือ M203 หนึ่งกระบอก M16อีก 2 กระบอก อาก้า 3 กระบอก แต่ก่อนปฏิบัติการนั้น มีเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้ชุมนุมเดินทางขอบคุณคนกรุงเทพฯรอบกรุง พอผ่านพรรคการเมืองใหม่ของพวกพันธมิตร โดนพวกมันปาก้อนหินใส่ ผมทราบทีหลังก็เลยไปจัดให้ชุดหนึ่ง แต่ไม่มีใครเป็นอะไรนะ แค่อยากบอกมันว่า"มึงทำอย่างนี้ได้ คนอื่นเขาก็ทำเป็น"

เรื่องพันธมิตรมันต่อเนื่องมาจากตอนปลายปี 2551ด้วยที่พวกนี้บุกเข้าไปทำร้าย และยิงใส่สถานีวิทยุแท็กซี่ที่วิภาวดีซอย3 พวกนี้เริ่มก่อน เป็นอันธพาลรังแกกันเกินไปแล้ว ตอนนั้่นผมออกไปสู่ปกป้องวิทยุแท็กซี่ก็ไปตัวเปล่าๆ ไปรับปืน โชคดีที่รอดมาได้ ก็เริ่มจากตรงนั้นแหละ  ก็ชวนเพื่อนที่ไปตอนนั้่นว่า มันทำขนาดนี้ เราสู้มือเปล่าก็โดนอันธพาลรังแก ก็เริ่มหาอาวุธ ตอนแรกก็ปืนพกสั้น หลังๆมาทางทหารมาแตงโมก็ให้อาวุธหนัก ทั้งปืนเอ็ม16 อาก้า และกระสุนมา

ไทยอีนิวส์: เล่าเหตุการณ์10เมษาแบบละเอียดเลยว่าเป็นอย่างไร
ชายชุดดำ: ทางผมก็ไม่มีเตรียมอะไร วันนั้นผมก็ทำงานของผมเป็นปกติ ผมไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ได้เป็นมือปืน มีอาชีพปกติทั่วไป แต่ไม่ขอบอกว่าทำอะไร ตอนค่ำก็มีคนโทรมาบอกว่าทหารเข้าปราบปรามประชาชนที่บริเวณผ่านฟ้า และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แยกคอกวัว ผมก็นำปืนใส่รถไปกับทีมก็ไม่เกิน6-7คน เอาว่าแค่นี้แหละ

พอไปถึงลงรถได้ก็มืดแล้ว ผมเข้าไปสวนทางกับผู้ชุมนุมคนหนึ่งที่เดินถือธงชาติแล้วโดนทหารยิงจนหัวกระโหลกเปิดจนตาย ทราบต่อมาว่าชื่อนายวสันต์ ภู่ทอง เราก็อารมณ์ขึ้นด้วยความอยากช่วยประชาชนผู้ชุมนุมไม่อยากเห็นโดนทหารฆ่าตายแบบนายวสันต์อีก

ผมก็เริ่มใช้ปืนเอ็ม203ยิงกองกำลังทหารบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาก่อน แต่ตรงนั้นมีรถอยู่จอดขวางกั้นอยู่ ก็ไม่รู้ว่ามีการตายหรือไม่

จากนั้นก็ยิงขึ้นไปบนสำนักงานสลากกินแบ่งที่มีทหารขึ้นไปยิงใส่ประชาชนอยู่บนกองสลากฯ เราก็ใช้เอ็ม16ยิงใส่ทหาร แต่ผมว่าไม่น่าจะโดนใคร แค่เพียงต้องการให้ทหารบนนั้นหยุดยิงใส่ประชาชนผู้ชุมนุมมือเปล่า

จากนั่นเราก็ปฏิบัติการยิงใส่แถวของกองกำลังทหารที่อยู่ในซอยหลังโรงเรียนสตรีวิทย์ ผมจำได้แม่นว่าเป็นหลังร้านแมคโดนัลด์ ตรงนั้นมีกองทหารตั้งแถวเตรียมพร้อมรุกเข้ามาปราบผู้ชุมนุม ทีมพวกกันเราก็ยิงกราดใส่แถวทหาร ซึ่งทหารคงไม่คาดคิดว่าจะมีทีมเราไปยิง ก็ไม่ได้เตรียมพร้อม แถวหน้าก็โดน ถอยหลังก็ไม่ได้มันมีแถวทหารเรียงเป็นพรืด อาจจะโดนทหารแถวหลังยิงใส่โดนพวกเดียวกันเองด้วยก็เป็นได้ แต่ผมก็ยิงจนกระสุนหมดไป3ชุด ทีมเราก็ระดมยิงใส่ ก็คงมีทหารตายไปจำนวนมาก

มากเท่าไหร่ผมก็ไม่คาดคิด คิดตอนนั้นแต่ว่าทำอย่างไรเราจะหยุดทหารได้ ไม่ให้เข้ามาเข่นฆ่าปราบปรามผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธไม่มีทางสู้ ทหารโดนเข้าไปก็สลายตัวหลบเข้าไปตามผับตามบาร์็ ไม่มีใครยิงสู้สวนมาเลย พวกเราจึงไม่มีใครบาดเจ็บล้มตายหรือสูญเสียเลย

ทั่งหมดนี้เราใช้เวลาปฏิบัติการไม่ถึง10นาที ก็มีผลให้ทหารกระจายหลบไปหมด พอหยุดเขาได้ พวกเราก็เลิกปฏิบัติการ แล้วขับรถวนดูรอบพื้นที่ชุมนุมว่าทหารสลายไปหมดยัง พอเห็นสลายไปหมดเราก็ยุติปฏิบัติการ

ไทยอีนิวส์: เหตุการณ์สำคัญที่สุดคือพันเอกร่มเกล้าเสียชีวิต พวกคุณได้เจาะจงสังหารเขาหรือไม่?

