วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

6 องค์กรอิสระ เสนอสองฝ่ายเสนอชื่อคนกลาง ให้คำตอบใน 7 วัน ใครปฎิเสธต้องรับผิดชอบ

 

วันอังคาร, มีนาคม 18, 2557

คลิปงานแถลงข่าว Road Map ปัญหาประเทศโดย 7องค์กรอิสระ

 
http://www.youtube.com/watch?v=6q13Ao01HEo

Published on Mar 17, 2014
คลิปแถลงข่าว 6 องค์กรอิสระ

ooo

6 องค์กรอิสระ เสนอสองฝ่ายเสนอชื่อคนกลาง ให้คำตอบใน 7 วัน 

ใครปฎิเสธต้องรับผิดชอบ



6 องค์กรอิสระเสนอโรดแมพ 6 ข้อ จี้รัฐบาลและกปปส.ส่งรายชื่อคนกลางเจรจาฝั่งละ 10 คนเพื่อสังเคราะห์รายชื่อเหมือนภายใน 7 วัน - มองประเทศบอบช้ำเกินหากอยากเห็นความสงบต้องส่งคนเจรจาเตือนถ้าไม่รับข้อเสนอเชิญทำสงครามชนช้างกันต่อแต่ต้องรับผิดชอบ

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 17 มี.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายณรงค์ รัฐอมฤต คณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายพรชัย จำรูญพานิชย์กุล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศไทยจากวิกฤติการณ์การเมืองในปัจจุบัน พร้อมกับเสนอรูปแบบและแผนที่ความสำเร็จ (Road map) ในการเจรจา ดังนี้ 1.การประกาศต่อสาธารณะและให้สังคมมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเจรจา 2.ให้มีคณะคนกลางในการเจรจาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ เพื่อรับฟังข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย 3.การรับฟังข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย และสร้างข้อเสนอใหม่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ 4.การประสานและเจรจาเพื่อปรับข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายให้เข้าใกล้กันมากที่สุด 5.จัดประชุมอย่างเป็นทางการระหว่างผู้มีอำนาจสูงสุดของทั้งสองฝ่าย เพื่อสร้างข้อยุติที่ยอมรับได้ และ 6.การร่วมแถลงผลการเจรจาต่อสาธารณะ

โดยนางผาณิต กล่าวว่าจากสภาพปัญหาที่เป็นวิกฤตทางการเมืองของประเทศ ถือเป็นวิกฤตการณ์ที่อาจนำประเทศไปสู่ความเสียหายหรือความสูญเสียที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้ โดยความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งล้วนแต่มีเจตนาดีต่อชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น จึงจำเป็นที่คนไทยต้องช่วยกันหาทางยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ และลดความขัดแย้งที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติที่อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขโดยเร็วและที่ผ่านมาองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญต่างมิได้นิ่งเฉย มีความห่วงใยในสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น จึงได้มีการหารือร่วมกันมาโดยตลอด ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมทั้งจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเห็นว่า องค์กรอิสระควรเป็นผู้ประสานเบื้องต้นในการสร้างสะพานเชื่อมในการสื่อสารประเด็นความขัดแย้งกับทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่ตกผลึกร่วมกันและข้อยุติที่เห็นพ้องต้องกัน 

"สิ่งที่เรานำเสนออาจมีคนที่ถูกใจและไม่ถูกใจ แต่ยืนยันว่าเราห่วงใยความทุกข์ร้อนของประชาชนและประเทศชาติ จึงพยายามที่จะช่วยหาทางแก้ไขเยียวยา ไม่ใช่ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญแต่ในฐานะองค์กรกลุ่มหนึ่งที่รักประเทศ ขณะเดียวกัน เราได้กระแสเรียกร้องจากหลายกลุ่มว่าองค์กรอิสระควรมาทำหน้าที่นี้ ซึ่งจากผลสำรวจก็ได้ทำผลสำรวจเมื่อปลายเดือนธันวาคม เมื่อปี 2556 ว่า อยากจะหาคนกลางมายุติปัญหาของประเทศ โดยมีข้อเสนอว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นตัวกลางในการเจรจาได้ เราจึงผนึกกำลังร่วมกันเพื่อประเทศชาติ" นางผาณิตกล่าว 

