วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปฏิบัติการ ผ่าทางตัน ปฏิวัติเงียบๆ ใน ร.1 รอ. รายงานพิเศษมติชนสุดสัปดาห์

 

ปฏิบัติการ ผ่าทางตัน ปฏิวัติเงียบๆ ใน ร.1 รอ. 

รายงานพิเศษมติชนสุดสัปดาห์

วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เวลา 07:44:07 น.

  


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)
 

 รายงานพิเศษ

ปฏิบัติการ ผ่าทางตัน ปฏิวัติเงียบๆ ใน ร.1 รอ. เมื่อ "ประยุทธ์" เล่นบทพระเอก เมื่อตัวอยู่กับ "ปู" แต่ใจอยู่กับ "ม็อบ"

 

ท่ามกลางทุกสายตาที่จับจ้องมาที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) หลังจากที่ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จัดตั้งที่บังคับการภาคสนาม หรือที่ทหารเรียกว่า "ทก." Command Post แล้วไปนั่งทำงานประชุมกันตั้งแต่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

เพราะสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทำไมต้องไปรวมตัวประชุมกับแม่ทัพนายกอง ที่ ร.1 รอ. ตลอด โดยไม่น่าจะเพราะเหตุผลเรื่องการจราจร การเดินทางไม่สะดวก เพราะกองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนั้นอยู่ในวงล้อมของการชุมนุม จนหวาดหวั่นกันว่า อาจเตรียมแผนก่อปฏิวัติรัฐประหารนั้น

ร.1 รอ. ก็ได้กลายเป็นค่ายทหารที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เมื่อได้กลายเป็นค่ายทหารที่ถูกใช้เป็นสถานที่ในการแก้วิกฤติทางการเมืองอีกครั้ง

เมื่อมีการพบปะเจรจาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการชุมนุมต่อต้านระบอบทักษิณ เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2556

จากที่เมื่อปี 2551 ร.1 รอ. แห่งนี้ก็เป็นสถานที่ที่ผู้นำทหาร เชิญพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมาพูดคุย เพื่อให้ย้ายข้างมาหนุนจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนกลายเป็นวลี "ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร" ที่กลายเป็นบาดแผลที่พรรคประชาธิปัตย์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกสะกิดมาตลอด

ทว่า แตกต่างกันตรงที่ เป็นการพูดคุยกันที่บ้านพักของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. ในเวลานั้น ใน ร.1 รอ. นั่นเอง



ครั้งนี้ การเผชิญหน้าของนายสุเทพ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกิดขึ้นที่ ร.1 พัน 4 รอ. ในรั้ว ร.1 รอ. เพราะไม่ต้องการใช้บ้าน พล.อ.ประวิตร หรือมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ซ้ำรอยเดิมอีก

แต่ที่คล้ายกันคือ มีคนที่เป็น ผบ.ทบ. เป็นคีย์แมนที่มีบทบาทสำคัญ เหมือนกัน โดยครั้งนั้น มี บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในเวลานั้น แต่มาตอนนี้ 2556 มี บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. เป็นแกนหลักสำคัญ

ที่พิเศษกว่าคือ ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ ผบ.ทบ. ไม่ใช่แค่กองทัพบก แต่เป็นในนามกองทัพ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เชิญ บิ๊กเข้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. และ บิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. มาร่วมเป็นสักขีพยานในการพูดคุยของนายสุเทพ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วย เพื่อให้เป็นทางการ

แต่ที่เม้าธ์กันอยู่ก็คือ บนโต๊ะเจรจานี้ ไม่มี บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ร่วมด้วย บ้างก็เพราะว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ เดินทางไปสิงคโปร์ บ้างก็วิจารณ์ว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ ไม่ขอเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไป แต่บ้างก็ว่า เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมเชื้อเชิญ เพราะต้องการมีบทบาทหลัก