ชายชุดดำ: ไม่เลยครับ เราไม่รู้หรอกว่าใครเป็นพันเอกร่มเกล้าหรือใครเป็นใคร จนป่านนี้ผมยังไม่รู่้ว่าพันเอกร่มเกล้าอยู่ตรงไหนในตอนเรายิง เราทำไปแค่เพื่อให้ทหารหยุดยิงหยุดฆ่าประชาชนเท่านั้น กว่าจะมารู้ว่าพันเอกร่มเกล้าตายก็ตอนออกเป็นข่าววันรุ่งขึ้น

เช้าวันรุ่งขึ้นผมก็เข้ามาวนดูพื้นที่ชุมนุมแถวผ่านฟ้า พื้นที่สาวรีย์ประชาธิปไตย พอตกเย็นก็ออกจากเขตพื้นที่ชุมนุม แต่ก็หลบอาศัยในเขตกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเราก็แทบจะไม่มีปฏิบัติการอีก

คราวนี้ผมเล่นสงครามจิตวิทยากับฝ่ายรัฐบาล โดยแจ้งไปทางศอฉ.ว่าทหารนั่นแหละฆ่ากันเอง จนทำให้พวกเขาระแวงกันเอง จนมีเหตุทหารยิงกันเองตายแถวดินแดง

ผมอยากย้ำว่าไม่ได้ต้องการให้พันเอกร่มเกล้าหรือทหารคนไหนตายด้วยความสะใจเลย คิดแค่ว่าทำไงให้ทหารหยุดการฆ่าประชาชน

ผมอยากบอกว่าก่อนผมออกจากบ้านมาวันนั้น ผมได้จุดธูปบอกแม่พระธรณีว่า"ทำไงก็ขออย่าให้ไปโดนคนบริสุทธิ์หรือประชาชน ให้โดนเฉพาะแต่คนที่มันทำบาปทำเวรทำกรรมประชาชน" ผมก็มาทราบภายหลังว่าตอนปี2552พันเอกร่มเกล้าก็ควบคุมกำลังทหารปราบปรามประชาชนมา ก็คงเป็นเวรกรรมของเขาด้วย ผมเชื่ออย่างนั้น

ไทยอีนิวส์: ในเหตุการณ์19พฤษภา53พวกชายชุดดำได้ออกปฏิบัติการอย่างไรบ้าง ฝ่ายทหารอ้างว่ายิงพวกผู้ก่อการร้ายชุดดำที่หลบเข้าไปในวัดปทุมวนาราม
ชายชุดดำ: เราไม่มีปฏิบัติการอะไรเลย เราหลบออกไปแล้วก่อน19พฤษภา53

ไทยอีนิวส์: มีคนคิดว่าพวกชายชุดดำต้องเป็นมืออาชีพระดับพระกาฬแน่

ชายชุดดำ: ไม่เลยครับ ผมแค่เคยเรียนรด.มา ต่อมาเข้าสนามยิงปืน ผมและทีมไม่เคยมีใครเป็นทหาร ตำรวจ คนมีสี หรือมือปืนอันธพาล เป็นชาวบ้านทั่วไปธรรมดา

เดิมผมไม่เคยสนใจการเมืองด้วยซ้ำไป เลือกตั้งยังไม่สนเลย แต่ว่าก่อนปี2552ก็มีม็อบพันธมิตรมาไล่ทักษิณ ผมก็เริ่มจากสงสารทักษิณ เป็นคนไทยขี้สงสารเหมือนคนไทยทั่วๆไป ก็ตัดสินใจไปร่วมชุมนุมกับนปช.เสื้อแดง แล้วก็ไปเจอพันธมิตรทำตัวอันธพาลไปยิงถล่ม และทำร้ายคนเสื้อแดงตรงวิภาวดีซอย3 ผมชอบความยุติธรรมก็คุยกับพรรคพวกว่าเราจะปล่อยให้เขาทำแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ก็รวมตัวกันเป็นทีมขึ้นมาว่าจะสู้แล้ว

และมาตัดสินใจว่าต้องสู่้ก็ตอนสงกรานต์ปี2552ที่สามเหลี่ยมดินแดง เพราะทหารทำกับคนเหมือนหมา ทำตัวเป็นเดรัจฉานเข่นฆ่าทำร้ายเขาตีเขาหมดสติแล้วโยนขึ้นรถ แล้วเอารถฉีดน้ำมาฉีด เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สื่อก็ไม่มีเสนอข่าว แล้วไปใช้รถฮัมเมอร์ปิดถนนไว้ นักข่าวก็ไม่มีมาทำข่าวรายงานความจริง

ไม่มีกล้อง ไม่มีทีวี ไม่มีรายงานข่าว แถมบิดเบือนว่าผู้ชุมนุมก่อความรุนแรง

ไทยอีนิวส์: พวกคุณได้รับการสนับสนุนจากทักษิณ จากฝ่ายทักษิณ หรือจากแกนนำนปช.อย่างไรบ้าง

ชายชุดดำ: ไม่เลยครับ ผมไม่รู้จักอะไรเลยกับทักษิณ หรือฝ่ายทักษิณ หรือแกนนำนปช. แต่เราเคยไปขออาวุธและกระสุนจากพวกการ์ดเสื้อแดง พวกนี้ก็ไม่ช่วยอะไรเลย หากจะเอาก็ต้องซื้อ เราเลยได้"ของ"จากทหารแตงโมมาแทน ผมก็เลยไม่ไปยุ่งอะไรกับพวกแกนนำนปช.

ผมยังเห็นว่าคนมาเป็นแกนนำอย่าเอาแต่พูดปลุกระดมว่า"สู้ไม่สู้ ?สู้จนตาย" ถึงเวลาก็ครึ่งๆกลางๆทิ้งประชาชนให้รับกรรม ทั้งที่เราปฏิบัติการ10เมษา พวกแกนนำกลับสั่งให้ถอยห้ามใช้อาวุธอยู่บนเวที ยึดอาวุธเครื่องกระสุนได้ก็เอาไปคืนทหารหมด จนเขานำมาฆ่าประชาชนอีก ก็เป็นบทเรียนว่าการต่อสู่ไม่ว่าครั้งไหนคนรับกรรมก็เป็นประชาชนที่เขาสู่จนตัวตาย แกนนำก็ไม่มีใครสู้ตายหรอก ผมสงสารประชาชนจริงๆ พอพวกผมทำก็ต้องตกระกำลำบากหนีหัวซุกหัวซุนมาจะ 4 ปีแล้ว

แกนนำไม่ว่าม็อบไหนผมขอบอกว่าการหลอกประชาชนมาสู้ไม่สมควรทำ แม้แต่ที่มีม็อบในกรุงเทพฯเวลานี้ประชาชนก็โดนหลอกมาให้รับกรรม

ไทยอีนิวส์: ทางพรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณสุเทพ คุณอภิสิทธิ์พูดตลอดว่า ชายชุดดำฆ่าทหารฆ่าพันเอกร่วมเกล้า และฆ่าคนเสื้อแดงด้วยกันเอง เพื่อให้พวกทักษิณบรรลุเป้าหมายทางการเมือง
ชายชุดดำ: 
ผมขอยืนยันว่าเสื้อแดงตายนั่้นทหารทำ ไม่ใช่พวกผมชายชุดดำทำแน่ แต่ทหารตายนั้นเพราะโดนพวกผมทำแน่ๆ ผมมาช่วยเสื้อแดงจึงไม่ทำพวดเขาแน่ๆ

