วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

รายการสมทบเพื่อผู้ไม่จำนนต่อ 112 : บัญชีการบริจาค ชื่อบัญชี ประเวศ ประภานุกูล ธนาคารกสิกรไทย สาขาบิ๊กซี รามอินทรา เลขที่บัญชี 864-2-07040-2 โดยระบุว่า "สมทบกองทุนผู้ลี้ภัย 112"

 

วันอังคาร, มีนาคม 25, 2557

บินสู่อิสรภาพ....แด่ "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล" ทุกท่าน


โดย ลูกเสือหมายเลข9
ที่มา  oknation.net

ยามเช้า ....

       .....ดวงตะวันใหม่สดใสส่องแสงสีทองทอดทาบระลอกทะเลที่สงบเยือกเย็น เรือตกปลาลำหนึ่งจอดลอยอยู่ห่างจากชายฝั่งหนึ่งไมล์ ส่งสัญญาณให้อาหารนกกระจายขึ้นไปในอากาศ และแล้วฝูงนางนวลจำนวนพันก็โผบินเข้ามาแย่งอาหารกันกิน  วันแห่งความสับสนอีกวันหนึ่งก็เริ่มขึ้น......   

       แต่ไกลออกไปจากชายฝั่งและเรือ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล กำลังฝึกบินอยู่เดียวดาย 

        มันบินสูงขึ้นไปในท้องฟ้าหนึ่งร้อยฟุต ลดเท้าที่ติดกันลง เชิดปากขึ้น และกระชับปีกเข้าหากันเพื่อหักมุมเลี้ยวที่แสนยากเย็น เมื่อมันเลี้ยวโจนาธานก็บินได้ช้าลง และเมื่อมันบินช้าๆ สายลมก็พัดผ่านหน้าราวกับเสียงกระซิบ เบื้องล่างท้องทะเลดูสงบนิ่ง 

       โจนาธานหรี่ตาตั้งสติแน่วแน่กลั้นหายใจ แล้วก็บังคับให้ตัวหักมุมเลี้ยว….อีกหนึ่งนิ้วฟุต…

       แต่แล้วขนของมันก็กระจุย มันชงักเสียหลักตกลงมา  


 นี่คือบทเริ่มต้น...ในหนังสือเรื่อง"โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล" แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

        เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมชอบ...และเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องการคิดนอกกรอบ(ของใครหลายคน)


 ความจริงแล้ว เรื่องของโจนาธาน ผมอ่านฉบับแปลโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อนอ่านของอ.ชาญวิทย์ด้วยซ้ำ

       หม่อมคึกฤทธิ์ใช้ชื่อหนังสือว่า "จอนะธัน ลิฟวิงสตัน นางนวล"


       ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขียนคำนำว่า "...เมื่ออ่านแล้วเกิดความจับใจในธรรมะที่ได้แสดงไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีทั้งมนุษยธรรมและธรรมอันเป็นความจริงแห่งชีวิตซึ่งตรงตามที่พระพุทธเจ้าผู้ซึ่งเป็นพระบรมศาสดา และสรณะของผมได้ทรงแสดงไว้เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วมากมายหลายอย่าง..."

       ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนต่อว่า "...คนที่ผมอยากให้อ่านหนังสือเล่มนี้คือคนไทยทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิตนักศึกษาและนักเรียน เพราะจะได้กำลังใจในอันที่จะเล่าเรียนและทำประโยชน์ต่อไปได้มาก สำหรับคนที่เคยได้เล่าเรียนวิชาจากผมโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นวิชาใด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใด และไม่ว่าจะมากหรือน้อย ผมขอถือโอกาสนี้ส่งข่าวมาให้ทราบว่า...


        
"ผมอยากให้คุณอ่านหนังสือเล่มนี้ทุกคน จะอ่านจากภาษาอังกฤษหรืออ่านจากคำแปลนี้ก็ได้ แต่ขอให้อ่านให้ได้ และในการอ่านนั้น ขอให้โปรดใช้ความคิดให้มากประกอบไปด้วย อย่าอ่านเพียงสักแต่ว่าผ่านสายตาไป นกนางนวลมันรักศิษย์ของมันฉันใด ผมก็รักพวกคุณทุกคนฉันนั้น"

       
".....สิ่งที่ทำให้ นางนวล โด่งดังขึ้นมาคงจะเป็นความง่ายของหนังสือเป็นประการแรก หนังสือเล่มนี้ง่ายในความหมายที่ว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่อ่านได้สบายๆ ในขณะเดียวกันก็แฝงปรัชญาความคิดเอาไว้ด้วย ลักษณะของหนังสือเป็นเรื่องผสมผสานกันระหว่างความเก่าและความใหม่ ความใหม่ที่แทรกเข้ามาก็คือ ความทันสมัยและวิทยาศาสตร์ในรูปของ Science Fiction คือ เรื่องของการบินเร็วและสามารถจะ บินได้เร็วเท่าความคิด นอกเหนือไปจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ประทับใจคนอ่านก็คือ อิสระเสรีภาพ  คนอ่านไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามมีอิสระที่จะตีความหนังสือเล่มนี้ได้ตามใจชอบดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยอะไรเลย ที่มีคนตีความว่าปรัชญาของนางนวล เป็นฮินดูบ้างเป็นพุทธศาสนาบ้าง เป็นคริสตศาสนานิกาย Christian Science บ้าง หรือแม้กระทั่งว่าเป็นปรัชญาเก๊ๆ ก็มี ..."

       ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนไว้ใน"คำตาม"


       หนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงโจนาธาน นกนางนวลที่ชอบ"แหกคอก" ด้วยการ"ฝึกบิน"

       เพราะสำหรับนกนางนวลนั้น พวกมันบินเพื่อหาอาหาร


       "ทำไมนะ จอน ทำไม" แม่ถามขึ้น "ทำไม่มันยากนักรึที่จะทำตัวให้เหมือนนกอื่นๆ ในฝูง หือ จอน ทำไมแกไม่ปล่อยให้การบินระดับต่ำเป็นเรื่องของนกเพลิแกน หรือนกอัลบาทรอส แล้วทำไมแกไม่กินซะบ้าง จอน แกน่ะเหลือแต่กระดูกและขน!"  

       
"แม่ ฉันไม่กลัวที่จะเหลือแต่กระดูกและขนฉันเพียงแต่อยากรู้ว่าเมื่อฉันอยู่ในอากาศ ฉันจะทำอะไรได้หรือทำไม่ได้ ฉันเพียงแต่อยากรู้เท่านั้นเอง" 

      
 "นี่นะโจนาธาน" พ่อพูดขึ้นอย่างไม่ไร้ความปรานี "หน้าหนาวก็ไม่ไกลนัก แล้วเรือหาปลาเหลือไม่กี่ลำ และปลาผิวน้ำก็จะว่ายลงสู่น้ำลึก ถ้าแกจะต้องเรียนรู้ แกก็ต้องเรียนรู้เรื่องอาหาร และก็หาอาหารกินให้ได้ เรื่องการบินนี่นะดีอยู่หรอก แต่แกก็น่าจะรู้ว่าการบินการร่อนกินเข้าไปไม่ได้ อย่าลืมว่าเหตุที่แกบินก็เพื่อเอาไว้หากิน"   

       โจนาธานพยักหน้ารับอย่างเชื่อฟัง


       อย่างไรก็ตาม เมื่อ"ลับหลังพ่อและแม่...โจนาธานก็แหกคอก หลังจาก(พยายาม)ทำตัวเหมือนนกนางนวลตัวอื่นๆ นั่นคือส่งเสียงร้อง สู้ ร่อนลงแย่งเศษปลาและขนมปังกับฝูงนกที่ท่าน้ำและเรือตกปลา 

       โจนาธานคิดว่าการทำเช่นนั้น ไม่มีจุดหมาย บ่อยครั้งที่มันยอมทิ้งปลาแห้ง(ซึ่งหามาได้อย่างยากเย็น)ให้กับนกนางนวลแก่ๆที่หิวโหย


       โจนาธานคิดว่ามันควรจะใช้เวลาทั้งหมดในการฝึกบิน เพราะมีอะไรมากมายที่จะต้องเรียนรู้ 

       ไม่นานต่อมา โจนาธาน สามารถบินได้เร็วถึง 90 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งนั่นเป็นการทำลายสถิติความเร็วในหมู่นกนางนวล!!!