เนื่องจากแนวคิดในการเชิญแกนนำ 2 ฝ่ายมาพูดคุยกันนี้ เป็นไอเดียของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วก็ไปตรงใจกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พอดี ที่ต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออก และมองว่า กองทัพเป็นองค์กรที่ใครๆ ก็เกรงใจ

เนื่องจากนายสุเทพ ไม่ยอมเจรจามาตั้งแต่ต้น แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นรู้ดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้นมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับนายสุเทพ แกนนำผู้ชุมนุม ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และร่วมปราบเสื้อแดงด้วยกันมา

ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องการมีบทบาทหลัก ในการเป็นคนกลางในการเจรจาสงบศึกครั้งนี้



ที่น่าสังเกตคือ ในวันรุ่งขึ้น 2 ธันวาคม พล.อ.ธนะศักดิ์ ได้เชิญ ผบ.เหล่าทัพ พบปะทานข้าว และหารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองทันที โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ สรุปเนื้อหาการเจรจาให้รับทราบ

ด้วยเพราะการเจรจาวันนั้น ล้มเหลว เนื่องจากนายสุเทพยืนกรานไม่ยอมรับการยุบสภา หรือลาออก แต่ต้องการให้นายกรัฐมนตรี คืนอำนาจให้ประชาชน แล้วตั้งสภาประชาชน ขึ้นมาเท่านั้น แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยืนยันว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

แต่สิ่งหนึ่งที่ ผบ.เหล่าทัพ ทุกคนเห็นตรงกันก็คือ การปะทะกันของตำรวจกับผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะด้วยแก๊สน้ำตา หรือในบางจุดใช้กระสุนยาง บ้านเมืองที่วุ่นวายนั้น ไม่เป็นผลดีต่อชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง 5 ธันวาคม แล้ว จึงมีการต่อสายเจรจากับฝ่ายแกนนำการชุมนุม เพื่อให้ยอมยุติการบุกเข้ายึดสถานที่ชั่วคราว

อีกทั้งมีการพูดคุยกันของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. อดีต รอง ผบ.ตร. ได้มีการหารือกับ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. ที่เป็นเพื่อน 1430 ด้วยกัน จนมีการพบกันครึ่งทาง ด้วยการขอให้ตำรวจเปิดทางให้ผู้ชุมนุมเข้าไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นการแสดงชัยชนะ แต่มีสัญญาสุภาพบุรุษ ที่จะไม่ให้ผู้ชุมนุมรุกล้ำเข้าในตัวอาคาร และไม่พักค้างคืน ให้แสดงกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์เสร็จแล้ว ให้ถอนออกไป และเตรียมสถานที่ต่างๆ พร้อมสำหรับจัดงานวันพ่อ 5 ธันวาคม

ประกอบกับในบริเวณนั้นอยู่ใกล้เขตพระราชฐาน และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จกลับจากต่างประเทศ วันที่ 4 ธันวาคม ด้วย

จึงกลายเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ที่จู่ๆ ตำรวจยอมเปิดทางให้ผู้ชุมนุมเข้าไปอย่างง่ายดาย เมื่อเช้า 3 ธันวาคม แล้วทำตามสัญญาคือ เข้าไปประกาศชัยชนะแล้วก็กลับที่ตั้ง เวทีราชดำเนิน

เป็นอันพักยก การสู้รบกันไว้ชั่วคราว ที่เชื่อกันว่า หลัง 5 ธันวาคม แล้ว หากไม่มีพระบรมราโชวาทใดๆ นายสุเทพ ก็จะปลุกกระแส ต่อ

แต่ฝ่ายรัฐบาลหวังว่า ด้วยจังหวะเวลาแล้ว ที่ใกล้ช่วงเทศกาลความสุข คริสต์มาส ปีใหม่ คนไทยก็คงอยากกลับบ้านฉลอง ไม่อยากมาชุมนุมแล้ว ก็จะทำให้ยื้อเวลารัฐบาลไปได้อีก

