วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เพจเฟซบุ๊กชื่อ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ต้องรับผิดชอบ

 

ประมวลวิวาทะ เมื่องานวิชาการของ "กิตติศักดิ์ ปรกติ" เหมือนกับผลงานของโปรเฟสเซอร์เยอรมัน?

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 23:52:13 น.




เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ของช่าง 11 ได้เผยแพร่ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Wuttipong Pongsuwan มีรายละเอียดดังนี้

ไม่อยากเชือ แต่มีคนส่งมาให้

กิตติศักดิ์ ปรกติ นักวิชาการคนดังของ กปปส ก็เคยมีผลงาน "ขโมย" งานของคนอื่นมาเป็นของตัวอย่างไม่ละอายใจมาแล้วนะครับ ช่างเป็นคนดีเสียจริงๆ (เอางานของโปรเฟสเซอร์เยอรมันที่ตายไปแล้ว มาใส่ชื่อตัวเอง คนตายโวยไม่ได้ แต่มีคนรุ่นหลังไปค้นพบมา ความลับไม่มีในโลก)

1. นี่คือต้นฉบับของ Professor Peter Schlechliem

2.นี่คือบทความของ Kittisak Prokati ที่เหมือนกันทุกอย่าง (แม้แต่คำขึ้นต้นขอบคุณ) เปลี่ยนแต่ชื่อคนเขียน

(หมายเหตุมติชนออนไลน์ ถ้าไม่สามารถคลิกอ่านบทความในลิงก์ด้านบนได้ สามารถคลิกอ่านได้ที่http://www.mediafire.com/view/jtb2ddrwj58iv86/CISG_MaeKongLawCenter.pdf)

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายกิตติศักดิ์ ปรกติ นักวิชาการประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ถูกพาดพิง ได้ชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊ก Kittisak Prokati ว่า 

เรื่อง lecture notes ว่าด้วยอนุสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ (CISG) ที่ ดร. วุฒิพงศ์ พงษ์สุวรรณ (Wuttipong Pongsuwan) นำมาเผยแพร่นี้ ผมขอเรียนชี้แจงดังนี้ครับ

๑. Lecture notes ที่มีผู้นำมาเผยแพร่อยู่นี้เป็นเอกสารที่ผมได้ทำขึ้นจริงเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๔ และผิดจริงที่ไม่ได้ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นงานของอาจารย์ Schlechtriem ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง CISG ของเยอรมันซึ่งเป็นอาจารย์ของผมทั้งหมด

๒. อย่างไรก็ดี งาน Lecture notes นี้ ทำขึ้นเพื่อใช้เฉพาะสำหรับอ่านให้นักศึกษาจากกัมพูชา และเวียดนามฟังในการบรรยายเรื่องนี้ ไม่ได้ใช้พิมพ์เผยแพร่ โดยผมได้ชี้แจงแก่ผู้ฟังว่าทำขึ้นโดยอาศัยเนื้อหาที่เป็นผลงานของอาจารย์ Schlechtriem ที่นำมาใช้ในการเรียนก็เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจกฎหมายเปรียบเทียบกับระบบประมวลกฎหมายในลุ่มน้ำโขงใช้ภาษาง่ายและอธิบายเป็นระบบที่สุดโดยผมได้แจ้งให้ผู้ฟังทราบว่า คำสอนที่ใช้นี้เป็นงานของอาจารย์ Schlechtriem และแนะนำให้ผู้สนใจค้นคว้าเพิ่มเติมในรายละเอียดรออ่านจากหนังสือของอาจารย์ท่านนี้ ซึ่งขณะนั้นผมมีแต่ฉบับภาษาเยอรมัน ส่วนฉบับภาษาอังกฤษยังไม่มีในบ้านเรา

๓. ในฐานะที่อาจารย์ Schlechtriem เป็นกรรมการยกร่างอนุสัญญา CISG และให้ความเมตตาแก่ผมในฐานะคนต่างชาติให้ได้พบกันอยู่เสมอ ต่อมาเมื่อท่านเป็นนายกสมาคมกฎหมายเปรียบเทียบของเยอรมันที่ผมเข้าร่วมงานเป็นประจำก็ได้กระตุ้นเตือนให้ผมช่วยเผยแพร่งานด้านนี้เสมอมาอาจารย์ท่านนี้เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๑

๔. การทำสำเนาเอกสารนี้ไว้ ก็คงเนื่องมาจากงานชิ้นนี้ ได้รวมอยู่ในแฟ้มรวมผลงานประจำปี ๒๕๔๔ ซึ่งผมรวบรวมส่งให้คณะฯ ประกอบรายงานการบรรยายพิเศษในแต่ละปี โดยผมขอยอมรับว่าผิดเอง ที่ไม่ได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะกำลังเก็บกวาดสำนักงานระหว่างจะต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลา ๑ ปี เป็นเหตุให้ต่อมาถูกทักท้วง ซึ่งผมจึงได้ชี้แจงต่อผู้บังคับบัญชา และขอถอนงานนี้ออกมา โดยให้ถือว่าเป็นความผิดของผม