รู่ไหมว่าตอนเหตุการณ์10เมษา53ที่ผมยิงใส่ทหารนั้น มีตอนหนึ่งปืนของผมเกิดขัดขึ้นมา ก็มีมวลชนเสื้อแดงเขาเข้ามาโอบล้อมผมไว้แบบไม่กลัวตาย พวกเขาบอกว่า"พี่พวกผมจะเป็นโล่มนุษย์ปกป้องพี่เอง หากทหารยิงมาจังหวะนี่้ให้โดนพวกผมก่อน "ก็พอดีแก้ไขข้อขัดข้องได้ ในเวลานั้นมันทำให้ผมซึ่งใจมากจริงๆว่ามวลชนเขาแลกชีวิตได้เพื่อปกป้องผมให้ช่วยเหลือไม่ให้ทหารเข่นฆ่าคนเสื้อแดงได้ ผมถามว่าเป็นผมเป็นใครจะไปฆ่ามวลชนคนเสื้อแดงลงคอหรือ?

ไทยอีนิวส์: ทีมคุณอาจไม่ได้ทำ แต่มีทีมชายชุดดำชุดอื่นทำ
ชายชุดดำ: มีทีมผมทีมเดียวครับชายชุดดำ ไม่มีทีมอื่น ไม่ต้องมาแอบอ้างหรือหาแพะ แต่่คนอื่นๆที่มีอาวุธปืนสั้น ปืนพกคงมี เพราะมีตำรวจ ทหารที่เขารักความเป็นธรรมก็มาร่วมชุมนุม

ไทยอีนิวส์: เสธ.แดงมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับชายชุดดำ?
ชายชุดดำ: 
ไม่เกี่ยวเลย เสธ.แดงก็ตายฟรี เพราะฝ่ายศัตรูคิดว่าเกี่ยวกับพวกผม ทราบไหมว่าทำไมพวกเราทีมเราไม่มีใครบาดเจ็บสูญเสีย แม้แต่ติดคุกหนีได้หมด ก็เพราะว่าเราไม่ใช่มืออาชีพ ไม่เกี่ยว ไม่มีประวัติใดๆมาก่อนที่จะไปเชื่อมโยงถึงใครได้ เพราะมันไม่เกี่ยวจริงๆ เพราะเราเป็นชาวบ้านทำมาหากินปกติ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคใดๆ ไม่มีอาชีพคนมีสี หรือเป็นซุ้มมือปืน หรือคนสั่งก็ไม่มีก็เลยไม่มีประวัติ พวกผมเลยรอดกันหมดทุกคน

ไทยอีนิวส์: ผ่านไปจะเก้ือบ4ปุีแล้ว หากย้อนกลับไปได้คุณยังจะทำแบบที่ทำไปแล้วหรือไม่
ชายชุดดำ: ไม่เลย ไม่ทำแน่นอน เหตุการณ์ผ่านไปก็เห็นได้ชัดเจนว่าประชาชนเป็นผู้รับกรรม นักการเมืองกลับไปมีอำนาจ แกนนำก็สู่ครึ่งๆกลางๆ

ผมเองก็ไม่รู้ทำบุญหรือทำบาปกันแน่ ผมถามตัวเองมาตลอดเวลา สิ่งที่ได้ทำลงไปนั้นมันดีหรือไม่ดี?

แต่หากมองย้อนกลับไปทำไมผมทำแบบนั้น ผมมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือชีวิตของมวลชน แต่ผมมีความทุกข์ที่ทำให้ทหาร ทำให้พันเอกร่มเกล้าต่องมาตาย

ไทยอีนิวส์: อนาคตจะมีชายชุดดำแบบพวกคุณอีกไหม และจะหวนกลับไปปฏิบัติการอีกหรือไม่
ชายชุดดำ: ผมอยากให้เรื่องของผม และทีมชายชุดดำของเราเป็นเรื่องเตือนใจทั่งรัฐบาลเวลานี่ ฝ่ายตรงข้าม แกนนำทั้งหลาย ทหารตำรวจว่า ผมยังเชื่อว่ามีคนแบบผม แบบทีมของผมที่พร้อมจะออกมาทำแบบที่ผมและทีมเคยทำแบบเหตุการณ์10เมษา53 หากต้องเจอแบบที่ผมเคยเจอ มันบีบคั้นจนคนแบบผมทนอยู่นิ่งๆทำพมาหากินไปวันๆไม่ได้ และเขาจะไม่ยอมทนมันต่อไป

เมื่อไหร่ที่มีเหตุการณ์ที่มันค้านความรู่้สึกคนไทยอย่างถึงที่สุด แม้เมืองไทยเมืองพุทธ ก็จะมีชายชุดดำแบบผมและทีมของผมเคยทำ ออกมาปฏิบัติการอีกแน่ ชายชุดดำจึงจะไม่หายไปจากประเทศไทย

ไทยอีนิวส์: ช่วยเล่าเกี่ยวกับคุณที่เล่าได้
ชายชุดดำ: ผมไม่ขอเล่า มันเป็นความลับของชายชุดดำ




(หมายเหตุเพิ่มเติมไทยอีนิวส์:เรื่องจำนวนคนของชายชุดดำ และอาวุธนั้น ดูสอดล้องกับที่  ร.ต.ชัยวัฒน์ ตะเพียรทอง  ให้การต่อศาลว่า  ขณะจอดรอกำลังพลมีรถตู้สีขาววิ่งสวนมาเฉียดกับรถพยานประมาณ 1 ช่วงแขน จากนั้นผู้โดยสารในรถตู้เปิดกระจกชะโงกมาด่าว่า "เป็นยังไงบ้างไอ้พวกเหี้ย" ชายคนดังกล่าวใส่ชุดคลุมสีดำ เสื้อแจ็กเก็ตสีดำ สวมหมวกไหมพรมคลุมศีรษะ เห็นแต่ดวงตา ซึ่งในรถมีอยู่ประมาณ 5 คน รวมคนขับ บางคนใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก บางคนสวมไอ้โม่ง พยานเห็นอาวุธปืนอาก้า 1 กระบอก วางอยู่บนเบาะนั่งแถวที่สอง ส่วนที่พื้นรถเห็นอาวุธปืนเอ็ม 16 ประมาณ 4 กระบอก โดยรถคันดังกล่าวถอดเบาะนั่งแถวหน้าออก )


เครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด ๔๐ มม. เอ็ม ๒๐๓  (อ่านเพิ่มเติมในเว็บไซต์กรมสรรพาวุธ)