นายโอกาส เตพละกุล ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันบ้านเมืองของเราอยู่ในสภาวะที่ขัดแย้ง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม จึงเป็นความห่วงใยว่าวันหนึ่งจะถึงจุดที่เกิดความเสียหายแก่ประเทศ ซึ่งวิธีที่จะยุติความขัดแย้งได้ 2 วิธี คือ 1.เกิดการต่อสู้ที่รุนแรงทำให้ประชาชนเกิดความบาดเจ็บเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แล้วจะมีการปฏิบัติการพิเศษ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข และ2.การเจรจา โดยนำความคิดทั้งสองฝ่ายมาผสมผสาน เป็นทางเดินของทั้งสองฝ่าย และสังคมยอมรับ ขณะนี้ก็ทราบดีว่า บ้านเมืองเราเสียหาย ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ดังนั้นทาง 6 องค์กร จึงมีความห่วงใย พยายามจะหาวิธีการต่างๆ เพื่อประเทศชาตินำไปสู่ความสงบสุข และเดินหน้าด้วยความเจริญรุ่งเรืองต่อไป 

ด้านนายสมชัย กล่าวว่าการเปิดตัวขององค์กรอิสระค่อนข้างที่จะสุ่มเสี่ยงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการกดดันจากสังคมว่าเป็นการทำเกินกว่าหน้าที่หรือไม่ มีความเป็นกลางหรือไม่ จึงขอย้ำว่าแต่ละองค์กรมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาของประเทศชาติขณะนี้นั้น ไม่มีใครที่จะมีบทบาทหลักในการดำเนินการ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดระบุให้องค์กรใดเป็นผู้ดำเนินการหากเกิดความขัดแย้งจนเกิดการแตกแยกจนเกิดความล่มสลายของประเทศชาติ ดังนั้น การตระหนักในบทบาทหน้าที่ของความเป็นคนไทยที่รักชาติของ 6 องค์กร จึงได้นำเสนอกระบวนการของการเจรจา รูปแบบและแผนที่ความสำเร็จ (Road map ) เพื่อให้เกิดการยอมรับในสังคมและประสบความสำเร็จ โดยกระบวนการ Road map ได้มีการทบทวนมาหลายครั้งหลายคราจนได้ข้อสรุปข้างต้น

นายสมชัย กล่าวว่าโจทย์สำคัญคือใครจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา ซึ่งเดิมที 6 องค์กรตามรัฐธรรมนูญอาสาตัวเองเข้ามาเป็นคนกลางในการเจรจา แต่คำตอบมองแล้วว่าไม่ใช่ เพราะมองว่าบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางของเจรจาได้นั้นต้องเป็นบุคคลที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 18 มีนาคม ทางองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะส่งจดหมายถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ให้เสนอรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นคนกลางฝ่ายละ 10 คน และหลังจากนั้นจะนำ 10 ชื่อของแต่ละฝ่ายมาพิจารณาดูว่ามีชื่อที่ตรงกันเท่าใด หากได้ 5 ชื่อที่ตรงกัน บุคคลเหล่านี้ก็เป็นคนกลางในการมาเจรจาหาทางออกของบ้านเมืองต่อไป ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเสนอรูปแบบของการเจรจาและขั้นตอนโรดแมปโดยที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งรูปแบบโรดแมปในการเจรจานั้นจะเริ่มต้นเจรจาในข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ก่อน ส่วนข้อที่ 3 จนถึงข้อที่ 6 จะดำเนินการภายหลังได้ตัวแทนคนกลางเข้ามาทำหน้าที่แล้ว 

"กระบวนการดังกล่าวน่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งได้ดีที่สุด เพราะขณะนี้สังคมเป็นสังคมที่ไม่ไว้วางใจกัน ดังนั้นรูปแบบที่ดีที่สุดคือการให้แต่ละฝ่ายเสนอชื่อคนกลางมาทำหน้าที่เจรจาหาทางออกของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากระบวนการการเจรจาครั้งนี้จะไม่มีงบประมาณค่าใช้จ่ายใดๆ แต่หากเห็นว่ากระบวนการเจรจาจำเป็นต้องมีการใช้งบประมาณ ก็จะทำเป็นโครงการเสนอต่อรัฐบาลในลำดับถัดไป" นายสมชัยกล่าว