       สิ่งที่โจนาธาน"เรียนรู้"หลังฝึกบินก็คือ นกนางนวลไม่บินยามค่ำและบินเร็ว เพราะหากเป็นเช่นนั้น ธรรมชาติก็จะต้องให้มีตาเหมือนนกฮูก และมีปีกสั้นเหมือนนกเหยี่ยว


       แต่เมื่อต้องการเรียนรู้...โจนาธาน จึงทดลองทำ...ทุกอย่าง


       จึงไม่น่าเชื่อว่า โจนาธานสามารถบินได้เร็วถึง 210 ไมล์ต่อชั่วโมง และขยับเป็น 214 ไมล์ต่อชั่วโมงในเวลาต่อมา!!!

       สุดท้าย โจนาธานถูกขับออกจากฝูง...เพราะถือว่าเป็นการสร้าง"ความอับอาย"ในการเป็นนกนางนวล


       
"…สักวันหนึ่ง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล แกจะรู้ว่าการไร้ความรับผิดชอบไม่มีประโยชน์อะไร ชีวิตเป็นเรื่องลี้ลับ และจะเรียนรู้ไม่ได้ เรามาอยู่ในโลกนี้เพียงเพื่อกิน และพยายามมีชีวิตอยู่ให้ยืนยาวเท่าที่เราจะทำได้"  นางนวลผู้เป็นใหญ่พูด

       ต่อมา...โจนาธาน พบกับนางนวลฝูงใหม่ 

       ซึ่งที่นี่ โจนาธาน พบกับ"เจียง" นางนวลเฒ่า ที่บอกโจนาธานด้วยความเมตตา 
"ว่าไงลูก..เธอกำลังเรียนรู้อีกแล้วนางนวลโจนาธาน" 

       รวมทั้งได้พบ นางนวลซัลลิแวน นางนวลเฟลทเชอร์ ลินด์ นางนวลเมย์นาร์ด นางนวลโลเวล นางนวลชาลส์-โรแลนด์


       ทั้งหมดคือ"เพื่อน"...ในการเรียนรู้ของโจนาธาน


       "กฎที่แท้จริงอันเดียวคือ กฎที่นำไปสู่อิสระเสรีภาพ" บทสรุปของโจนาธาน

       และผมถือว่าเป็นบทสรุปที่"สุดยอด" ...สำหรับการอ่านหนังสือเล่มนี้



 นอกจากหนังสือเล่ม โจนาธาน เคยเป็นภาพยนตร์ และมีเพลงที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากเพลงหนึ่ง

       ผมนำเพลง BE ..ของนีล ไดมอนด์ มาฝากครับ

BE

Lost ...... 

On a painted sky 

Where the clouds are hung 
For the poet's eye, 
You may find him. 
If you may find him.

There..... 

On a distant shore, 

By the wings of dreams. 

Through an open door. 
You may know him, 
If you may

Be..... 

As a page that aches for a word 

Which speaks on a theme that is timeless 

And the one God will make for your day 
Sing.... As a song in search of a voice that is silent 
While the Sun God will make for your way



And we dance 

To a whispered voice 

Overheard by the soul 
Undertook by the heart 
And you may know it 
If you may know it

While the sand 

Would become the stone 

Which begat the spark 

Turned to living bone 
Holy, holy Sanctus, sanctus

Be.... 

As a page that aches for a word 

Which speaks on a theme that is timeless 

And the one God will make for your day 
Sing..... As a song in search of a voice that is silent


 

ooo

ภาพ วาวา รักยิ่ง

.. ร่างกายของเธอทั้งหมดจากปลายปีกหนึ่งสู่อีกปีกหนึ่งไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากความคิดของเธอเอง ….
...

หมายเหตุไทยอีนิวส์...
ท่านสามารถอ่านเรื่องราวของ "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล" เพิ่มเติมได้ที่...

กลุ่มดาวดินแต่งคนป่าฟ้องศาลปกครอง ยัน 'ผู้ตรวจการฯ' ไม่มีอำนาจยื่นเลือกตั้งโมฆะ


ที่มา ประชาไท

แต่งคนป่าล้อเลียน ศาล รธน.ตัดสินทำประชาธิปไตยไทยล้าหลัง ชี้ผู้ตรวจการแผ่นดินชงเรื่องเลือกตั้งโมฆะกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จวกเป็นการรัฐประหารจากองค์กรอิสระ พร้อมยันการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ไม่เป็นโมฆะ เหตุศาล รธน.วินิจฉัยแค่การกำหนดวันเลือกตั้ง จี้ กกต.เร่งจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตที่เหลือ

24 มี.ค. 2557 เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ที่ศาลปกครองภาค 4 จังหวัดขอนแก่น กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) และเครือข่ายนักกิจกรรมชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา (ชนพ.) เกิดทางเข้ายื่นฟ้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เรียกค่าเสียหายจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว (คลิกอ่านข่าวเก่า) ระบุผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจหน้าที่ในการนำเรื่องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจในการรับพิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 สรุปว่า เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไปแล้ว ปรากฏยังไม่มีการจัดการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัครการเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าในวันดังกล่าวมิได้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนการที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ 2 ก.พ.ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เป็นผลให้ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 108 วรรคสอง


จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ประสานงานกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผล คือ 1.ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้อง ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับพิจารณาคำร้องดังกล่าวด้วย

2.พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นั่นคือ วันที่ 2 ก.พ. 2557 หลังจากการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่วันที่ 9 ธ.ค. 2556 ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 108 กำหนดแล้ว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเฉพาะบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 นั่นหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย

3. เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายจากฝ่ายมวลชนอนุรักษ์นิยมไปขัดขวางหรือปิดคูหาการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิทางการเมืองตามที่กฎหมายกำหนดได้ และ กกต.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในการการจัดการเลือกตั้ง แต่กลับมีความพยายามหาช่องทางที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับ “การปฏิบัติตามกฎหมาย” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติกฎหมาย

“สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนการรัฐประหารจากองค์กรอิสระ การตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ จะนำไปสู่ทางตันของการเลือกตั้งครั้งหน้า และจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต” จตุภัทร์กล่าว   

จตุภัทร์ กล่าวด้วยว่า การฟ้องครั้งนี้ไม่ได้หวังผลทางกฎหมายเพราะหมดศรัทธากับกระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่ทางกลุ่มต้องการแสดงสิทธิการเมือง ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกเพื่อให้สังคมรู้ว่ามีคนที่ทนไม่ได้กับการใช้กระบวนการยุติธรรมทำลายประชาธิปไตย จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ กกต.หอบหีบเลือกตั้งหนีประชาชน ส่วนองค์กรอิสระก็ชงเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึงเขารู้สึกว่าเหมือนเป็นกระบวนการปฏิวัติเงียบที่ลิดรอนอำนาจของประชาชน

ส่วนกรณีที่ยื่นฟ้องผู้ตรวจการแผ่นดิน จตุภัทร์ กล่าวว่า เพราะต้องการให้สังคมได้มองเห็นผู้เล่นหลักอีกตัวหนึ่ง ซึ่งทำให้การเดินหน้าของกระบวนการประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง

ทั้งนี้ ตามเอกสารคำฟ้อง ระบุชื่อ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ตามลำดับ พร้อมระบุว่า

หากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต้องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเท่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (2)

ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ และเคยเป็นอาจารย์สอนวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ย่อมมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี และย่อมเข้าใจอำนาจหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (1) และ (2) อยู่แล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยังคงยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 จึงเป็นการการจงใจดำเนินการโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการนอกขอบอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