การมีปืน เอ็ม 203 ติดกับปืนเอ็ม 16 เท่ากับมีอาวุธปืน 2 กระบอกติดตัว คือมีทั้งปืนสงครามชนิด เอ็ม 16 กับปืนยิงลูกระเบิด



ตัวอย่างการยิง M203









กรณีพ.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม


ชื่อ-สกุล :  พ.อ. (พิเศษ) ร่มเกล้า ธุวธรรม
อายุ :  43 ปี
อาชีพ :  ทหาร
ที่อยู่ตามบัตรประชาชน :  -
วัน/เวลาเกิดเหตุ :  วันที่ 10 เม.ย. 53
สถานที่เกิดเหตุ :  ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา
ถูกส่งโรงพยาบาล/สถานที่ชันสูตร :  โรงพยาบาลพระมงกุฎ/โรงพยาบาลพระมงกุฎ
สาเหตุการเสียชีวิต :  โดนระเบิด บาดแผลท้ายทอยขวาฉีกขาด น่อง 2 ข้างฉีกขาดฟกช้ำ
วัน/เวลา/สถานที่เสียชีวิต :  วันที่ 11 เม.ย. 53 เวลา 3.00 น. เสียชีวิตที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ชนิดกระสุน :  ระเบิด
- See more at: http://www.pic2010.org/romklao/#sthash.PlYGZ0M4.dpuf









ถนนดินสอ


ผู้เสียชีวิต
- See more at: http://www.pic2010.org/dinsor/#sthash.2jcrCiqP.dpuf

..............

กลียุค


แปลจากตอนหนึ่งใน กลียุค-Thailand's Era of Insanity ของ Andrew MacGregor Marshall

วันที่ ๑๐ เมษายน โดยคำสั่งของสุเทพ กองทัพใช้ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่เพื่อขับผู้ประท้วงเสื้อแดงราว ๕ พันคนออกจากบริเวณชุมนุมสะพานผ่านฟ้า และจากราชประสงค์ กำลังทหารที่รุกเข้าสู่สะพานผ่านฟ้าในตอนบ่ายต้นๆ ไปติดอยู่ที่สะพานมัฆวานซึ่งมีการ์ดเสื้อแดงและประชาชนธรรมดาผู้ประท้วงอยู่เนืองแน่น ทหารยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และฉีดน้ำดับเพลิงเข้าใส่ ผู้ชุมนุมสู้กลับด้วยท่อแป๊บเหล็ก ไม้กระบอง และก้อนหิน เฮลิค็อปเตอร์ของทัพบกทิ้งแก๊สน้ำตาลงมายังหมู่ผู้ชุมนุม มีการยิงตอบโต้ขึ้นไปจากเบื้อล่าง ราวบ่ายสี่โมงทหารใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ประท้วง แต่ทหารก็ไม่สามารถทะลวงผ่นสะพานมัฆวานไปได้ เวลาห้าโมงเย็นการปะทะสงบลงโดยฝ่ายเสื้อแดงไม่ยอมถอย ที่ราชประสงค์เช่นกันกำลังทหารไม่สามารถสลายการชุมนุมได้

สองสามชั่วโมงหลังจากมืดลงเกิดการปะทะรุนแรงบนถนนดินสอ ผู้บัญชาการภาคสนามตรงนั้นคือ พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม นายทหารเสือพระราชินีซึ่งเป็นคนโปรดของพระนางเจ้าฯ ผู้ที่ปฏิบัติการปราบปรามเสื้อแดงอย่างรุนแรงในช่วงสงกรานต์ปีก่อนหน้านั้น รองจากเขาก็คือพันโทเกรียงศักดิ์ นันทโพธิเดช ลูกพี่ลูกน้องของ(เซ็นเซอร์) ราว ๒๐.๔๕ นาฬิกาบรรยากาศบนถนนดินสอยังเป็นการเผชิญหน้าแต่ว่าครึกครื้น รถบรรทุกปฏิบัติการจิตวิทยาของ ทบ. เปิดเครื่องขยายเสียงดนตรีเปียโนกล่อมอารมณ์ผู้ชุมนุม เสื้อแดงรื่นเริง ร้องรำกับเสียงเพลงจากเครื่องขยายเสียงของตนเองแข่งกับของฝ่ายทหาร ๒๐.๔๖ น. ทหารยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากยานหุ้มเกราะ หากแต่ว่าลมแรงพัดเอาแก๊สกลับเข้าไปใส่ฝ่ายทหารทำให้พวกที่ไม่ได้สวมหน้ากากกันแก๊สต่างพากันถอยร่น มีการยิงออกมาจากบริเวณแนวหน้าทำให้สภาวะการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน เสื้อแดงขว้างขวดน้ำพล้าสติกใส่ทหารที่ยืนอยู่บนรถหุ้มเกราะ แต่สถานการณ์ยังไม่เกินไปกว่าจะควบคุมได้ ทหารบางคนตวาดใส่ผู้ประท้วงที่ใช้ขวดแก้วขว้างใส่แทนขวดพล้าสติก การประจันหน้าอยู่ในกรอบของบทบาท นั่นคือต่างฝ่ายต่างอยู่ในที่ตั้งของตน ไม่มีความเสียหายจริงๆ เกิดกับฝ่ายใด ทหารบางคนยิงขึ้นฟ้าพร้อมทั้งยิ้มแย้มอย่างสนุกสนาน กระสุนบางส่วนกระทบเสาทั้งสี่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พอถึงเวลา ๒๐.๕๒ น. พันเอกร่มเกล้าเสียชีวิตจากระเบิดสังหารพร้อมกับนายทหารอีกสามคนตรงจุดที่ใช้เป็นกองบัญชาการสนามตรงกลางระหว่างยานหุ้มเกราะสองคันที่จอดหันหัวไปทางอนุสาวรีย์ในบริเวณด้านใต้ปลายถนนดินสอ ทหารอีกหลายคนถูกสะเก็ดระเบิดเข้าขาบาดเจ็บ แม้ว่าจะมีรายงานว่าระเบิดนั้นเป็นเอ็ม-๗๙ ที่ยิงมาจากระยะไกล แท้จริงน่าจะเป็นระเบิดมือที่ขว้าง หรือกลิ้งมาจากพื้นที่ใกล้เคียง ช่างภาพรอยเตอร์ ฮิโร มูราโมโต้ เป็นผู้ถ่ายวิดีโอคลิปขณะเกิดระเบิดและทหารไทยถอยกระจายด้วยความตกใจ ยังได้ยินเสียงดนตรีจากเครื่องเสียงรถทหารอยู่เบิ้องหลัง