เมื่อถามว่า เรื่องของคนกลางจะเป็นกุญแจสำคัญของกระบวนการนี้ ในการเสนอชื่อ 10 ชื่อของแต่ละฝ่าย อาจจะมีโอกาสที่ชื่อทั้ง 10 ชื่อของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกันเลย เนื่งจากสังคมไทยมีบุคคลที่พร้อมจะทำหน้าที่จำนวนมาก อีกทั้งชื่อที่เสนอตรงกันก็ไม่ได้หมายความว่า เจ้าตัวที่ถูกเสนอชื่อจะพร้อมที่จะทำหน้าที่ นายสมชัย กล่าวว่า ในกระบวนการเราจะเปิดจนกว่าจะมีรายชื่อที่ตรงกัน หมายความว่า จะต้องมีการเสนอชื่อเข้ามา โดยในรอบแรกอาจจะตรงกันเพียง 1 หรือ 2 ชื่อ ก็เก็บไว้ก่อน แล้วก็คงให้เสนอใหม่อีกรอบ เพื่อให้เกิดรายชื่อให้ตรงกันให้ได้ ตนเชื่อว่า ทำไป 2-3 รอบ การปรับเข้าหากันก็จะมีมากขึ้น และผลที่อยู่ขอบข่ายดังกล่าวจะมีน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนการที่จะเรียกร้องให้ท่านเหล่านั้นเสียสละ ก็เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละ ว่า ท่านพร้อมที่จะลงมาทำหน้าที่นั้นหรือไม่ ลงมาเปียกแน่นอน ลงมาเลอะแน่นอนและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างแน่นอน แต่การลงมาดังกล่าว เป็นการทำประโยชน์เพื่อสังคม และให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ ตรงนี้จึงต้องดูตามสถานการณ์จริงๆ

"ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้ปิดกั้น ถ้าท่านคิดว่า อ.อมรา เป็นคนที่เหมาะสม ก็เสนอชื่อได้ หรือแม้แต่ท่านโอกาส ท่านผาณิต เหมาะสม ท่านก็สามารถเสนอชื่อได้ ดังนั้นจุดเริ่มต้นวันนี้ คือ เราเซ็ตซีโร เราไม่อาสาเป็นคนกลาง เราขอให้ท่านเสนอชื่อ ซึ่งท่านสามารถเสนอชื่อได้ ก็อาจจะเกิดความเป็นธรรมได้ระดับหนึ่ง"นายสมชัยกล่าว

เมื่อถามว่า หากนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ทางองค์กรจะดำเนินการอย่างไร นายโอกาส กล่าวว่า ทั้งนายกรัฐมนตรีหรือนายสุเทพก็แสดงท่าทีว่าอยากให้มีการเจรจา แต่ทางฝ่ายนายสุเทพ อาจจะมีเงื่อนไขบางประการ อีกทั้งทางผู้บัญชาการทหารบกก็ระบุว่าต้องมีการเจรจาเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทุกฝ่ายคือคนที่ปราถนาดีต่อประเทศชาติ ดังนั้นสิ่งที่เราคาดหวังว่าอย่างน้อยทั้งสองฝ่ายควรที่เสนอรายชื่อคนกลางมาเป็นผู้เจรจา และยังรอความหวังว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ประเทศชาติกลับสู่ความสงบ ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังถอยหลังลงไปเรื่อยๆ ต่อไปเราคงเป็นที่โหล่ของอาเซียน ถ้าหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหา และอาจเกิดสงครามภายในประเทศความเสียหายก็จะรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลและนายสุเทพ จะต้องเสนอรายชื่อมาเพื่อให้ปัญหายุติและเป็นข้อเสนอที่สังคมยอมรับได้ 

เมื่อถามเหตุใดจึงเจาะจงไปที่รัฐบาลและกปปส.ทั้งที่ยังมีกลุ่มที่เป็นคู่ขัดแย้งอย่างคปท.หรือรัฐวิสาหกิจ นายสมชัยกล่าวว่า กระบวนการในการออกแบบการเจรจาครั้งนี้ เราจำกัดขอบเขตความขัดแย้งระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก ถ้าหากเรายิ่งขยายวงเจรจา ก็จะทำให้ประเด็นการเจรจาแตกออกไปมากกว่านี้ ตนคิดว่าต้องจับคู่ขัดแย้งหลักก่อน อย่างไรก็ตาม บทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ยังทำหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่มีการเอาประเด็นการเจรจามาต่อรองกับองค์กรอิสระ เช่น คดีที่อยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงอยู่ กกต.ก็ต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป ตามระบบขององค์กรน้ันๆ สิ่งที่ต้องทำตามกฎหมายก็ต้องทำตามกฎหมาย ไม่มีประเด็นว่าเมื่อมีการเจรจาการยอมความกัน แล้วจะทำให้การพิจารณาคดีต่างๆยกเลิกไป เพราะเราทำหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความเป็นกลาง