แต่งคนป่าล้อเลียน คำตัดสินศาล รธน. ชี้ทำประชาธิปไตยไทยล้าหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว กลุ่มดาวดินและนักศึกษากลุ่ม ชนพ.ยังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์คัดค้านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่หน้าตึกที่ทำการศาลปกครอง เริ่มจากมีคน 6 คน เขียนหน้าเป็นตัวตลกและแต่งตัวเป็นคนป่า ล้อเลียนการทำงานของศาลที่มีความล้าหลังไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ต่างกับยุคคนป่า และต่อมามีคนใบหน้าโศกเศร้า 4 คน เข้ามาชูบัตรประชาชนขึ้นยืนนิ่งพร้อมถือป้ายที่มีข้อความว่า “เลือกตั้ง 2 กุมภาเป็นโมฆะ” เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐหารได้เกิดขึ้นแล้วแม้ไม่ได้เกิดจากปลายกระบอกปืนแต่เกิดจากองค์กรอิสระ


กิจกรรมสุดท้ายมีการล้อเลียนกระแสนายกคนกลาง โดยมีชายใส่หน้ากากซุปเปอร์ฮีโร่ปิดใบหน้า และถอดเสื้อโดยภายในเสื้อแสดงสัญญาลักษณ์ของซุปเปอร์แมนแต่เขียนคำว่า “มาตรา 7” แต่ถูกชูป้ายข้อความว่า  “ไม่เอานายกคนกลาง ประเทศไทยไม่ต้องการ Hero” เป็นการแสดงออกถึงความคิดที่ไม่ต้องการนายกคนกลางที่ไม่ได้มาจากกระบวนประชาธิปไตย

นางสาว จุฑามาส  ศรีหัตถผดุงกิจ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) กล่าวว่ากิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นการต่อต้านความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงเป็นคนป่า ในบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงที่บ่งบอกถึงความล้าหลังของคำวินิจฉัยที่ออกมา การแสดงละครใบ้ ที่แสดงถึงการถูกลิดรอนสิทธิโดยไม่รู้ตัว แต่ก็พร้อมที่จะสู้ด้วยวิถีแห่งประชาธิปไตย

และสุดท้ายคือ การออกมาของ “ฮีโร่” ที่จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมานั้น ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้ช่วยให้ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยเจริญงอกงามขึ้นแต่อย่างใด  ซึ่งวิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่ สงบ สันติ อหิงสา อย่างแท้จริง


จากนั้น กลุ่มผู้ทำกิจกรรมได้อ่านแถลงการณ์ประกาศจุดยืนของกลุ่ม โดยระบุว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่เป็นโมฆะ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวินิจฉัยแต่เพียงว่าการกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 ตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น ส่วน กกต.จะต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตที่เหลือซึ่งยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

พร้อมยื่นยัน ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบไม่ว่าโดยทหารหรือองค์กรอิสระ หรืออำนาจนอกระบอบใดๆ และสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ต้องการนายกคนกลางหรือนายกพระราชทานซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน


แถลงการณ์ กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)

จากสถานการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ตามพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ และต่อมาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 6 ต่อ 3 เสียง ให้พระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรค 2 นั้น พวกเรา (ดาวดิน) ได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่แบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนระหว่าง ฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษ์นิยม พวกเราขอแสดงเจตนาทางการเมืองว่าไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังนี้

1. ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาด้วย

2. พระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นั่นคือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หลังจากการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 108 กำหนดแล้วซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเฉพาะบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 นั่นหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย

3. เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายจากฝ่ายมวลชนอนุรักษ์นิยมไปขัดขวางหรือปิดคูหาการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิทางการเมืองตามที่กฎหมายกำหนดได้ และคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองคือการจัดการเลือกตั้ง แต่ กกต.กลับมีความพยายามหาช่องทางที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งเป็นการสิ้นเปลื้องงบประมาณแผ่นดิน 3,800 ล้านบาทโดยเปล่าประโยชน์ และถือเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง

ดังนั้น พวกเราขอประกาศจุดยืนว่า

1. การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่เป็นโมฆะ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวินิจฉัยแต่เพียงว่าการกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์2557 ตามพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น ไม่ใช่วินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

2.คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. จะต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งที่เหลือ ซึ่งไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

3.พวกเราขอต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบไม่ว่าโดยทหารหรือองค์กรอิสระ หรืออำนาจนอกระบอบใดๆ อันเป็นการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยโดยฝ่ายที่ไม่ต้องการประชาธิปไตย

4.พวกเราสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ต้องการนายกคนกลางหรือนายกพระราชทานตามมาตรา7 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

“การเลือกตั้ง” ไม่ได้แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย แต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ “การเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นกลไกขั้นพื้นฐานที่แสดงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ของประชาชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันตามหลักสิทธิมนุษยชน

ด้วยจิตคารวะ
                               
กลุ่ม เผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
เครือข่ายนักกิจกรรมชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา ( ชนพ. )
24 มีนาคม 2557

เปิดใจ เธอผู้ปีนรั้วเข้าคูหาเลือกตั้ง : สุวินันท์ ชัยปราโมทย์

 
http://www.youtube.com/watch?v=qsWv4fEYV6s&feature=youtu.be

Published on Mar 24, 2014
ในงาน สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) แถลงข่าวคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนู­ญที่วินิจฉัยให้ พ.ร.ฎ.ยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.ไม่ช­อบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรค 2 โดยชี้ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวมีปัญหาความชอ­บธรรมทั้งทางการมืองและทางรัฐธรรมนูญ

ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 23 มีนาคม 2557

ooo

เสียงนกหวีดมีน้ำหนักกว่าหีบบัตรเลือกตั้ง

วันจันทร์, มีนาคม 24, 2557

คำชี้แจงต่อคำพาดพิงจาก "เสียงชาวบ้าน" โจมตีกองทุนผู้ประสบภัย 112

ทีมข่าวไทยอีนิวส์ขอชี้แจงหลังมีเสียงพาดพิงจากรายการ "เสียงชาวบ้าน" (ดูลิงก์)  โดยโจมตีว่า" เป็น "แก๊งค์เอ็นจีโอหากินทั้งในและนอกประเทศอ้างโดน112ตั้งกองทุนรับเงินบริจาค"

ยอดบริจาคทั้งหมดรับมาจำนวน 9 ครั้ง มาถึง ณ วันนี้ ยอดเงินรวมทั้งหมดเป็นเงิน 77,627.12 บาท มีการจ่ายออกทั้งหมด 12 ครั้ง โดยเอกสารสำคัญการสั่งจ่ายได้รับการดูแลผ่านคุณ ประเวศ ประภานุกูล โดยเป็นเงินเพื่อเป็นการใช้จ่ายทั่วไปรวม 9 ครั้ง รวม 54,569 บาท เป็นค่ายาและอาหาร 2 ครั้ง รวม 15,161 บาท และหนึ่งครั้งเป็นค่าอุปกรณ์สื่อสารราคา 8,000 บาท

กฏระเบียบในการดำเนินการสั่งจ่ายผ่านผู้ได้รับการมอบหมายหน้าที่จำนวน 2 ท่าน และจะได้รับการทำการตรวจสอบบัญชีภายในผ่านทางทีมไทยอีนิวส์ 

อนึ่ง ท่านสามารถย้อนหลังเหตุผลของการตั้งกองทุนนี้ได้ผ่านทางบทความด้านล่างนี้

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ
ทีมข่าวไทยอีนิวส์


ปากคำ3นักสู้ต้องห้าม เล็กจรรยา,น้าปรวย และสมชาย ภายหลังลี้ภัยไปสู่เสรีภาพไม่ก้มหัวให้ม.112 


พอมาถึงตอนนี้ที่เราได้รัฐบาลใหม่มาปีกว่าๆ ผมไม่คิดเหี้ยอะไรเลยนะเกี่ยวกับอนาคตประเทศ โอเคแม่งมีแหละภาพประเทศแบบที่เราหวัง แต่ผมว่าผมแม่งคงฝันเปียก เป็นประเทศอื่นฝ่ายประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยแม่งชนะเลือกตั้งถล่มทลายแบบนี้ แม่งประเทศคงเปลี่ยนฉิบหายเลยนะ กฏหมงกฏหมายอะไรที่แม่งไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญใต้อุ้งตีนทหารแม่งคงโดนเปลี่ยนหมด เพราะถือว่าอำนาจอยู่ในมือประชาชน แต่พอเป็นเมืองไทย ทุกอย่างแม่งนิ่งสนิท ไม่รู้ติดเหี้ยอะไร..?-น้าปรวยฯ