ไม่กี่นาทีต่อมาระเบิดลูกที่สองก็หล่นตรงตัว พท. เกรียงศักดิ์ นันทะโพธิเดช ทำให้บาดเจ็บสาหัส เขาหมดสติทันใดและไปตายที่โรงพยาบาลอีกสองสามวันต่อมา กำลังทหารบนถนนดินสอราว ๒๐๐ นายสูญเสียผู้บังคับบัญชาสองคนไปในช่วงเวลาเพียง ๓๐ วินาทีของการเขย่าขวัญ เมื่อกำลังทหารในบริเวณอนุสาวรีย์แตกกระจายถอยร่นพวกเสื้อแดงก็กรูกันเข้าไปในถนนดินสอ บ้างคว้าอาวุธ และหมวกกันภัยของทหารที่นอนตายและบาดเจ็บ ฝ่ายทหารพยายามที่จะนำกำลังพวกตนที่บาดเจ็บออกจากพื้นที่ท่ามกลางบรรยากาศเผชิญหน้าอันสับสนและชุลมุน วสันต์ ภู่ทอง เสื้อแดงคนหนึ่งยืนโบกธงอยู่ตรงทางข้ามหน้าโรงเรียนสตรีวิทย์ ถูกกระสุนยิงเข้าหัวระเบิดสมองกระเด็นลงพื้น 


ฮิโร มูราโมโต้เดินเข้าไปถ่ายภาพร่างของเขา ทหารอย่างน้อยหนึ่งคนยิงมาจากบนถนนดินสอเป็นชุดด้วยกระสุนแรงสูงมาตรฐานเนโต้ขนาด ๕.๕๖ ม.ม. เข้าใส่ผู้ประท้วงเสื้อแดงกับนักข่าวทำให้ฮิโรและอีกหลายคนถึงแก่ความตาย

มันไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นถ้าจะพยายามตัดสินหาความเป็นธรรมกับเหตุการณ์บนถนนดินสอเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนบนพื้นฐานของแม่บทระหว่างฝ่ายทหารกับเสื้อแดง ข้อแตกต่างที่เหมาะกับกรณีนี้ที่สุดคือระหว่างกลุ่มคนที่พยายามจะฆ่าประชาชนจริงๆ กับพวกที่ไม่ได้ทำ ส่วนมากที่สุดของทั้งฝ่ายทหารและเสื้อแดงในคืนนั้นมิได้มุ่งหมายให้มีคนตายเกิดขึ้น

จำนวนผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงในคืนวันที่ ๑๐ เมษายนรวม ๒๕ คน เป็นประชาชนพลเรือน ๒๐ คนและทหาร ๕ นาย

...........
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:

ข้อคิดเห็นต่อบทความ Exclusiveสัมภาษณ์ชายชุดดำ:ปฏิบัติการ 10 เมษา 53 โดย นพ.เหวง


4 ปีเมษา-พฤษภาเลือด: สรุปภาพรวมคำสั่งไต่สวนการตาย กระสุนมาจากไหน

๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ทรราชย์เมษาทมิฬ แด่วีรชนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

 
https://www.youtube.com/watch?v=wv229YOW73c
คำเตือน... คลิปมีภาพผู้เสียชีวิต อาจไม่เหมาะสมกับผู้อ่านบางท่าน



ที่มา เว็บไซต์ประชาไท
โดย ทีมข่าวการเมือง
ภาพโดย วศิน ปฐมหยก
"..รัฐบาลชุดนี้พยายามจะนิรโทษกรรม คนที่ฆ่าพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม และทหารที่ออกมารักษาความสงบด้วยมือเปล่า แต่ถูกบรรดาสมุนบริวารของทักษิณฆ่าตายด้วยอาวุธสงคราม ที่หน้าเจ็บใจคือว่าไอ้พวกที่เข่นฆ่าพลเอกร่มเกล้า ตอนนี้มาเป็นรัฐบาล และ พวกท่านที่เป็นทหาร ยังต้องทำความเคารพพวกมัน ทั้งๆ ที่มันหมดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล ตั้งแต่ที่มันไม่เคารพรัฐธรรมนูญแล้ว.."
สุเทพ เทือกสุบรรณ, 19 ก.พ.57

คำพูดของสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งเข้าพบนายทหารระดับสูงเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงความพยายามอธิบายเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนว่า “ทหารมามือเปล่า” และละเว้นการกล่าวถึงตัวเองซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักโดยตรง ขณะที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยกล่าวว่าไม่อาจเอ่ยคำขอโทษ เพราะข้อเท็จจริงทั้งหมดยังไม่เป็นที่สรุปแจ้งชัด
ที่ผ่านมานายสุเทพได้เลื่อนนัดรายงานตัวต่ออัยการหลายครั้งเนื่องจากติดภารกิจนำการชุมนุมทางการเมือง จนล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2557 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับเขา ในฐานะผู้ต้องหาร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีออกคำสั่ง ศอฉ.ขอคืนพื้นที่การชุมนุมเมื่อปี 2553 ในคดีนี้ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 23 มิ.ย. เนื่องจากต้องการรอข้อมูลการไต่สวนข้อเท็จจริงจากป.ป.ช.ก่อน (อ่านข่าวที่นี่)
จากเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม 2553 ตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 98 ราย บาดเจ็บราว 2,000 ราย ปัจจุบันมีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ไต่สวนการตาย ดำเนินอยู่หลายคดี ส่วนที่ศาลมีคำสั่งแล้วมีอยู่ 19 คดี รวม 29 ราย
ในจำนวน 29 รายที่ศาลมีคำสั่งแล้วนั้น มีอยู่ 16 รายที่ศาลระบุว่ามีวิถีการยิงมาจากฝั่งทหารชัดเจน แต่ไม่อาจระบุถึงตัวบุคคลได้ว่านายทหารผู้ใดเป็นคนยิง คำสั่งเหล่านี้ทยอยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยสื่อส่วนใหญ่แทบจะไม่ให้ความสนใจ
การไต่ชันสูตรพลิกศพนั้นเป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อให้ศาลสั่งเบื้องต้นว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์การตายเป็นอย่างไร ใครกระทำ จากนั้นอัยการจึงจะส่งฟ้องเป็นคดีอาญา
ผู้เสียชีวิตที่อัยการสั่งฟ้องคดีแล้วคือกรณีของนายพัน คำกอง, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ (น้องอีซา) รวมถึงนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอัยการได้แถลงเตรียนำสำนวน 6 ศพวัดปทุมวนาราม ไปรวมกับคดีที่ยื่นฟ้องไปแล้วด้วย
ส่วนกรณีที่ยังอยู่ในกระบวนการไต่สวนในชั้นศาลมีอีก 6 ราย ประกอบด้วย นายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ นายวสันต์ ภู่ทอง นายทศชัย เมฆงามฟ้า นายเกรียงไกร คำน้อย นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และนายประจวบ ประจวบสุข ขณะที่มีส่วนที่อยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลอีก 4 ราย คือพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล นายสวาท วางาม นายไพรศล ทิพย์ลม และนายมนต์ชัย แซ่จอง
สำหรับกรณีของนายเกรียงไกร คำน้อย จะมีการสืบพยานนัดสุดท้ายวันที่ 12 มิ.ย.นี้  ส่วนกรณีของนายฮิโรยูกิ นายวสันต์ และนายทศชัยนั้น มีนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 22 เม.ย.นี้