นายสมชัยกล่าวอีกว่า การเจรจาที่จะเกิดขึ้น ต้องอยู่ในสายตาของประชาชน องค์กรอิสระจะมีหน้าที่สนับสนุนในเชิงนโยบาย ไม่ให้เกิดการรู้เห็นเป็นใจกันทางการเมือง หรือการทำให้ใครได้ผลัดกันครองอำนาจ เมื่อใดที่กระบวนการเจรจาเริ่มเข้าสู่การไกล่เกลี่ย เริ่มหาข้อสรุปได้ องค์กรอิสระก็จะประกาศถอนตัวจากวงเจรจาทันที เพราะเราได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว 

เมื่อถามว่าจากเงื่อนไขกลุ่มกปปส.ที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี แล้วการเจรจาในครั้งนี้จะเป็นการกดดันนายกรัฐมนตรี หรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า เรายังไม่ได้พูดถึงเนื้อหา ไม่ได้เป็นการกดดัน อีกทั้งยังไม่มีการพูดเรื่องนายกคนกลางหรือการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งแต่อย่างใด เราแค่สนใจในการสร้างกลไกในการเจรจาเท่านั้น ซึ่งอันดับแรกต้องหาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายให้ได้ก่อน ส่วนประเด็นในการออกแบบแนวทางการเจรจาและผลของการเจรจาเป็นเรื่องในอนาคตทั้งสิ้น และ 6 องค์กรอิสระก็ไม่ได้รับผิดชอบในส่วนนี้ แต่เป็นคนกลางที่จะเป็นผู้ออกแบบ สังเคราะห์ในการเจรจาของทั้งสองฝ่าย 

"การเจรจาจะเกิดขึ้นได้ ถ้าทั้งสองฝ่ายปราณนาความสงบ ถ้าไม่เสนอรายชื่อมาก็ไม่จบ เท่ากับไม่สามารถหาคนกลางได้ ก็ไม่ต้องมีการเจรจา ทำสงครามกันต่อไป เราทอดบันได้ลงให้แล้วก็ต้องรู้จักใช้บันได ถ้าหากอยากจะชนช้าง ทำศึกยุทธหัตถี ทำประเทศชาติเสียหาย ดังนั้นใครที่ไม่ยอมเข้าร่วมการเจรจาก็ต้องรับผิดชอบ" นายสมชัยกล่าว 

นางผานิตกล่าวว่า องค์กรอิสระจะให้เวลารัฐบาลและกลุ่มกปปส.เสนอรายชื่อคนกลางภายในเวลา 7 วัน โดยที่ประชุมจะมอบหมายให้นายโอกาส เป็นผู้ประสานงานคาดว่าจะทำหนังสือส่งไปยังคู่ขัดแย้งได้ไม่เกินวันพรุ่งนี้ (18 มี.ค.) เพื่อให้สถานกาณ์เกิดการคลี่คลายเร็วขึ้น 

เมื่อถามว่าหากหาคนกลางไม่ได้ต้องให้องค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติมาเป็นตัวกลางหรือไม่ นางอมรา กล่าวว่า เราต้องมีความหวัง สังคมน่าจะมีคนที่สามารถหาทางออกให้ประเทศได้ เร็วเกินไปที่จะสมมติฐานว่าหาคนกลางไม่ได้ เพราะมันมีหลายขั้นตอนกว่าจะหาคำตอบได้แบบเบ็ดเสร็จ และทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนกลางเสนอ

จากขุนศึกสู่ทหารพระราชา จากทหารพระราชาสู่ตัวตลก (หลวง)



[หลังเหตุการณ์ พฤษภา 2535] ทหารได้หมดบทบาทในฐานะ “ขุนศึก” ที่(คิดว่า) ตนเองมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจทางการเมือง ตั้งแต่ยุคของพลป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร คณะปฏิรูปการปกครอง 2519-2520 กลุ่มยังเติร์ก 2524,2528 คณะรสช. 2534-2535 
....
หลังจากนั้นทหารก็กลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในการเมืองไทย แต่การกลับมาครั้งนั้นมิใช่ในบทบาทของ “ขุนศึก” ที่มีอำนาจเต็มในการจัดอะไรก็ได้ แต่เป็น “ทหารของพระราชา” ที่ ต้องอาศัยความชอบธรรมของกษัตริย์มาเคลื่อนไหวและรุกไล่ในทางการเมือง