โดยทีมข่าวไทยอีนิวส์
19 ตุลาคม 2555

หมายเหตุไทยอีนิวส์:เราได้สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยการเมืองคดีมาตรา 112 ไปยังต่างประเทศ 3 รายคือคุณเล็ก-จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมด้านแรงงาน , น้าปรวย ซ้อลตี้เฮด นักสร้างภาพยนตร์โฆษณา และคุณสมชาย(นามสมมุติ)นักกิจกรรมการเมือง ทั้งสามเลือกหนทางลี้ภัยไปสู่เสรีภาพ ไม่ยอมสยบตกเป็นเหยื่อมาตรา112 และชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไรหลังจากตัดสินใจแบบนั้น มากกว่านั้นคือเขามองเข้ามาในประเทศนี้อย่างไร...


คุณได้ลี้ภัยการเมืองออกไปนอกราชอาณาจักรเมื่อใด และจากเหตุการณ์ใด


 
เล็ก จรรยา ยิ้มประเสริฐ

จรรยา: เราออกเดินทางเมื่อ 24 เมษายน 2553 เพื่อมานำเสนอปัญหาแรงงานเก็บเบอร์รี่และนำข้อเรียกร้องของคนงานมานำเสนอต่อรัฐบาลสวีเดน ฟินแลนด์ และไปพูดคุยปัญหาการค้าแรงงานไทยที่โปร์แลนด์ กับองค์กรแรงงานที่นั่น แต่เหตุการณ์การปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่รุนแรงและป่าเถื่อน ทำให้เราคิดว่า มันคงเลี่ยงที่ต้องพูดกันตรงๆ ถึงสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยได้อีกต่อไป และช่วงนั้นคดีมาตรา 112 ก็รุนแรงมากขึ้น ทำให้ตัดสินใจอยู่ที่ต่างประเทศเพื่อทำงานการเมืองไทยโดยไม่ต้องเซ็นเซอร์ และโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับมาตรา 112

ปรวย:  มันเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ ปลายเดือนพฤษภาปีเดียวกันนั่นเอง เจ้าหน้าที่ DSI ก็เข้าจับกุมตัวผมไปสอบสวนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยพยายามถามผมถึงความเกี่ยวโยงกับคนเสื้อแดง มีขนาดถามน้องสาวผมว่าผมมีเสื้อแดงมั้ย (ฮา) ภายหลังจากถูกจับกุมผมมาคิดได้ทีหลังว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะช่วงนั่นกระแส ผังล้มเจ้า กำลังมาแรง เจ้าหน้าที่ที่มาจับกุมผม เลยถามประหนึ่งว่าผมเป็นหนึ่งในขบวนการ แม้เขาจะบอกว่าเขาติดตามผมมานานแล้ว

สมชาย (ชื่อสมมุติ):  ผมเดินทางออกจากประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี  2553 เนื่องจากถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และมาตราอื่น


ทำไมคุณไม่อยู่ต่อสู้คดีในประเทศไทย(รวมทั้งว่าในเวลานี้พรรคการเมืองแบบเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้ว ประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้วทำไมไม่กลับมาสู้คดี?)


น้าปรวย ซ้อลตี้เฮด

ปรวย: ถ้าตอบสั้นๆ ก็ต้องถามกลับไปว่า มีใครสู้กับคดีนี้ได้เหรอ ?!  ส่วนมากปลายทางคดีนี้ถ้าถูกคุมขังก็ต้องโดนบีบให้รับสารภาพ ประมาณว่า “กราบร้องขอเมตตาจากฉันซิแล้วฉันจะให้อภัย”  ซึ่งคงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ หรือถ้าเขาเมตตาไม่เอาไปคุมขัง ก็คงหมดอิสระที่จะพูดจาในสิ่งที่เราคิดได้อยู่ดี ถ้าเลือกว่าอิสระเสรีภาพ เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิต การเลือกอยู่ในประเทศในขณะที่โดนคดีหมิ่นฯก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับผม
สมชาย (นามสมมุติ)

สมชาย
 : ตอนที่ผมเดินทางออกจากประเทศไทยยังเป็นช่วงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อยู่ อย่างไรก็ตามผมคิดว่าไม่ว่าภายใต้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หรือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย การต่อสู้คดี 112 และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์มีโอกาสชนะน้อยมาก ยกเว้นแต่กรณีที่ผู้ถูกดำเนินคดีจะ "แสดงตัว" ชัดเจนว่าเป็น royalist และการ "แสดงตัว" ที่สำคัญสำหรับกรณีนี้ก็คือการมีส่วนร่วมกับขบวนการทางการเมืองที่อิงอยู่กับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผมไม่ได้เข้าข่ายกรณียกเว้นอันนั้น

และผมไม่คิดว่าการที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมประชาธิปไตย เพราะในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆจะต้องไม่มีกฎหมายเผด็จการอย่างเช่น ม.112 และพรรคเพื่อไทยเอง หรือหากจะให้ชัดเจนขึ้นก็ต้องมองย้อนไปถึงสมัยเป็นพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย ก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้สนใจหรือมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา หรือในบางครั้งอาจจะแสดงจุดยืนที่ออกไปในทิศทางตรงข้ามด้วยซ้ำไป
 

รูปธรรมอีกอย่างที่อาจจะทำให้เห็นจุดยืนของพรรคเพื่อไทยต่อเรื่องนี้ชัดเจนขึ้นก็คือ แม้แต่นักการเมืองในพรรคเพื่อไทยเองที่สนใจ/กล้าแตะกล้าพูดเรื่อง ม.112 และสถาบันกษัตริย์ (ซึ่งก็มีอยู่ไม่มาก) ก็ดูเหมือนจะถูกลดบทบาทหรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเท่าที่ควร

จรรยา: มาตรา 112 ยังไม่ถูกยกเลิก ก็เท่ากับความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับกฎหมายเถื่อนนี้ยังอยู่ และจากบทเรียนที่เห็นๆ กัน คนโดนมาตรานี้ต้องเผชิญความวุ่นวายกันทุกคน และถ้าถูกจับเข้าคุกแล้ว โอกาสได้รับการประกันตัวสู้คดีไม่มีเลย จะออกจากคุกได้ก็มีแค่ติดคุกตามจำนวนคำตัดสิน ตาย หรือรับผิดเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเราคิดว่ามันรุนแรงมากและขัดกับกติกากฎหมายสากลในทุกระบบ

การใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกและนำเสนอปัญหาเมืองไทยอย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นประโยชน์กว่าการกลับไทยและต้องวิตกกังวลเรื่องคดี เรื่องคุกด้วยมาตรา 112 จนอาจจะไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระเช่นที่ทำอยู่ตอนนี้ 

สถานะทางคดีที่คุณพอจะเปิดเผยได้ และสถานะผู้ลี้ภัยที่คุณเผชิญอยู่ในเวลานี้



สมชาย: มีคดีหนึ่งที่ยุติไปแล้ว แต่เท่าที่ทราบผมยังมีคดีอื่นด้วย และคิดว่าอาจจะมีคดีที่ยังไม่ทราบด้วย
    

ผมได้ทำเรื่องขอลี้ภัยต่อ UNHCR ไปตั้งแต่ช่วงแรกๆที่ออกมาจากประเทศไทย ตอนนี้ก็เป็นช่วงรอทาง UNHCR พิจารณา ซึ่งเท่าที่ทราบจะใช้เวลาค่อยข้างนาน (หลายปี) ที่ผ่านมาเขาสัมภาษณ์ผมไปแล้ว 2 ครั้ง
 