๕. ผมเห็นว่าการอ้างงานของผู้อื่นเป็นของตัวนั้น เป็นความผิด แต่ที่ชี้แจงมานี้ก็เพื่อให้ท่านที่สงสัยได้ทราบว่า กรณีนี้มีพฤติการณ์เป็นมาอย่างไร โดยไม่ขอปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้แต่อย่างใด ขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่สละเวลารับฟังคำอธิบายในความบกพร่องของผมในเรื่องนี้ และผมได้ถือเป็นอุทาหรณ์และเกิดระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่บทความผ่านทางเว็บไซต์ประชาไท (http://www.prachatai.com/journal/2014/05/53132)  มีเนื้อหาว่า 

ตอบอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติกรณี Lecture Notes เรื่อง อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องซื้อขายระหว่างประเทศ (CISG)

ผมชั่งใจอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานหลายปีแล้ว และหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ผมก็ไม่เคย take action ต่อเลยเพราะถือว่าผมทำหน้าที่ของผมเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้เกิดประเด็นสงสัยเกี่ยวกับงานเขียนของ อ. กิตติศักดิ์ ปรกติชิ้นหนึ่งใน social media และผมอ่านคำชี้แจงของ อ.กิตติศักดิ์ทาง facebook แล้วเห็นว่า สมควรมีคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้สาธารณชนได้ข้อมูลและความเห็นในมุมของผมดังนี้ครับ

ตอนที่ผมเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการประจำคณะกับอาจารย์รุ่นพี่อีก 2 ท่านเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบภาระงาน (workload) ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยงานสอน งานกรรมการและงานเขียน เพื่อประเมินความดีความชอบประจำปี ในปีนั้น อ.กิตติศักดิ์ส่งมาช้าเลยเวลาที่กำหนดไว้แต่กรรมการก็ไม่ serious ผ่อนผันให้ ตอนที่ผมตรวจเป็นการตรวจงานของอาจารย์ที่ส่งมาทีหลัง อาจารย์ท่านอื่นๆ ตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมจำได้ว่า อ.กิตติศักดิ์ส่งงานเขียนมามากสูงเท่าศอก ถ้าจำไม่ผิดมีทั้งภาษาไทย เยอรมันและอังกฤษ การตรวจงานเริ่มจากอาจารย์ผู้ใหญ่สองท่านก่อน ผมเข้ามาใหม่ตรวจคนสุดท้าย อาจารย์ 2 ท่านก็อ่านๆๆๆและก็ส่งต่อๆมา ผมก็อ่านๆ ๆละเอียดบ้างไม่ละเอียดบ้างพลิกไปพลิกมา ในใจเวลานั้นผมยังชม อ.กิตติศักดิ์ว่า ผลงานเยอะจริงๆ อาจารย์แกคงขยันมาก อ่านไปสักพักผมก็มาสะดุดงานชิ้นหนึ่งที่ผมใช้เวลาอ่านสักไม่ถึงนาทีผมก็บอกกับกรรมการว่า "ผมคุ้นๆ กับงานชิ้นนี้" อาจารย์ 2 ท่านมองหน้าผมด้วยตาเขม็ง มีสีหน้าสงสัย ผมก็ย้ำอีกว่าผมคุ้นๆ ว่าเคยอ่านบทความนี้น่ะ แล้วผมก็บอกอาจารย์ทั้งสองว่ารอแป็บนึง เผอิญห้องที่ตรวจงานใกล้กับห้องผม เพื่อความแน่ใจเพราะการตรวจงานเขียนที่มีพิรุธต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนแน่นอน ผมก็ไปห้องผมเอาบทความของ Professor Peter Schlechtriem มาให้อาจารย์ทั้งสองท่านดู อาจารย์ท่านหนึ่งยังเปรยๆขึ้นว่า อาจารย์เยอรมันอาจลอก อ.กิตติศักดิ์ก็ได้ หรืออาจใกล้เคียงกันก็ได้ (ต่างคนต่างเขียนเผอิญคล้ายกันพอดี) ผมก็เลยยื่นต้นฉบับให้ดู อาจารย์ทั้งสองอ่านสักครู่ ก็ไม่พูดอะไร บอกแต่เพียงว่าให้ทำเป็นข้อสังเกตและให้ผมเป็นผู้ชี้แจงในที่ประชุมตอนพิจารณาความดีความชอบประจำปี ขั้นตอนนี้ผมจะข้ามไปไม่อยากกล่าวถึงในรายละเอียด ต่อไปนี้คือความเห็นผม