แต่ทหารพระราชาอย่างประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ออกมาขู่นปช. ล่าสุด ( (ชมคลิป) ผบ.ทบ. ลั่นไม่ให้เกียรติแกนนำ นปช. แนะคนไทยต้องตาสว่าง)


กลับไม่เป็นที่หวาดกลัว แต่กลับเป็นแค่ตัวตลก (หลวง) เท่านั้น

ooo
เรื่องเกี่ยวข้อง...

4 ทศวรรษ ผบ.ทบ. จากขุนศึกสู่ทหารพระราชา




ในหนังสือ เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ ของผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์ ได้สรุปบทบาทของ กองทัพในการเมืองไทย ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ว่า “กองทัพถูกบังคับให้ยอมรับการตัดลงของงบประมาณและลดขนาดกองทัพลงอย่างจริงจัง สมัยที่กองทัพมีอิทธิพลสูงในการเมืองไทยดูจะถึงกาลอวสาน” 

ข้อสรุปดังกล่าวสะท้อนผ่านการตั้งผบ.ทบ. ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวชี้ความเป็นตาย ในทางการเมืองไทย ซึ่งสะท้อนถึงความตกต่ำของกองทัพหลังพฤษภา 35 รูปธรรมหนึ่งคือการที่นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสามารถตั้งพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นมาโดยข้ามหัวนายทหารคนอื่น ๆ (ภายใต้การสนับสนุนของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและเครือข่ายกษัตริย์)

การหมดบทบาทของทหารคือการหมดบทบาทในฐานะ “ขุนศึก” ที่(คิดว่า) ตนเองมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจทางการเมือง ตั้งแต่ยุคของพลป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร คณะปฏิรูปการปกครอง 2519-2520 กลุ่มยังเติร์ก 2524,2528 คณะรสช. 2534-2535 

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงสำหรับ “อดีตขุนศึก” เมื่อการขึ้นมาของนายกรัฐมนตรีที่มีภาวะผู้นำที่เข้มแข็งนามทักษิณ ชินวัตร พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องพ้นจากตำแหน่งผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ไปดำรงตำแหน่ง ผบ.สส. ซึ่งก็คือสุสานทางการทหาร เพื่อหลีกทางให้พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก่อนจะส่งมอบตำแหน่งให้ให้พล.อ. ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ลูกพี่ลูกน้อง ของทักษิณ ชินวัตรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 (ซึ่ง ข้ามหัวนายทหารคนอื่น ๆ เหมือนเช่น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผบ.ทบ. ขณะเดียวกันการแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นองคมนตรี ภายหลังเกษียณ อายุราชการ ก็เป็นการโต้กลับของ เครือข่ายกษัตริย์ ด้วยเช่นกัน) 

แต่การขึ้นมาของพล.อ. ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เป็นช่วง “ขาลง” ของทักษิณ โดยเฉพาะปัญหา “ไฟใต้” ซึ่งปะทุขึ้นมาอีกรอบภายหลัง พล.อ. ชัยสิทธิ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เพียง 3 เดือนกับอีก 4 วัน เมื่อถึงฤดูโยกย้ายทหารความพยายามของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและเครือข่ายกษัตริย์ นำมาสู่การผลักดันให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผบ.ทบ. เมื่อเกษียณอายุก็แทนที่ด้วย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2548 