สถานะของผมตอนนี้ก็คือผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ซึ่งก็คือยังไม่ได้เป็นผู้ลี้ภัย สิทธิหลายๆอย่างจึงไม่เท่ากับคนที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยไปแล้ว
 

สิทธิที่สำคัญตอนนี้ก็คือผมสามารถพักอยู่ที่นี่ได้แม้จะหมดวีซ่าไปแล้ว และจะไม่ถูกส่งกลับประเทศไทย ไม่ว่าจากเรื่องวีซ่าหมดอายุหรือจากคดีการเมืองในประเทศไทย

ปรวย: ไม่ทราบเลย ตอนแรกว่าจะให้ทนายไปติดตามความคืบหน้าคดีนี้ แต่ตอนหลังก็ไม่ได้สนใจ เพราะว่าตัวเราเองก็ไม่ยอมรับกับกฏหมายข้อนี้ อันนี้ไม่เฉพาะตัวเรา หลายองค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิมุนษยชนก็บอกแล้วว่า กฏหมายหมิ่นฯ ขัดกับหลักสิทธินุษยชน จริงๆ ไม่ต้องอ้างหลักอะไรเลย แค่คอมมอนเซ้นส์มนุษย์ธรรมดาๆ ก็น่าจะพูดได้ว่า กฏหมายบ้าอะไร แค่พูดจาหมิ่นประมาทหมายถึงถ้าพูดหมิ่นจริงๆ จะติดคุกตั้งสิบยี่สิบปี ดูกรณีอางกงเป็นตัวอย่าง เอาปลายเส้นผมคิดก็น่าจะคิดออก ถ้าคิดไม่ออกผมว่าคนๆนั้น ต่อมความยุติธรรมบกพร่องแล้วล่ะ

จรรยา: แม้จะถูกขู่ฟ้องว่าจะดำเนินคดีม. 112 กับจรรยา แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ ยังไม่มีคดีความใดๆ  ซึ่งเราก็ได้ประกาศตลอดมาว่า ปฏิเสธความชอบธรรมของกฎหมายมาตรา 112 เพราะมันเป็นกฎหมายรัฐประหาร ที่ป่าเถื่อน หลงยุคหลงสมัย  ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมสากล และจะต้องถูกยกเลิก

การตัดสินใจอยู่ที่ฟินแลนด์ ่ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง และก็ขอวีซ่าอยู่ในประเทศฟินแลนด์ในฐานะพลเมืองโลกคนหนึ่งตามปกติ ไม่ได้ใช้สิทธิพิเศษอะไรทั้งนั้น


คุณต้องเผชิญหน้ากับอะไรบ้าง ทั้งด้านหลังที่คุณต้่องหนีมา(การงาน  ครอบครัว ทรัพย์สินฯลฯ) สถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในเวลานี้ (ชีวิต ความเป็นอยู่ การงาน การดำรงชีพ การเงิน สถานะทางสังคม ความปลอดภัย) และอนาคตข้างหน้า(คุณได้สิทธิเป็นผู้พำนักในประเทศปลายทางในฐานะผู้ลี้ภัยหรือยัง และมีปัญหาอะไรบ้าง และคุณคาดหวังอย่างไร)


ปรวย:  เยอะล่ะ ตอบง่ายๆว่า ฉิบหาย หมดทั้งชีวิตแหละ เหลือแต่อิสระภาพในการไปไหนมาไหน ในการพูดจาอย่างที่คิดได้ นอกนั้นฉิบหายหมด คือมนุษย์เราปกตินี่เวลาเราดำเนินชีวิต เราก็คิดว่าเราวางแผนชีวิตได้ในระดับหนึ่ง ทำงานหนักเท่านี้ จะซื้อบ้านแบบนี้ ผ่อนเท่านี้ แล้วเราก็จะมีชีวิตแบบนี้ แต่พออยู่ในประเทศที่มีกฏหมายแบบนี้ แล้วเราเสือกโดนกฏหมายนี้เล่นงาน แม่งตัดวงจรชีวิตเราฉิบหายหมดเลยนะ พอต้องหนีออกมา ก็ต้องทิ้งงาน งานยังไม่มีทำ พอไม่มีงาน ไม่มีเงิน แม่งก็เอฟเฟคไปหมดล่ะ ไอ้อนาคตที่ฝันๆไว้ก็ฉิบหายไปหมด มีรถขายรถ มีบ้านขายบ้าน ขายไม่ได้แม่งก็โดนยึด 

พอออกมานี่เราคิดได้อย่างนึง กว่าคนๆนึงแม่งจะยืนขึ้นได้ในสังคม มีความมั่นคงในชีวิตแม่งต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ การรู้จักผู้คน การเรียนรู้ที่จะทำงานกับคนในสังคมนั้นๆ พอเปลี่ยนสังคมนี่แม่งเริ่มใหม่หมดเลยนะ สักพักแหละกว่าจะยืนได้อย่างมั่นคงเหมือนเดิม ยิ่งยังไม่มีสถานะที่อยู่เป็นพลเมืองอย่างถูกต้องแม่งยิ่งยากกว่าเดิมอีก ตอนนี้ผมยังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัยที่ไหนแต่ทำเรื่องอยู่กับ UNHCR และก็บางประเทศ แต่ก็เหมือนซื้อหวยนั่นแหละไม่ได้คิดว่ามันจะถูกเท่าไหร่ ห้าสิบห้าสิบ


สมชาย:ตอนออกมาผมออกมาค่อนข้างฉุกละหุก ตัดสินใจว่าจะออกมาแค่ไม่กี่วันก่อนวันเดินทางจริง ก็เลยมีเวลาจัดการเรื่องต่างๆไม่มาก อันไหนที่มันยังไม่เรียบร้อยก็ต้องฝากให้เพื่อนๆช่วยจัดการต่อ เรื่องครอบครัวไม่มีปัญหาอะไรมากเพราะผมไม่ได้ส่งเสียครอบครัว (อาจจะมีบ้างที่ตรงที่ผู้เฒ่าผู้แก่สงสัยว่าทำไมผมถึงไม่กลับบ้านช่วงเทศกาล)

ส่วนความเป็นอยู่ตอนนี้ก็พออยู่ได้ไม่ได้ลำบากมาก แม้จะมีปัญหาเล็กๆน้อยๆบ้าง


สถานะของผมตอนนี้คือผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ซึ่งไม่สามารถไปสมัครงานแบบบริษัทห้างร้านอะไรแบบนั้นได้ แต่เอาเข้าจริงถึงทำได้ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะไปทำ เพราะที่นี่ค่าแรงถูก และนายจ้างก็คงจะอยากจ้างคนท้องถิ่นที่มีความคล่องตัวมากกว่าในหลายๆเรื่อง ผมก็เลยต้องทำอย่างอื่นที่มันไม่ได้อยู่ในรูปแบบทางการแบบนั้น
 

ผมเปลี่ยนงานมา 3-4 อย่างแล้ว เพราะก่อนหน้านี้รายได้ไม่พอใช้จ่าย ตอนมาที่นี่ก็แทบไม่มีข้อมูลอะไรเลย คิดว่าอะไรน่าจะไปได้ก็ลองทำทำ ทำแล้วไม่เวิร์คก็เปลี่ยน ลองผิดลองถูกเอา

รายได้ตอนนี้ก็พออยู่ได้แบบเดือนชนเดือน แต่ดีตรงที่อยู่ที่นี่ค่่าครองชีพต่ำ แล้วก็ทำอาหารกินเองก็ช่วยประหยัดไปได้เยอะ (นอกจากเรื่องประหยัดกว่าแล้วยังมีเหตุผลเรื่องรสชาติด้วย)
 

สถานะผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและความเป็นคนต่างชาติก็มีปัญหาสำหรับคนที่นี่ โดยเฉพาะในชนบท เพราะคนส่วนหนึ่งเขาไม่เข้าใจว่าผู้แสวงหาที่ลี้ภัยคืออะไร และที่ประเทศนี้ก็ค่อนข้างอ่อนไหวเรื่องการก่อการร้ายอยู่พอสมควร
 