เปิดรายละเอียดคำสั่งศาลไต่สวนการตาย

รายละเอียดคำสั่งชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตทั้ง 29 รายนั้น ศาลเริ่มมีคำสั่งทยอยออกมาตั้งแต่ปลายปี 2555 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2557 มีหลายรายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกันในพื้นที่ใกล้กันและใช้พยานชุดเดียวกัน ก็ถูกรวมกันไว้เป็นคดีเดียว รายละเอียดของแต่ละคดีเรียงตามลำดับวันเวลาที่ศาลมีคำสั่ง ปรากฏดังนี้
“นายพัน คำกอง” 
คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ ในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา
ศาลสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.55
"เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหม เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน"
“นายชาญณรงค์ พลศรีลา”
คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ภาพเหตุการณ์ที่เขาถูกยิงถูกถ่ายและเผยแพร่โดยช่างภาพต่างประเทศ นิค นอสติทช์
ศาลเมื่อวันที่ 26 พ.ย.55
“เป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารขณะควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ตามคําสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่บริเวณถนนราชปรารภ ด้วยกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 หรือ 5.56 มิลลิเมตร ที่บริเวณช่องท้องและแขน เป็นเหตุให้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นทหารคนใดหรือสังกัดใดที่ทำให้นายชาญณรงค์เสียชีวิต” 
คำสั่งศาลระบุด้วยว่ากระสุนดังกล่าวเป็นกระสุนที่ใช้กับ ปืน HK33, M16 และ ปืนทราโว่ ทาร์ 21 ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกให้กับบุคคลทั่วไปได้ และมีใช้ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ ทั้งนี้ประจักษ์พยานที่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักข่าวชาวไทยและชาวต่างชาติยืนยันตรงกันว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งที่ทหารวางกำลังอยู่ รวมทั้งพยานที่เป็นพนักงานสอบสวนในดดีนี้เบิกความด้วยว่าในบริเวณที่ทหารวางกำลังอยู่นั้นไม่สามารถมีบุคคลอื่นใดเข้าออกได้ ทำให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่ากระสุนปืนที่มาจากฝั่งทหารนั้น จึงไม่มีใครที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้นอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร อีกทั้งพยานยืนยันด้วยว่าผู้ตายไม่ได้มีการใช้อาวุธตอบโต้หรือยั่วยุเจ้าหน้าที่
“นายชาติชาย ชาเหลา”
เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 53 เวลากลางคืน ถนนพระราม 4 นับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ต่อจาก เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล
ศาลสั่งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.55
“เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด ขนาด .223 (5.56 ม.ม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบ ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
ศาลระบุด้วยว่า ในวันที่ 13 พ.ค.53 เวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช. ได้รวมตัวกัน ทยอยเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน และได้ยิงพลุและตะไลเข้าใส่เจ้าพนักงาน ส่วนผู้ตายถือกล้องถ่ายวิดีโอถ่ายภาพระหว่างเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน  ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นกระสุนปืนถูกผู้ตายที่ศีรษะทะลุด้านหลัง ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ศาลเห็นว่าผู้ร้องมีประจักษ์พยาน(เจ้าหน้าที่กู้ชีพของวิชรพยาบาล)ยืนยันว่าว่าเห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ทั้งจุดเกิดเหตุมีเพียงเจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจแข็งแรงและเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ปืนลูกซองและปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ. กระสุนปืนขนาด .223 ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืนขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธเจ้าพนักงานที่ใช้ประจำการ
"ด.ช.อีซา"
ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณหรือ “อีซา” อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุ เข้าช่องท้องทําให้เลือดออกมากในช่องท้องเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ 
ศาลมีคำสั่งเมื่อ 20 ธ.ค.55
“ผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่”
คำสั่งศาลระบุด้วยว่า แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่า ผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ ถ.ราชปรารภตั้งแต่ สี่แยกประตูน้ำไปจนถึง สี่แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น อีกทั้งแพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายได้เบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูงซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท เอ็ม16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐาน จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายคนมีอาวุธปืนเอ็ม16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้
“นายบุญมี เริ่มสุข”
วัย 71 ปี ถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้องด้านซ้ายกระสุนตัด ลําไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 โดยนายบุญนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหลายวัน ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.ค.53
ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่  16 ม.ค.56  
เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ร่วมกับประวัติถูกยิงที่บริเวณช่องท้อง ด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ขณะที่อยู่บริเวณถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”
“นายมานะ อาจราญ”
ลูกจ้างของสวนสัตว์ดุสิตแผนกบำรุงรักษา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อกลางดึกของวันที่ 10 เม.ย. 53 บริเวณสวนสัตว์ดุสิต ภายหลังการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำบริเวณแยกคอกวัวและถนนดินสอสงบลง ทั้งนี้ ลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิตเป็นจุดพักของเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา จำนวนหลายกองร้อย
ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ก.พ.56
 "นายมานะ อาจราญ ถึงแก่ความตายในสวนสัตว์ดุสิตในคืนวันที่ 10 เม.ย.53 โดยถูกกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทำลายเนื้อสมอง โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”
ศาลระบุด้วยว่า ผู้ร้องไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุว่าผู้ยิงเป็นทหารหรือบุคคลใด ไม่มีพยานยืนยันการใช้อาวุธปืนของทหารซึ่งมีการนำสืบว่าหมอบอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ แม้ รปภ.สวนสัตว์ดุสิตจะเบิกความว่ามีการยิงของทหารจากด้านในสวนสัตว์โดยยิงเฉียงขึ้นฟ้าไปทางฝั่งรัฐสภา แต่ก็เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุกำลังวิ่งเข้าไปที่อาคารจอดรถ ไม่ใช่จุดที่นายมานะถูกยิงเสียชีวิตและไม่ใช่จุดที่พบทหารหมอบอยู่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ที่เข้าเวรคู่กับนายมานะได้วิ่งออกมาหลังได้ยินเสียงปืนก็พบกับทหารที่หมอบอยู่ ทหารก็ไม่ได้มีท่าทีจะทำร้ายนายบุญมี หากทหารกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ทำร้ายนายมานะ นายบุญมีก็คงถูกยิงเช่นกัน ส่วนแพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจแนววิถีกระสุน จำลองแนววิถีกระสุนได้เพียงจุดยิงกว้างๆ ไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นจุดเดียวกับที่ทหารหมอบอยู่ ส่วนปลอกกระสุน 2 ปลอกที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุนั้น ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นกระสุนที่ใช้ยิงผู้ตายหรือไม่ เพราะไม่มีหัวกระสุนมาตรวจสอบ และจากการตรวจสอบอาวุธปืน 29 กระบอกที่กองกำลังค่ายสุรนารีเบิกใช้ก็ไม่ตรงกับปลอกในที่เกิดเหตุ 
“นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง
นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง หรือ ลุงคิม อายุ 55 ปี ที่ถูกยิงเข้าที่หลังด้านซ้าย กระสุนทะลุไขสันหลังและปอดขวา กระสุนไปฝังที่สะบักขวา บาดเจ็บสาหัสและเป็นอัมพาตเกือบ 2 ปีก่อนเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 12.00 - 13.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค.53 บริเวณหน้าโรงรับจำนำน่ำเลี้ยง ถนนพระราม 4 บ่อนไก่ นายฐานุทัศน์ ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อ 23 ก.พ. 55 ที่ รพ.มเหสักข์
ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 มี.ค.56
“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายสืบเนื่องจากปอดอักเสบ  ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลวจากโรคมะเร็งระยะลุกลาม โดยมิใช่ผลโดยตรงจากการถูกยิง"
ศาลระบุด้วยว่า การที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงแล้วมีผลให้เป็นอัมพาตที่ขาทั้งสองข้าง มิได้เป็นผลโดยตรงที่ทำให้นายฐานุทัศน์เป็นอัมพาตที่แขนทั้งสองข้าง  อีกทั้งทางไต่สวนไม่ปรากฎว่า การที่นายฐานุทัศน์มีกระดูกทับเส้นประสาทระดับคอ  และมีเลือดออกที่กระดูกคอนั้นเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด และได้ความว่าหลังจากหลังจากถูกยิงผู้ตายยังมีอาการหายใจได้ดีมาตลอด  เพิ่งมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจตั้งแต่เมื่อมีอาการแขนทั้งสองข้างอ่อนแรงและมีการกดทับไขสันหลังระดับคอนอกจากนี้ยังได้ความว่า  นายฐานุทัศน์ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบและโรคมะเร็งในระยะลุกลามจนกระทั่งถึงแก่ความตาย  แม้มีการพบหัวกระสุนปืนที่บริเวณสะบักด้านขวาก็ตาม  แต่ได้ความจากแพทย์ผู้ตรวจศพว่าหัวกระสุนปืนดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ถึงแก่ความตาย และแม้ว่าหัวกระสุนปืนดังกล่าวจะอยู่ในร่างกายของนายฐานุทัศน์ตลอดไปก็ไม่เป็นเหตุทำให้ถึงแก่ความตาย เพราะตำแหน่งหัวกระสุนปืนอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณสะบักซึ่งไม่มีอวัยวะสำคัญ  จากข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นฟังได้ว่า การที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงมิใช่ผลโดยตรงที่ทำให้ถึงแก่ความตาย  แต่สาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดจากปอดอักเสบ ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลวจากโรคมะเร็งระยะลุกลาม
“พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ”
ทหารสังกัด ร.พัน. 2 พล.ร. 9 จ.กาญจนบุรี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุการณ์การปะทะกันของตำรวจ ทหาร กับผู้ชุมนุม นปช. ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เขตบางเขน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553
ศาลมีคำสั่งวันที่ 30 เม.ย.56  
"เหตุและพฤติการณ์การตายคือ ถูกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ โดยกระสุนถูกที่ศรีษะด้านซ้ายหางคิ้วผ่านทะลุกระโหลกศรีษะทำลายเนื้อสมองเป็นเหตุให้เสียชีวิต”
“ฟาบิโอ โปเลนกี”
ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553
ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56  
“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”
“‘6 ศพวัดปทุมฯ”
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายได้แก่ นายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 1 นายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 2 นายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 4 นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 5 นายอัครเดช ขันแก้ว ผู้ตายที่ 6
ศาลมีคำสั่งเมื่อ 6 ส.ค.56  
“ผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.”
“นายจรูญ ฉายแม้น-นายสยาม วัฒนนุกูล”
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53
ศาลสั่งเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 56
"วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ"
ศาลระบุว่า ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน 4 ปากอยู่ในที่เกิดเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่างเบิกความยืนยันว่า เห็นประกายไฟจากกระบอกปืนและได้ยินเสียงปืนจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ ซึ่งขณะนั้นประจักษ์พยานเห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จึงเชื่อว่าพยานทั้ง 4 ต่างเบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา ประกอบกับแพทย์จากนิติเวชที่ชันสูตรศพผู้ตายทั้งสองยืนยันว่านายจรูญ ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลกลาง โดยสาเหตุการตายเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง
ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบพบเศษลูกกระสุนปืน เศษตะกั่ว เศษเหล็กในศพของผู้ตายที่ 1  ส่วนนายสยาม ผู้ตายที่ 2 เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน ตรวจพบเศษตะกั่วในศพผู้ตายที่ 2 ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยืนยันว่า เศษลูกกระสุนปืนที่พบในศพของผู้ตายที่ 1 เป็นอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ และแม้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเศษตะกั่วที่พบในศพผู้ตายที่ 2 มีขนาดเท่าใด แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายทั้งสองอยู่ในบริเวณเดียวกันและล้มลงในช่วงระหว่างที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่ติดตามเข้าไป จึงเชื่อว่าผู้ตายทั้งสองถูกกระสุนปืนที่ยิงมาจากบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ คำเบิกความของพยานยังสอดคล้องกับผู้ตรวจวิถีกระสุนในบริเวณที่เกิดเหตุ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดที่ได้วินิจฉัยมา เชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่พยานของผู้ร้องทั้งหมดที่นำสืบมา ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
“จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์”
จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ประจำอยู่ดาดฟ้าของอาคารซีพีทาวเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนสีลม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2553 และถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 17 พ.ค.2553
ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 พ.ย.56
“ตายภายในรถยนต์กระบะบนถนนสีลมใกล้เคียงอาคารซีพีทาวเวอร์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2553 เวลา 1 นาฬิกาเศษ เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ศรีษะโดยระสุนทำลายเนื้อสมองสืบเนื่องจากถูกคนร้ายซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดใช้อาวุธปืนยิงขณะผู้ตายปฏิบัติภารกิจขับรถยนต์กระบะจากอาคารซีพีทาวเวอร์ไปยังซอยสีลม 3”
“นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ – นายประจวบ ศิลาพันธ์ – นายสมศักดิ์ ศิลารัตน์”
นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ ผู้ตายที่ 1 การ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายประจวบ ศิลาพันธ์ ผู้ตายที่ 2 ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตภายในสวนลุมพินี และนายสมศักดิ์ ศิลารัตน์ ผู้ตายที่ 3 ซึ่งถูกยองบริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6  ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553
ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่  29 พ.ย.56
“ตายทั้งสามรายถึงแก่ความตายภายในสวนสาธารณะลุมพินี เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 โดยผู้ตายที่ 1-2 เสียชีวิตภายในสวนสาธารณะลุมพินี เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายที่ 1 สืบเนื่องจากบาดแผลกระสุนปืน ขนาด.223 นิ้ว หรือ 5.56 มิลลิเมตร ทำลายเส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ ผู้ตายที่ 2 เสียชีวิตเนื่องจากบาดแผลกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาดทะลุหัวใจและตับทำให้เสียเลือดมาก โดยวิถีกระสุนมาจากฝั่งถนนวิทยุหรือถนนพระราม 4 แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ ส่วนเหตุและพฤติการณ์การตายของผู้ตายที่ 3 เนื่องจากกระสุนปืนขนาด .223 นิ้ว หรือ 5.56 มิลลิเมตรทำลายสมองโดยมีวิถีกระสุนมาจากบริเวณด้านหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”
“นายถวิล คำมูล”
ถวิล คำมูล ศพแรก 19 พ.ค.53 บริเวณศาลาแดง ข้างตึก สก. รพ.จุฬาลงกรณ์
ศาลศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56
“เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ วิถีกระสุนมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าใครลงมือ”
“นายสมชาย พระสุพรรณ”
นายสมชายถูกยิงเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 เชิงสะพานลอยคนข้าม ปากซอยปลูกจิต ใกล้ปั๊มน้ำมัน ปตท. ถ.พระราม 4 กทม.
ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56
“ถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาดที่บริเวณศีรษะ กระสุนปืนทำลายสมองรุนแรง ขณะอยู่ที่ปากซอยปลูกจิต ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม. ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการชุมนุมทางการเมือง โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”
“นายมานะ แสนประเสริฐศรี  และนายพรสวรรค์ นาคะไชย”
ทั้งสองถูกยิงเสียชีวิตบริเวณปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553
ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56  
“ทั้งสองถึงแก่ความตาย เพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนชนิดร้ายแรงและมีความเร็วสูง ขณะอยู่บริเวณใกล้ปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
“ชายไม่ทราบชื่อ”
ชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53
ศาลมีคำสั่งเมื่อ 17 ก.พ.57  
“ผู้ตายคือชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ถึงแก่ความตายที่ถนนราชดำริ หน้าอาคาร สก. รพ.จุฬาฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 10.00 น. เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทะลุเข้ากะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมอง ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าถนนราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ”
"นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และนายประจวบ ประจวบสุข"
ทั้งสองถูกยิงเสียชีวิตบริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 ถนนพระราม 4 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. 
ศาลมีคำสั่งเมื่อ 17 มี.ค.57
"ผู้ตายที่ 1 คือ นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และผู้ตายที่ 2 คือ นายประจวบ ประจวบสุข ถึงแก่ความตายที่ ร.พ.เจริญกรุงประชารักษ์ เพราะเหตุถูกยิงด้วยปืนขนาด .223 (5.56 ม.ม.) โดยผู้ตายที่ 1 ถูกยิงเข้าที่ด้านหลัง ใต้สะบักซ้าย ส่วนผู้ตายที่ 2 ถูกยิงเข้าที่หน้าอกด้านซ้าย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 ถนนพระราม 4 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง"
“นายนรินทร์ ศรีชมภู”
ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เวลาประมาณ 8.00 – 9.00 น. โดยถูกยิงเข้าที่ศีรษะ บริเวณทางเท้าหน้าคอนโดมิเนียมบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ (ใกล้เคียงกับจุดที่ฟาบิโอ ช่างภาพอิตาลีถูกยิง)
ศาลมีคำสั่งเมื่อ 25 มี.ค.57
“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงบริเวณศรีษะ กระสุนปืนทำลายสมองด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในการเข้าควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งไปทางแยกราชดำริ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”