เมื่อความชอบธรรม ทางการเมืองของทักษิณ สำหรับ “ชนชั้นกลางในเมือง” หมดลงภายหลังการขายหุ้นเทมาเซค ในเดือนมกราคม 2549 หนุนเสริมกับการออกบัตรเชิญให้รัฐประหารของ พันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย กระบวนการตุลาการภิวัฒน์โดยศาลที่กระทำภายใต้พระปรมาภิไธยของพรมหากษัตริย์ การเดินสายเพื่อเรียกร้องให้ทหารรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนโดยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ส่งผลให้เกิดรัฐประหารโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หลังจากนั้นทหารก็กลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในการเมืองไทย แต่การกลับมาครั้งนั้นมิใช่ในบทบาทของ “ขุนศึก” ที่มีอำนาจเต็มในการจัดอะไรก็ได้ แต่เป็น “ทหารของพระราชา” ที่ ต้องอาศัยความชอบธรรมของกษัตริย์มาเคลื่อนไหวและรุกไล่ในทางการเมือง ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สรุปมาอย่างชัดเจนในสปีชของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก่อนรัฐประหาร 19 กันยา ว่า 
..................
“รัฐบาลก็เหมือนกับจ๊อกกี้ คือ เข้ามาดูแลทหาร แต่ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเข้ามาดูแลกำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เด็กขี่ม้าบางคนก็ขี่ดีขี่เก่ง บางคนก็ไม่ดี ขี่ไม่เก่ง รัฐบาลก็เหมือนกัน รัฐบาลบางรัฐบาลก็ทำงานดี ทำงานเก่ง บางรัฐบาลก็ทำงานไม่ดี หรือไม่เก่งก็มี นี่เป็นเรื่องจริง”
................

ตำแหน่งผบ.ทบ. ที่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวในการโยกย้าย กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 บทบาทของทหารพระราชาเด่นชัดขึ้นอีกเมื่อการขึ้นมาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในเดือนธันวาคม 2551 ก็รับรู้กันว่า จัดตั้งในค่ายทหาร ภายใต้การอ้างว่า มีผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังอีกทีหนึ่ง 

แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้หมดความชอบธรรมตั้งแต่ต้นก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ และเมื่อเกิดการล้อมปราบในเดือนเมษา-พฤษภา 2553 ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำลายความชอบธรรมลงไปอีก 

เมื่อถึงการเลือกตั้ง กรกฎาคม 2554 พรรคประชาธิปัตย์ ก็พ่ายแพ้พรรคเพื่อไทยอย่างอย่างขาดลอย

วิกฤตการเมืองกลับมาอีกครั้งในเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2556 จากความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.เหมาเข่ง จนนำมาสู่ม็อบนกหวีดและการยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 แต่ในระหว่างนี้นายสุเทพ เทออกสุบรรณ นั้นได้ต่อสายไปยังทหาร และผู้อยู่เบื้องหลังทหาร ให้ออกมาแทรกแซงทางการเมืองอีกครั้ง 

สถานการณ์ข้างหน้าไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าทหารซึ่งมิใช่ “ขุนศึก” ที่มีมาแต่เดิม แต่กลายเป็น “ทหารของพระราชา” ออกมารัฐประหารอีกครั้ง และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ ครั้งนี้ข้อสรุปจะไม่หยุดที่ว่า “สมัยที่กองทัพมีอิทธิพลสูงในการเมืองไทยดูจะถึงกาลอวสาน” แต่หมายถีงผู้อยู่เบื้องหลังทหารด้วยเช่นกัน

มาดูรถไฟเอธิโอเปียซะ


Posted: 15 Mar 2014 07:55 PM PDT

ณหทัย ตัญญะ
แปลและเรียบเรียงจาก Ethiopia: New railway project to link Addis Ababa with Djibouti

 (African Research Online) - การเชื่อมทางรถไฟเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ เป็นขั้นตอนล่าสุดของแผนเพื่อพัฒนาการเจริญเติบโตและการปฏิรูปของประเทศเอธิโอเปีย

      ฝูงอูฐซึ่งแทนที่จะเป็นหัวรถจักร กลับมาเดินเพ่นพ่านอยู่บนรางรถไฟในทะเลทรายซึ่งห่างไกลจากความเจริญแห่งนี้ เป็นเรื่องเล่าจากการสำรวจของนักผจญภัยชาวฝรั่งเศสสองคนคือ คุณอาร์เธอร์ รัมบูล (Arthur Rimbaud) กับ คุณอองรี เดอ มองไฟด์ (Henry de Monfreid) เมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20

      รางรถไฟเดิมที่ชาวฝรั่งเศสได้สร้างขึ้นมาด้วยการเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงของประเทศเอธิโอเปียคือ กรุงแอดดิสอาบาบา (Addis Ababa) ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลไปสู่เมืองท่าชายฝั่งทะเลแดงของประเทศจิบูตี (Djibouti) นั้น ปัจจุบันได้ถูกแทนที่เรียบร้อยแล้ว โดยรางรถไฟไฟฟ้าที่ประเทศจีนเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่กล้าหาญ ในการแสวงหาแนวทางเพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าด้านพาณิชย์ออกไปสู่นานาอารยะประเทศของประเทศเอธิโอเปีย