สำหรับอนาคต ผมคิดว่าไม่ง่ายที่จะได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครที่มีปัญหาเรื่อง ม.112 ได้สถานะเลย 
 

 ตอนนี้ผมหวังอยู่ 2 อย่าง อันแรกก็คือหวังว่าจะได้สถานะผู้ลี้ภัย อีกอันก็คือหวังว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่านี้ ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นสถานะผู้ลี้ภัยก็ไม่จำใช่สิ่งที่จำเป็น และผมหวังว่าผมยังพอจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

จรรยา: ขอนำคำตอบที่ตอบหน้าเฟซบุ๊คมาตอบที่นี่เลยแล้วกันนะ

ต้องบอกสองปีมานี้หนี้ท่วมหัวเลย จนบ้านก็ถูกหมายยึดแล้ว ....ฮา (ทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ เพราะค่าครองชีพที่ฟินแลนด์ก็แพงเหลือแสน และเราก็ไม่ได้ขอรับบริจาคจากทุนใหญ่คนใด)  ถือว่าทั้งชีวิตทำงานกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นความยากลำบากอะไร และมองมันเป็นความท้าท้าย 
 

และถือโอกาสนี้ ใช้เวลาลุยงานเขียน จัดกิจกรรม และสร้างความตื่นรู้เรื่องการเมืองไทยอย่างเดียวเลย เช่นที่หลายคนตามงานเล็กมาเห็นๆ กันอยู่ 

ก็อยู่ได้ด้วยการเกาะเพื่อน เกาะฝูง เกาะสหายทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่รู้จักเล็กเพราะงานการเมืองช่วงนี้ หรือที่เคยทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติมาก่อน (ทั้งให้เงินอุดหนุน หรือให้ยืมตังส์เป็นช่วงๆ) 

และก็รับงานแปลเป็นบ้างครั้ง ที่มีคนส่งมาให้ทำ

ไม่ได้ขอรับสวัสดิการใดๆ ทั้งสิ้นจากรัฐบาลฟินแลนด์ ไม่เคยเสียภาษีให้ประเทศนี้ จะมาเกาะประเทศเขากินก็กระไรอยู่ เขาให้วีซ่าให้เราอยู่ในประเทศเขาได้ และก็ไม่เคยคุกคามเสรีภาพเราเลยแม้แต่ครั้งเดียว ก็ขอบคุณยิ่งนักแล้ว 

ยามจำเป็นจะต้องใช้เงิน ก็หาทางแลกเปลี่ยนเอา อาทิ เร็วๆ นี้ต้องหาหมอฟัน ก็มีพี่ทางเมืองไทยที่ดูแลกันมาตลอด ช่วยขายหนังสือล๊อตใหญ่ให้คนที่สนับสนุนงานเพื่อแลกเงินค่าหมอ...ซาบซึ้งมากจริงๆ 

และตั้งแต่กลางปีนี้ ก็เริ่มได้รายได้จากการขายหนังสือมาบ้าง (แรงงานอุ้มชาติ ณ ตอนนี้)  หวังเป็นอย่างย่ิงว่าหนังสือจะนำรายได้มาให้ได้มากขึ้น เพื่อจะได้อยู่ได้อย่างไม่ลำบากนักและไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากใคร

ช่วงนี้ ถ้าอยากจะทำกิจกรรมอะไร ถ้าไม่มีเงินตัวเอง ก็ขอรับบริจากคนที่เข้าใจงานและอุดมการณ์เดียวกันเรื่องยกเลิก 112 เป็นครั้งๆ ไป ครั้งละ 100 หรือ 200 ยูโรเท่าที่จำเป็นจริงๆ 

โชคดีฮะ ที่เป็นลูกชาวนา ชินกับความลำบากและการพึ่งตัวเองมาตั้งแต่เด็ก และเป็นคนทำอาหารเก่งพอใช้ได้ (พวกมั่วเก่ง) จึงปรับตัวเข้ากับความลำบากได้ เลยไม่รู้สึกเดือดร้อนมากเท่าไร 

รู้สึกตัวเองโชคดีที่เลือกการใช้ชีวิตได้...

สรุป คือ ดีใจที่มีสองปีนี้ ที่ได้เบรคจากงานบริหารองค์กร และสามารถทำงานเขียนที่คั่งค้างและงานเขียนทางการเมืองและทำงานรณรงค์เรื่องเมืองไทย โดยเฉพาะรณรงค์ปล่อยนักโทษการเมืองและยกเลิก 112 ได้ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องวุ่นวายเรื่องหางบประมาณทำงาน หรือต้องเขียนรายงานกิจกรรม 

เรียกได้ว่า แม้ลำบากกาย แต่ใจเปี่ยมเสรีภาพ ที่เงินพันล้านก็แลกไม่ได้ ... ฮา!!!! 


คุณอยากให้คนไทย,ขบวนเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและโลกได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับคุณมากที่สุดในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง


ปรวย:  จริงๆไม่ต้องรู้อะไรเกี่ยวกับผมก็ได้นะ แค่รู้ว่ากฏหมายข้อนี้มันแย่อย่างไร มันผิดปกติอย่างไร แล้วเราจะแก้ปัญหามันอย่างไร แค่นี้ก็จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะไม่ใช่เฉพาะแค่ผมคนเดียว ผมแค่คนๆหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ แต่จริงๆกฏหมายข้อนี้มันสร้างผลกระทบไปทั่ว ไปไล่ดูเถอะ เอาแค่สมมุติถ้ารัฐบาลจะทำนโยบายอะไรขัดกับพระราชดำรัส แม่งก็ไปไม่เป็นแล้วใช่มั้ย มีใครจะกล้าวิพากษ์วิจารณ์ นี่แหละผมถึงบอกว่ามันไม่ได้มีผลกระทบกับผมคนเดียว มันลามไปทั่วผมแค่คนเล็กๆคนนึงเอง


จรรยา: สิ่งที่ทำมาตลอดนับตั้งแต่ตัดสินใจไม่กลับเมืองไทย เริ่มด้วยการเผยแพร่บทความ “ทำไมถึงไม่รักในหลวง” เมื่อสิงหาคม 2553 และตามมาอีกหลายบทความและหลายเล่ม ตลอดสองปีที่ผ่านมา พร้อมกับการรณรงค์ต่อเนื่องในหลายรูปแบบ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จนมาสู่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและยกเลิกมาตรา 112 ทันที

ซึ่งเรื่องรณรงค์ปล่อยนักโทษการเมืองเป็นอะไรที่เจ็บปวดมาก เมื่อต้องทนเห็นนักโทษมาตรา 112 เช่นอากง ต้องเสียชีวิตและเห็นหลายคนต้องทนกล้ำกลืนยอมรับผิดเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อจะได้หลุดออกมาจากความโหดร้ายของชีวิตในคุกไทย 
 

 และก็เศร้าสะเทือนใจที่สุด ที่จนบัดนี้หลายคนก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว
 

กระนั้นในประเด็นเรื่องการพูดเรื่องที่เคยต้องเซนเซอร์กันอย่างหนัก มันก็เริ่มมีการความผ่อนคลายกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องมาตรา 112 ที่ในช่วงปี 2553 ยังไม่ค่อยกล้าพูดคำว่า “ยกเลิก 112” เลย แต่ขณะนี้คำนี้สามารถพูดได้สบาย หรือคำว่า “ทำไมถึงไม่รักในหลวง” ที่ช่วงแรกคำว่า “ในหลวง” ถูกเซนเซอร์ตลอด แต่ตอนนี้ เราสามารถเอ่ยหรือเขียนคำนี้ได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเซ็นเซอร์
 

ในระดับนานาชาติ เราก็เห็นความสนใจมากขึ้นของนานาชาติต่อประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และมีการพูดถึงกันมากขึ้นในสื่อยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายสำนัก

สมชาย: อยากจะบอกว่าผมยังสู้อยู่ การหนีหรือการขอลี้ภัยไม่ได้เท่ากับการยอมแพ้ แต่ตรงกันข้ามบางทีมันอาจจะดีกว่าและที่สำคัญมันอาจจะทำอะไรได้มากกว่าการยอมติดคุกแล้วสู้จากในคุก ตอนนี้ผมพยายามทำกิจกรรมทางการเมืองเท่าที่ความสามารถและสถานการณ์จะเอื้ออำนวย ถ้าใครหรือองค์กรไหนมีช่องทางที่คิดว่าจะหนุนเสริมกันได้ก็อยากให้ติดต่อมาครับ แต่จะทำอะไรตรงไหนได้บ้างก็ต้องมาดูรายละเอียดกันอีกที

คุณต้องการการหนุนช่วยอย่างไรบ้างไหมกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่และอนาคตข้างหน้า


ปรวย:  จริงก็ไม่ได้นึกถึงการช่วยเหลือจากที่อื่นเท่าไหร่นะ เพราะคิดว่าพอช่วยตัวเองได้ แต่ตอนนี้ที่มันยังไม่สะดวกก็เพราะอย่างที่บอก กว่าคนๆ นึงแม่งจะยืนขึ้นได้ในสังคม มีความมั่นคงในชีวิตแม่งต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ การรู้จักผู้คน การเรียนรู้ที่จะทำงานกับคนในสังคมนั้นๆ พอเปลี่ยนสังคมนี่แม่งเริ่มใหม่หมดเลยนะ ตอนผมอยู่เมืองไทยผมมีอาชีพทำหนังโฆษณา พอออกมานี่มันก็ต้องเริ่มเข้าหาวงการในที่ๆตัวเองอยู่ ก็ค่อยๆคืบคลานเข้าไป ก็ต้องใช้เวลา แต่ถ้ามีใครในเมืองไทยอยากทำหนังอะไรที่ไม่ต้องทำในประเทศบอกได้นะ ยินดีรับทำ เพราะคนทำเข้าประเทศไม่ได้ (ฮา) แต่จริงๆหนังมันทำที่ไหนก็ทำได้นะ เพราะเดี๋ยวนี้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือมันก็ไม่ได้แพงพิสดารเหมือนแต่ก่อน 

จรรยา: ตอนนี้ที่กังวลที่สุดคือบ้านเปิดใจที่ถูกหมายยึดจากธนาคารแล้ว และจะต้องมีเงินไปเอาออกมาจากธนาคาร ซึ่งก็พยายามจะหาเงินตรงนี้ด้วยการออกหนังสือ “แรงงานอุ้มชาติ” มาขายตั้งแต่กลางปีนี้  แต่ตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าหนังสือจะขายได้หมดทันเวลารักษาบ้านไว้หรือไม่

แต่ ก็ไม่มีวิธีการอื่นที่จะหาเงิน นอกจากขายความคิดและงานเขียนที่วิเคราะห์ปัญหาของประเทศไทย โดยเอาประชาชนคนถูกขูดรีดและถูกเอาเปรียบเป็นแก่นกลางขอการความห่วงใย ไม่ใช่เอาสถาบันกษัตริย์เป็นแกนกลางของการสักการะบูชา


จริงๆ สิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าเสียดาย ที่พวกเราหลายคนมีศักยภาพที่จะทำการเคลื่อนไหวกับนานาชาติเรื่องปัญหาการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะจากมาตรา 112 ได้มากกว่าคนที่อยู่เมืองไทย แต่สองปีที่ผ่านมา พวกเราทั้งหลายต้องดิ้นรนเพื่อการดำรงชีวิต  โดยไม่ได้ได้รับการสนับสนุนมากนัก ไม่ต้องฝันไปไกลถึงงบประมาณให้ได้ทำงานรณรงค์ต่อเนื่องในเรื่องนี้  

น่าจะมีการเชื่อมประสานและส่งเสริมให้พวกเราได้ทำหน้าที่เหล่านี้ที่ต่างประเทศเพื่อเป็นพลังกดดันคู่ขนานไปกับขบวนการเคลื่อนไหวในประเทศไทย 

สมชาย: อย่างที่ตอบไปแล้วก็คือเรื่องของความร่วมมือหนุนเสริมกันทำกิจกรรม 

สถานะของผมตอนนี้ทำให้ผมมีเวลามากกว่าเมื่อก่อน (ความจริงแล้วตอนนี้ผมก็ยังติดต่อและทำกิจกรรมอยู่กับกลุ่มเพื่อนๆในประเทศไทย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเวลาว่างอยู่ดี) และคิดว่าการอยู่ข้างนอกน่าจะทำให้มีเงื่อนไขบางอย่างลดลงกว่าการอยู่ในประเทศ ซึ่งก็น่าจะทำอะไรที่คนในประเทศทำไม่ได้หรือทำได้ไม่สะดวก ดังนั้นจึงอยากให้กลุ่มองค์กรที่แนวทางคล้ายๆกันช่วยติดต่อมาคุยรายละเอียดกันดู

ส่วนความช่วยเหลือเรื่องการเงิน สำหรับผมตอนนี้ก็พออยู่ได้แล้ว เว้นแต่จะมีกรณีฉุกเฉิน เช่น เรื่องอุบัติเหตุ เรื่องสุขภาพ หรือปัญหาจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น (แม้สถานะผู้แสวงที่ลี้ภัยจะทำให้สามารถพักอาศัยอยู่ที่นี่ได้ แต่มันอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่/ข้าราชการท้องถิ่นมักจะไม่มีความรู้เรื่องนี้ และเมื่อเกิดปัญหาก็จะต้องใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดการ) 


ดังนั้นผมคิดว่ามันน่าจะดีถ้าจะมีการตั้งคล้ายๆกองทุนเป็นเงินสำรองเอาไว้สำหรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่มีปัญหาฉุกเฉิน เพราะพอมันเป็นเรื่องฉุกเฉินการจะระดมเงินหรือแม้แต่หยิบยืมกันให้ทันท่วงทีมันก็ลำบาก

อีกเรื่องที่อยากเสนอไว้เผื่อคนอื่นๆในอนาคต (ผมคิดว่าผมผ่านช่วงเวลานั้นมากแล้ว) ก็คือน่าจะมีเงินกองทุนสำหรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่เพิ่งออกมาใหม่ๆ เพราะคนที่เพิ่งออกมาโดยเฉพาะคนที่อาจจะไม่ค่อยมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศมากนักจะมีปัญหาเรื่องขาดแคลนข้อมูลมากๆ ซึ่งมันทำให้ค่าใช้จ่ายเราสูงมากๆ เพราะเราจะไม่รู้ว่าจะต้องอยู่อย่างไร ซื้ออะไรที่ไหนแล้วประหยัดเงิน หรือการพยายามประกอบอาชีพ พอเราไม่มีข้อมูลเราก็ต้องทำแบบลองผิดลองถูก ซึ่งมันก็มักจะผิดซะมากกว่าถูกด้วย แล้วในการลองมันก็มีทั้งเงินที่ต้องลงทุนไป และระหว่างนั้นเราก็ยังต้องกินต้องใช้ด้วย ดังนั้นถ้ามีการสนับสนุนคนที่ออกมาใหม่จนพอที่จะดูแลตัวเองได้ก็น่าจะดี 


คุณมีจุดมุ่งหมายปลายทางในชีวิตอย่างไร และคุณอยากเห็นประเทศไทยเดินไปอย่างไร

ปรวย: ว่าตรงๆนะ พอมาถึงตอนนี้ที่เราได้รัฐบาลใหม่มาปีกว่าๆ ผมไม่คิดเหี้ยอะไรเลยนะเกี่ยวกับอนาคตประเทศ โอเคแม่งมีแหละภาพประเทศแบบที่เราหวัง แต่ผมว่าผมแม่งคงฝันเปียก เป็นประเทศอื่นฝ่ายประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยแม่งชนะเลือกตั้งถล่มทลายแบบนี้ แม่งประเทศคงเปลี่ยนฉิบหายเลยนะ กฏหมงกฏหมายอะไรที่แม่งไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญใต้อุ้งตีนทหารแม่งคงโดนเปลี่ยนหมด เพราะถือว่าอำนาจอยู่ในมือประชาชน แต่พอเป็นเมืองไทย ทุกอย่างแม่งนิ่งสนิท ไม่รู้ติดเหี้ยอะไรทำไม่ได้ 

