วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปลดล็อก หาทางออก 4 มีนาฯ เปิดสภาไม่ได้

 

ปลดล็อก หาทางออก 4 มีนาฯ เปิดสภาไม่ได้

วันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:14:57 น.





หมายเหตุ
 - นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และนายอุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา ให้ความเห็นกรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 127 กำหนดให้ต้องเปิดสภาภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง จะครบกำหนดในวันที่ 4 มีนาคมนี้

 

 

เอกชัย ไชยนุวัติ

ตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา และมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พรรคการเมือง กกต. และพรรคเพื่อไทยก็รับทราบอยู่แล้วว่าวันที่ 4 มีนาคม จะไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ เนื่องจากมีปัญหาไม่สามารถสมัครได้ใน 28 เขต กับ 8 จังหวัด เป็นไปตามมาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญ 

ยังยืนยันแนวคิดว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อยุบสภาไปแล้วรัฐบาลที่ยุบสภาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ที่ประชาชนเลือกเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป มีระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 181 เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งให้ครบ ส่วน

รัฐบาลรักษาการจะต้องทำหน้าที่ต่อไปถึงแม้จะเปิดประชุมสภาไม่ได้ จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา รัฐบาลรักษาการจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของ กกต. ตามมาตรา 181 เช่นกัน การมองแบบนี้ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ในทางกฎหมาย เรียกว่าหลักความต่อเนื่องของการให้บริการสาธารณะ จะต้องมีผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 

แน่นอนว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องการเปิดสภาอยู่แล้ว แต่เป็นหน้าที่ของ กกต. มีประเด็นต้องส่งความคิดเห็นกรณี 28 เขต กับ 8 จังหวัดไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เป็นตัวแปรสำคัญที่จะเดินหน้าการเลือกตั้งต่อไปอย่างไร ถ้าศาลตีความว่าให้ออก พ.ร.ฎ.ใหม่เฉพาะ 28 เขต กับ 8 จังหวัดได้ แต่ก็จะไปขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ระบุว่า วันเลือกตั้งจะต้องเป็นวันเดียวทั้งประเทศ กรณีนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

มองว่าศาลไม่สามารถตีความว่าประชุมสภาไม่ได้ รัฐบาลจะต้องพ้นสภาพรักษาการแทน เพราะการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้น หากมองแบบนั้นก็เหมือนว่าเป็นความผิดของรัฐบาล ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้ครบและเปิดประชุมสภาได้ อีกทั้งอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งไม่ใช่ของรัฐบาล หากตีความแบบนี้ต่อไปถ้า กกต.ไม่จัดการเลือกตั้งก็สามารถล้มรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ต้องการได้ โดยไม่จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 30 วัน

 

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

ตอนนี้อยู่ในสถานการณ์พิเศษ เห็นอยู่ว่าเกิดสภาวการณ์ที่กลไกในการเลือกตั้งติดขัด มีปัญหาอยู่ ก่อนหน้านี้มีเรื่องของการชุมนุมประท้วง แล้วก็เรื่อง 28 เขตที่ไม่สามารถทำการรับสมัครได้ เป็นข้อยกเว้น ถ้าจะเอามาตรา 127 มาตีความในเชิงทำให้บ้านเมืองหรือกลไกเชิงรัฐสภาเดินต่อไปไม่ได้ หรือทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง คงไม่ใช่การตีความที่ถูกต้องตามหลักรัฐธรรมนูญ

การตีความตามหลักรัฐธรรมนูญต้องตีความให้ประเทศเดินต่อไปได้ มาตรา 127 อาจจะยังไม่ใช้กับกรณีนี้ เท่าที่ฟังจากข้อโต้แย้งของหลายๆ ท่านพยายามจะบอกว่า มาตรา 127 กำหนดไว้ภายใน 30 วัน ถ้าไม่ครบภายใน 30 วันอาจส่งผลต่อการทำหน้าที่ของรัฐบาล 

ถ้าเป็นการตีความโดยดูในเชิงหลักรัฐธรรมนูญ มองว่าตรงนี้เป็นความจำเป็น เป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดสภาวะแบบนี้มาก่อน ถ้าเราตีความแล้วส่งผลให้รัฐบาลรักษาการตอนนี้ต้องพ้นไป ปัญหาคือแล้วใครจะเข้ามาแทน การตีความแบบนี้ลักษณะของการตีความ รังแต่จะก่อให้เกิดสภาวะสุญญากาศทางการเมือง การตีความแบบนี้ เป็นการตีความทำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ต่อไม่ได้ ในเชิงหลักการสะท้อนให้เห็นว่าการตีความแบบนี้เป็นการตีความผิด ยังไงก็แล้วแต่ รัฐบาลรักษาการยังคงต้องรักษาการไป จนกว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามา 

เจตจำนงหรือหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญคือ ในมาตรา 181 บอกไว้ว่า หลังจากการประกาศยุบสภาไปแล้ว ให้มีรัฐบาลรักษาการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ฉะนั้น จนปัจจุบันเมื่อยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่นี้ จึงไม่สามารถตีความให้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่งไปได้ เพราะเป็นการขัดกับหลักการและขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะในเชิงหลักรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้เกิดสภาวะสุญญากาศ ต้องการให้รัฐบาลรักษาการ รักษาการต่อไป คือมีลักษณะของการบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่องไม่สะดุด แต่เรื่องของการใช้อำนาจ อาจมีอำนาจน้อยกว่ารัฐบาลปกติก็ตามที แต่ก็ต้องเร่งให้มีการเลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็ว และมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ฉะนั้น ถ้าจะไปตีความให้เขาออกจากตำแหน่ง อาจเป็นการตีความที่ขัดแย้งกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