1. หลายคนสงสัยมาถามผมรู้ได้อย่างไร เพราะมีบทความเกี่ยวกับ CISG เป็นพันชิ้น เหตุผลที่ผมทราบมีสองประการ คือ ประการแรก ผมเพิ่งอ่านบทความนี้ประมาณ 3-4 อาทิตย์ก่อนตรวจงานของ อ.กิตติศักดิ์ ฉะนั้นข้อความสำนวนและเนื้อหายังติดตาอยู่ ประการที่สอง ผมอ่านบทความของ อ.กิตติศักดิ์แป็บเดียวก็รู้ว่า "ผิดปกติ" เพราะเชิงอรรถตัวเลขมีกรอบสี่เหลี่ยม ต้นฉบับก็เป็นสี่เหลี่ยม ผมคิดเอาเองว่าเทคนิคนี้น่าจะมาจากการคลิ๊ก copy select all (คนใช้ program word จะเข้าใจ) หรือไม่ก็รูดเมาส์ copy ลงมา จากนั้นก็มา paste ใหม่ ด้วยวิธีการนี้ "เชิงอรรถ" ก็เลยติดมาทั้งดุ้นจาก Internet

2. อ.กิตติศักดิ์ได้เปลี่ยนชื่อบทความ เปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนจาก "เยอรมัน" เป็น "ไทย" แล้วก็รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และงานชิ้นนี้อาจารย์ไปนำเสนอในงานที่ประชุมระหว่างประเทศแห่งหนึ่งด้วย แต่ที่สำคัญที่สุดและร้ายแรงที่สุดคือ อ. กิตติศักดิ์เปลี่ยนชื่อเจ้าของบทความจาก "Professor Peter Schlechtriem" มาเป็น "Kittisak Prokati" คำชี้แจงที่ว่าเป็นเรื่องของผู้ช่วย Teaching assistance หรือ "ผมรีบร้อนไม่ทันระมัดระวัง" หรือความผิดพลาดทางเทคนิคอะไรทำนองนี้นั้น ผมว่าฟังไม่ขึ้น เรื่องแบบนี้ ผมว่า TA ไม่มีความสามารถและไม่กล้าทำแน่นอน ส่วนที่บอกว่ารีบร้อน ไม่ดูให้ดีนั้น ผมสงสัยว่า "รีบร้อนตอนทำ" หรือ "รีบร้อนตอนส่งให้คณะกรรมการตรวจ" แต่ไม่ว่าจะรีบร้อนตอนไหนก็ตาม ก็ไม่ถูกอยู่ดี คนจะทำแบบนี้ได้ต้องใช้เวลาอ่านเพื่อที่จะหาช่องว่าจะแก้ไขจะเพิ่มคำไหนจะลบคำไหนดี ถ้ารีบร้อนทำไม่ได้แน่นอน

3. ที่ อ.กิตติศักดิ์ชี้แจงว่า ต้องการเผยแพร่ผลงานของ Professor Peter Schlechtriem คำถามมีว่าถ้าต้องการเผยแพร่ผลงานของ Prof. Schlechtriem จริง ทำไมต้องแก้ชื่อเจ้าของบทความจาก "Professor Peter Schlechtriem" มาเป็นของตนเองแทน อีกอย่างการสัมมนาหรือการเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอนก็สามารถแจกเอกสารประกอบซึ่งเขียนโดยนักวิชาการท่านอื่นได้เป็นปกติทั่วไปได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องแจกงานเขียนของตนเอง ทำไมไม่เลือกวิธีการนี้?

จริงๆ ผมมีข้อสังเกตมากกว่านี้แต่ไม่อยากเขียน สุดท้ายผมขอกล่าวว่า กรณีของ อ.กิตติศักดิ์ ไม่ใช่เป็นรายแรกและรายสุดท้าย งานเขียนวิชาการที่ดีต้องใช้เวลา ใช้ความอุตสาหะ หมกตัวเองอยู่ในห้องสมุด ทั้งค้นคว้าทั้งอ่าน rewrite หลายรอบ ทำงานอย่างโดดเดี่ยวมีวินัย (โดยเฉพาะการทำ citation) ขั้นตอนเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่ผู้คนทั่วไปไม่เห็น ไม่โด่งดัง ผมเชื่อว่ามีนักวิชาการที่ดีหลายท่านผ่านขั้นตอนนี้  (แม้ว่านักวิชาการที่ดีจำนวนมากไม่ดังทางสื่อก็ตาม) แต่นักวิชาการบางคนไม่อยากผ่านขั้นตอนนี้ แต่อยากได้รับการยอมรับเร็ว อยากมีผลงานเขียนเร็วๆมากๆ จึงใช้วิธีการทางลัดรวดเร็วทันใจดี แต่ไม่ยั่งยืนและที่สำคัญขาดความภาคภูมิใจในผลงานของตนเองครับ

ล่าสุด มีผู้สร้างเพจเฟซบุ๊กชื่อ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ต้องรับผิดชอบ โดยมีผู้คลิกไลค์เพจดังกล่าวแล้ว เกิน 1 พันคน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น