ผมถึงบอกว่าผมไม่คิดฝันอะไรอีกแล้วนะ อยู่กับความจริงแม่งนี่แหละ แล้วคอยดูว่าแม่งจะจริงไปแบบไหน หลังๆผมถึงพูดอะไรเกี่ยวกับการเมืองน้อยมาก เพราะผมว่า 5-6 ปีมานี้ปัญหาทุกอย่างแม่งถูกพูดไปหมดแล้วนะ คือถ้าพูดอีกแม่งก็ซ้ำไปซ้ำมาแม่งจะกลายเป็นว่าเราเป็นควายไปซีสอให้คนดูฟัง

คือประเทศนี้เรียกว่าถ้าเป็นคนป่วย หมอแม่งลงความเห็นวินิจฉัยโรคไปเสร็จสรรพแล้วล่ะว่ามึงต้องผ่าตัด คราวนี้ผมคิดว่าตัวผมแม่งไม่ได้เป็นหมอนะ ตอนนี้ผมก็ได้แต่นั่งดูว่าเอ้ามึงจะผ่าหรือไม่ผ่า

ส่วนตัวผมก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติ จะให้ฝันจะให้วางแผนชีวิตแบบเดิมก่อนโดนคดีนี้แม่งก็คงไม่ฝันแล้วล่ะ ก็คงหาโอกาสทำงานที่ตัวเองอยากทำต่อไป ทั้งทำหนัง ถ่ายรูป อ้อแล้วก็มีเขียนหนังสือ ไอ้การเขียนหนังสือนี่ผมมาได้ทำตอนลี้ภัยออกมานี่แหละ เพราะมันเป็นช่องทางหนึ่งทีเราได้เล่าเรื่องเล่าความคิดเราได้ แล้วผมก็พบว่ามันก็สนุกนะแถมทำได้เลย ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือมากเท่าการทำหนัง 
จริงๆจะว่าไปก่อนหน้านี้ผมก็เป็นแบบนี้นะหมายถึงก็เป็นคนปกติธรรมดาเหมือนคนในประเทศอื่นที่เขามีเสรีกันใช่มั้ย ทำงานไปพอมีเหตุการณ์ในบ้านเมืองก็วิพากษ์วิจารณ์กันบ้าง แต่ทีนี้ประเทศเราเสือกแปลกกว่าประเทศอื่น พอกูพูดเสือกจับกูซะนี่ มันคงมีบางอย่างที่เราไม่เหมือนประเทศอื่นๆที่เราวิจารณ์ไม่ได้


 สมชาย: อาจจะพูดได้ว่าผมมีชีวิตอยู่เพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง ผมไม่ได้คาดหวังอะไรชัดเจนนักเกี่ยวกับความมั่นคงทางชีวิตในอนาคต ผมหวังแค่มีอาชีพที่มีรายได้พออยู่ได้แล้วมีเวลาทำกิจกรรมทางการเมืองก็พอ ประเภททุ่มเทเวลา-พลังงานทั้งหมดให้กับการประกอบอาชีพผมคงไม่ทำ

ผมอยากให้สังคมไทยและสังคมโลกเป็นสังคมที่มีประชาธิปไตยทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง นี่อาจจะอุดมคติไปบ้าง และคิดว่าชีวิตนี้คงไม่มีโอกาสได้เห็น แต่อย่างน้อยเราก็น่าจะได้ทำอะไรบ้างเพื่อผลักดันสังคมไปตามเส้นทางนั้น ถึงมันจะไม่ถึงเป้าหมายในเร็ววันนี้ แต่ถ้าเราสามารถทำให้มันเขยื่อนเข้าใกล้เป้าหมายเข้าไปอีกหน่อยมันก็จะเป็นภาระของคนรุ่นหลังน้อยลง และที่สำคัญเราสามารถตอบตัวเองได้ว่าเราได้ทำมันแล้ว


จรรยา :  เพื่อเป้าหมายที่จะเห็นประเทศไทยมีความยุติธรรมมาตรฐานเดียว มีเสรีภาพ และมีความเท่าเทียมกันในสังคม  มีสวัสดิการดูแลประชาชนอย่างครอบคลุม  ในระบอบประชาธิปไตยประชาชน

การทำงานทั้งหมดที่ทำอยู่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา คือการโฟกัสไปที่การนำเสนอปัญหาเมืองไทยที่คาราคาซังยืดเยื้อมานานเพราะการ “พูดความจริงไม่ได้” หรือ “ไม่พูดความจริง” และการเมืองประนีประนอมหลักการกับสถาบันกษัตริย์และทหาร และการเมืองรวมศูนย์อำนาจตลอด 80 ปีประชาธิปไตยแบบไทยๆ  
 

ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่การเมืองนิ่งแล้ว ไม่ได้หมายความว่าความตื่นตัวของภาคประชาชนจะหมดไป เพราะมันยังมีระดับของปัญหาให้แก้อีกมากมาย ตามระดับของพัฒนาการการของระบอบประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆ
  •  ทั้งปัญหาเรื่องการจัดสรรค์สวัสดิการและงบประมาณให้เข้าถึงกลุ่ม 80 หรือ 99%
  • การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขจัดปัญหาคอรัปชั่นในทุกวงการ
  • การจัดการกับปัญหาความรุนแรงในชาติด้วยกระบวนการสันติภาพและสันติวิธี โดยเอาประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นศูนย์กลาง
  •  การทำให้ทุกสถาบันในประเทศเคารพกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเรือน
  •  และที่สำคัญการทัดทานหรือสร้างชุดข้อมูลจากล่างเพื่อทัดทานกระแสเสรีนิยมใหม่ที่ไหล่เข้ามาเพื่อกดดันให้แปรทุกทรัพยากรในประเทศเป็นสินค้า ยังไม่นับเรื่องการต่อสู้เพื่อให้สังคมยอมรับสิทธิความเท่าเทียมไม่ใช่ระหว่างเพศเท่านั้น แต่สิทธิในการเลือกวิถีเพศด้วย และก็อีกมากมาย

จะเห็นว่าถ้าไทยเรายังไม่ปลดล๊อคในประเด็นที่เป็นแกนกลางของปัญหา และการถกเถียงทั้งในห้องลับและในเวทีสาธารณะ ( ที่ทำได้มากขึ้นเรื่อยๆ  ตลอดสี่ห้าปีที่ผ่านมา) เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันประมุขของชาติ ว่า กษัตริย์ควรจะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และไม่ควรปิดกันเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์ เช่นที่สามารถกระทำได้กับสถาบันอื่นๆ
 

เราก็จะไม่สามารถขยับนโยบายที่ก้าวหน้าได้ และสิทธิและเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนในปัญหาอื่นๆ ของชาติ ก็จะถูกปิดกั้นและถูกทำให้ไม่มีความชอบธรรมไปด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยจะไม่สามารถเดินหน้าได้ในหลายๆ เรื่อง ถ้ายังปกคลุมด้วยบรรยากาศการเมืองและสังคมอยู่แบบนี้
 

ความฝันสูงสุด คือ เห็นรัฐบาลดำเนินนโยบายที่เอา “สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นหัวใจ” ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการการเมืองและการดัดสินใจในนโยบายของประเทศ เคารพสิทธิรวมตัวต่อรองของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ และเสรีภาพในการแสดงออก”  

*************
หมายเหตุไทยอีนิวส์:ไทยอีนิวส์ขอเชิญชวนหนุนช่วยการต่อสู้ของผู้ประสบภัยม.112ที่ต้องลี้ภัยในต่างแดน โดยโอนเงินผ่านชื่อบัญชี ประเวศ ประภานุกูล ธนาคารกสิกรไทย สาขาบิ๊กซี รามอินทรา เลขที่บัญชี 864-2-07040-2 โดยระบุว่า "สมทบกองทุนผู้ลี้ภัย 112" พร้อมอีเมล์แจ้ง (ถ้าสามารถทำได้) ไปที่ ACT4DEM@gmail.com 

++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น