ความคืบหน้ากรณีอื่นๆ

ส่วนความคืบหน้าคดีไต่สวนการตายกรณีอื่นๆ นั้น เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ดีเอสไอระบุว่าได้ส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ ไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพิ่มเติมอีก 5 ศพ คือ นายธนโชติ ชุ่มเย็น นายวงศกร แปลงศรี นายเฉลียว ดีรื่นรัมย์ โดยทั้ง 3 ราย เหตุเกิดที่ถนนพระราม 4 และอีก 2 ราย คือ นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ และนายอำพน ตติยรัตน์ เหตุเกิดที่ถนนตะนาวและถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ทั้ง 5 ศพนี้มีพยานหลักฐานน่าเชื่อได้ว่าเป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในขณะนั้น
ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ส่งให้สำนวนชันสูตรพลิกศพให้บช.น.พิจารณาไปแล้ว 12 ศพ ประกอบด้วย 1.น.ส.สัญธะนา สรรพศรี อายุ 32 ปี 2.นายกิตติพันธ์ ขันทอง อายุ 25 ปี 3.นายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ อายุ 17 ปี วัยรุ่นนักกิจกรรมทางสังคม 4.นายอำพล ชื่นสี อายุ 25 ปี 5.นายอุทัย อรอินทร์ อายุ 39 ปี 6.นายสุภชีพ จุลทัศน์ อายุ 36 ปี 7.นายมนูญ ท่าลาด อายุ 44 ปี 8.นายธันวา วงศ์ศิริ อายุ 26 ปี 9.นายสรไกร ศรีเมืองปุน อายุ 34 ปี 10.นายบุญทิ้ง ปานศิลา อายุ 25 ปี 11.นายทิพเนตร เจียมพล อายุ 32 ปี และ 12.นายเหิน อ่อนสา อายุ 40 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น