มาตรา 127 อาจใช้ไม่ได้ ถ้าตีความเคร่งครัดแบบนั้น ต้องไปดูตามมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญ บอกไว้ว่า ส.ส.ต้องมีกี่คน แต่มีกรอบของเวลาอยู่ว่าถ้า ส.ส.ได้จำนวนไม่ถึงเท่าไหร่ เปิดสภาไม่ได้ มีกรอบของเวลาอยู่ 180 วัน ให้เร่งทำการเลือกตั้งและให้ได้มาซึ่งสมาชิกโดยตรง ต้องไปดูกรอบใหญ่ด้วย ว่าตอนนี้ทำได้เลย คือเราจะมีการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ 30 มีนาคม ถ้ามองในเชิงกรอบ ยังอยู่ใน 180 วันด้วย ทำการเลือกตั้งทีเดียวให้เรียบร้อย แล้วก็จัดการเปิดสภาไป ตรงนี้ต้องเป็นข้อยกเว้นไม่มีเหตุให้ใช้มาตรา 7 ได้

ตอนนี้หลายคนเข้าใจ มาตรา 7 ผิด มาตรา 7 คือเรื่องของกรณีถ้าไม่มีบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญเอาไว้เลย มาตรา 7 เป็นมาตราที่เข้าไปอุดช่องว่าง มาตรา 7 ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าสุดท้ายต้องใช้จริง มาตรา 7 ต้องกลับไปใช้เรื่องของการเลือกตั้ง เพราะว่ามาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ถ้าสมมุติไม่มีบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญ ให้ไปวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายความว่าถ้าตัวลายลักษณ์อักษรรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้มีการเขียนไว้ในเรื่องที่กำลังประสบเจอในปัจุจบัน ให้ไปดูว่าตามประเพณีทั่วๆ ไปของประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ว่าเขาทำกันยังไง ตามระบอบประชาธิปไตยต้องกลับไปเลือกตั้งอยู่ดี ฉะนั้น ต่อให้ใช้มาตรา 7 ก็ต้องกลับมาเลือกตั้งอยู่ดี 

การตีความรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และหลักการ สุดท้ายก็คือการกลับไปหาหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

 


อุกฤษ มงคลนาวิน

ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่ากรณีที่ยุบสภาแล้วรัฐบาลจะต้องรักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เป็นประเด็นสำคัญ และเมื่อครบ 30 วันแล้วไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ เพราะเหตุว่า กกต.ไม่สามารถดำเนินการให้มี ส.ส.ให้ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ กกต.ก็จะต้องดำเนินการต่อไปให้ครบภายใน 180 วัน รัฐธรรมนูญให้เวลาเอาไว้

ประเด็นสำคัญคือ ไม่มีบทกฎหมายใดที่จะให้ประเทศเราว่างรัฐบาลถ้าเปิดสภาไม่ได้ ดังนั้น ถ้าครบกำหนด 30 วันแล้วยังเปิดสภาไม่ได้ รัฐบาลก็จะต้องรักษาการแทนต่อไปเรื่อยๆ จนกว่า ส.ส.จะครบแล้วเปิดประชุมสภาได้ ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความนั้น ให้รัฐบาลรักษาการพ้นจากตำแหน่งนั้น ต้องถามก่อนว่าใครจะร้องศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยอำนาจอะไรในการร้อง อยู่ๆศาลจะตีความเองไม่ได้ และถ้าจะร้องควรจะต้องร้อง กกต.ว่าจะจัดการอย่างไรให้มีการเลือกตั้งให้ครบ กกต.จะต้องเป็นฝ่ายแก้ปัญหาถ้าจะมีความผิดก็อยู่ที่ กกต. ไม่ใช่รัฐบาล และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดให้รัฐบาลรักษาการแทนพ้นจากตำแหน่งให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง แล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 นั้นเกิดขึ้นไม่ได้

ถ้าจะมีการตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมาแทน คนคนนั้นจะต้องเป็น ส.ส. ตั้งคนนอกไม่ได้ นอกจากจะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง

 


นิคม ไวยรัชพานิช

ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าวันที่ 4 มีนาคม จะไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 127 ได้ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ยอมประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ดังนั้น เท่ากับว่าเมื่อไม่มี ส.ส.ก็ไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้แน่นอน มองว่า กกต.ควรเร่งดำเนินการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตเลือกตั้งและจังหวัดที่ไม่มีปัญหาโดยเร็ว เพื่อให้มี ส.ส.เข้ามาทำหน้าที่ ถ้าหากล่าช้าออกไปแล้วก็จะส่งผลทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้น กกต.ควรรีบดำเนินการให้กระบวนการเลือกตั้งแล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

การประชุมสภาสามารถเกิดขึ้นได้มีเพียงกรณีเดียว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 สามารถเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาและมีมติให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง หรือพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ โดยในช่วงเดือนมีนาคม นายใจเด็ด พรไชยา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องพ้นวาระลงเนื่องจากอายุครบ 70 ปี ดังนั้น ทางวุฒิสภาก็ต้องดำเนินการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่

 

 

.............

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 3 มี.ค. 2557)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น