      โครงการใหม่นี้ยังเป็นการแสดงถึงสัญญลักษณ์การปรับเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศเอธิโอเปียอีกด้วย

      "ในเวลานี้คุณก็เห็นแล้วว่า การเสี่ยงเพื่อโอกาส ได้ถูกโยนออกไปแล้ว ผลประโยชน์ของประเทศจีน ประเทศอินเดีย (และ) ประเทศตุรกีนั้น ได้เข้ามาแทนที่แล้วในขณะนี้.... เวลาทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป" กล่าวโดยคุณฮิวส์ ฟองเธน (Hugues Fontaine) ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ Un Train en Afrique หรือแปลว่า รถไฟของแอฟริกา ที่เพิ่งจะตีพิมพ์ไปเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การรถไฟของประเทศเอธิโอเปีย

      แท้จริงแล้ว ประเทศเอธิโอเปียได้โยนความเสี่ยงไปทางทิศตะวันออก - โดยพยายามหานักลงทุน เพื่อที่จะช่วยให้แผนการเจริญเติบโตและการปฏิรูป (grandiose Growth and Transformation Plan หรือ GTP) อย่างยิ่งใหญ่ประสบผลสำเร็จให้ได้ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสามารถเข้าเป็นประเทศที่มีสถานะระดับรายได้ปานกลาง (Middle Income Status) ให้ได้ ภายในปี พ.ศ. 2568 (อีกประมาณ 11 ปีข้างหน้า)

      การก่อสร้างทางรถไฟนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตและการปฏิรูปประเทศ: เป็นซีรี่ย์ของการสร้างทางเดินรถไฟสายใหม่ทั้งหมด 8 สาย ด้วยระยะทางรวมถึง 4,744 กิโลเมตร (2,948 ไมล์) ซึ่งเป็นการสร้างซีรี่ย์ของเส้นทางหลักๆไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเคนย่า (Kenya), ประเทศซูดานใต้ (South Sudan), ประเทศซูดาน (Sudan) และ – ที่สำคัญมากที่สุด - คือไปยังท่าเรือของประเทศจิบูตี (Djibouti) ให้สำเร็จ

      บริษัทก่อสร้างของประเทศจีนสองบริษัทได้รับสัญญาว่าจ้างเพื่อการสร้างทางรถไฟ ที่มีราคาทั้งสิ้น 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 92,400 ล้านบาทไทย เพื่อเชื่อมต่อระหว่างกรุงแอดดิสอาบาบากับพรมแดนของประเทศจิบูตีให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2559 และบริษัทของประเทศตุรกี และของประเทศบราซิลได้ถูกกำหนดให้ทำการก่อสร้างส่วนอื่นๆ ของเครือข่ายทางรถไฟทั่วทั้งประเทศ

      “เราทำงานกันทั้งวันทั้งคืนเลย” กล่าวโดยคุณแซกกาเรีย เจมาล (Zacharia Jemal) ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการที่ทำงานให้กับบริษัทการรถไฟแห่งประเทศเอธิโอเปีย (Ethiopian Railways Corporation)

      คุณแซกกาเรีย กล่าวว่า โครงการนี้ สามารถสร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่นจำนวน 5,000 ตำแหน่ง ทำให้ประเทศเอธิโอเปียสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์หลักของประเทศเช่น เมล็ดกาแฟ และเมล็ดงา (Sesame) อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสให้กับพนักงานของประเทศเอธิโอเปียได้รับการฝึกอบรมโดยวิศวกรของ บริษัทวิศวกรรมโยธาการก่อสร้างของประเทศจีน (Chinese Civil Engineering Construction Corporation) อีกด้วย

      บริษัทนี้ เป็นบริษัทที่สร้างทางรถไฟจากเมือง เมอิโซ่ (Mieso)ไปสู่แนวเขตแดนของประเทศจิบูตี้ ด้วยต้นทุนทั้งหมด $1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (39,600 ล้านบาท) ซึ่ง 70% ของเงินจำนวนนี้ได้รับการกู้ยืมจากธนาคารการส่งออก-และการนำเข้าของประเทศจีน (Export-Import Bank of China) และอีก 30% ได้รับจากรัฐบาลของประเทศเอธิโอเปียเอง

      บริษัทของประเทศจีนอีกบริษัทหนึ่งจะเป็นผู้สร้างรางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อระหว่างกรุงแอดดิสอาบาบา กับเมือง เมอีโซ่

      รถไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้จะผลักดันให้ประเทศเอธิโอเปียเข้าสู่ยุคใหม่ของการขนส่งทางรถไฟ มันจะเป็นรถไฟฟ้ารุ่นแรกๆ ของประเทศทางฝั่งอัฟริกาตะวันออก ซึ่งวิ่งด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเรื่องง่ายและประหยัดในการบำรุงรักษา และจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรกลแทน รวมไปถึงการพึ่งพาการใช้พลังน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนซึ่งสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ

      มันยังเป็นแหล่งของความภาคภูมิใจของพนักงานก่อสร้างที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจทางอุตสาหกรรมของประเทศเอธิโอเปียอีกด้วย


000
ความคิดเห็นของผู้แปล:

      ผู้แปลได้เคยแปลบทความเกี่ยวกับประเทศเอธิโอเปียเรื่องหนึ่งเมื่อปีที่แล้วซึ่งได้นำมาลงไว้ในเว็บของไทยอีนิวส์ ชื่อว่า การเดินทางของประเทศเอธิโอเปียจากความยากจนไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง จึงขอเสริมด้วยบทความนี้

      ประเทศเอธิโอเปีย มีประชากรอยู่เกือบ 94 ล้านคน ส่วน GDP อยู่ที่ $513 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ซึ่งมีประชากรเกือบ 67 ล้านคน และ GDP อยู่ที่ $6,572 แต่ประเทศเอธิโอเปียสร้างความหวังในการพัฒนาประเทศด้วยการสร้างรถไฟไฟฟ้าเพื่อขนส่งสินค้าออกไปสู่ท่าเรือ ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรของประเทศ ประเทศเอธิโอเปียสร้างความหวังไว้ว่า ในเวลา 11 ปีข้างหน้าฐานะของประชาชนในประเทศโดยเฉลี่ยจะเข้าสู่รายได้ระดับกลาง

      ประเทศเอธิโอเปียซึ่งเราคิดว่า เป็นประเทศที่ยากจนมากๆ จนเกือบมองไม่เห็นโอกาสในการพัฒนาประเทศได้นั้น กลับสามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมา จากการเป็นผู้นำแนวคิดในการพัฒนาประเทศ ด้วยการลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐานที่นำสมัยเข้ามาสู่ภาคพื้นอัฟริกาตะวันออก ผู้นำประเทศเล็งเห็นการไกลว่า รายได้ที่เข้ามาจากการส่งสินค้าออกนั้นจะสามารถจ่ายหนี้สินที่สร้างรางรถไฟ รวมถึงการใช้พลังงานน้ำที่ผลิตได้ภายในประเทศ

      รถไฟไฟฟ้าความเร็วสูง (High-Speed Electric Train) นั้น ต่างจากรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศไทยต้องการ (High-Speed Rail System) แต่สามารถให้ความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้สามารถสร้างประสิทธิภาพได้สูงกว่ารถไฟจักรกลดีเซลได้หลายเท่าตัว และเมื่อระบบต่างๆได้รับการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์นั้น การ upgrade / update และการบำรุงรักษาย่อมทำได้ง่าย

      พื้นที่ของประเทศเอธิโอเปียส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายแต่ก็สามารถสร้างรถไฟไฟฟ้าความเร็วสูงขึ้นมาได้ และจากบล็อกที่อ่านก็บอกว่าภายในอีก 2 ปี ประเทศเอธิโอเปียก็จะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงแล้ว

      แต่ความคิดของผู้มีอำนาจบางกลุ่มในประเทศแห่งหนึ่งทางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ยังต้องการสร้างถนนลูกรังให้เสร็จก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่า การสูญเสียโอกาสครั้งยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน รวมไปถึง ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่มีราคาสูงขึ้นๆ ในทุกๆ ปี ยังไม่รวมไปถึงค่าเสียโอกาสที่ควรได้เมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้ว

      ถ้าเราเปรียบเทียบโอกาสของประเทศของเรากับประเทศเอธิโอเปียในขณะนี้ เรายังยิ้มได้อย่างภาคภูมิใจ แต่ใครจะรู้ว่าอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า ผู้นำ นักวิชาการ นักธุรกิจของประเทศของเรา อาจต้องไปขอศึกษาดูงานจากประเทศเอธิโอเปียเพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศ!

      ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Ethiopia: New railway project to link Addis Ababa with Djibouti 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น