ขณะที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ นั้นก็นัดแนะ ผบ. 3 เหล่าทัพ หลัง 5 ธันวาคม เพื่อหาทางออกให้กับชาติบ้านเมือง ที่อาจจะเป็นการแก้ตัว ที่ไม่ได้ร่วมวง ผบ.เหล่าทัพ บนโต๊ะเจรจาที่ ร.1 รอ. อีกด้วย



ท่ามกลางบทบาทของกองทัพที่ถูกจับตามองในวิกฤติการเมืองครั้งนี้ที่ยังไม่รู้จุดจบ ยังไม่มีทางออก

โดยเฉพาะบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ. ที่คุมกำลังรบใหญ่ที่สุด มากที่สุด จนมีพลังอำนาจแฝงทางการเมือง เพราะเป็นคนคุมอำนาจการปฏิวัติไว้ในมือ ว่า เลือกข้างไหน

ด้วยเพราะที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมก็พยายามดึงกองทัพมาเป็นพวก ทั้งการเดินทางไปที่กระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

โดยเฉพาะการบุกไปยึดที่กองทัพบก โดยไม่ได้คาดฝัน เมื่อเที่ยงวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ทำให้จุดยืนของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตั้งคำถามมาก เนื่องจากกองทัพบก ไม่มีการป้องกันใดๆ ทั้งๆ ที่เป็นกองทัพ เป็นหน่วยความมั่นคงอันดับ 1 ของประเทศ แต่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมพังประตูเข้ามายึดได้อย่างง่ายๆ

อีกทั้งเมื่อเข้ามาแล้ว ผู้ชุมนุมก็ถูกขีดเส้นให้อยู่แค่สนามหญ้าหน้า บก.ทบ. เท่านั้น ไม่รุกล้ำเข้าตามอาคารต่างๆ ใน บก.ทบ. ราวกับมีการเจรจาตกลงกันมาแล้ว ระหว่าง ทบ. กับแกนนำการชุมนุมว่าจะเข้ามายื่นหนังสือถึง ผบ.ทบ. และกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกอยู่ข้างประชาชนเท่านั้น

แต่ทว่า ฝ่ายทหารแตงโม และฝ่ายรัฐบาล ค่อนข้างติดใจกับเหตุการณ์นี้และจุดยืนของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น้อย

ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งชุดแพทย์ทหาร ทหารเสนารักษ์ ไปช่วยดูแลผู้ชุมนุมที่โดนแก๊สน้ำตา และบาดเจ็บ จนทำให้ทหารกลายเป็นฮีโร่ของผู้ชุมนุม และส่งผลให้ผู้ชุมนุมเริ่มเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีใจให้ผู้ชุมนุม

ไม่แค่นั้น ตลอดเวลาที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าฝ่าแนวกั้นของตำรวจ แล้วโดนแก๊สน้ำตา เมื่อ 2-3 ธันวาคม นั้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเป็นห่วงใย ให้ รองโฆษก ทบ. แถลงข่าวตลอด แสดงความเป็นห่วงเป็นใย และไฟเขียวให้เข้าไปใช้พื้นที่ในหน่วยทหารในการพักผ่อนได้ และเตือนให้ระวังมือที่ 3 พร้อมระบุว่า มีอะไรให้บอกทหารได้

ก็ยิ่งทำให้ทหารแตงโม ฟันธงว่า หัวใจของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น อยู่กับผู้ชุมนุม แต่ทว่า ตัว จำต้องทำหน้าที่ ผบ.ทบ. ในฐานะที่กองทัพบกเป็นกลไกของรัฐบาล จนทำให้นายสุเทพ กล้าที่จะพูดว่า ไม่มีทางที่ทหารจะหันปากกระบอกปืนมาทางผู้ชุมนุม



นี่กระมังที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ พูดบนโต๊ะเจรจาของนายสุเทพ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า "ผมไม่ได้อยู่ข้างไหน แต่ผมอยู่ข้างประเทศไทย และอยู่ข้างประชาชนของประเทศ"

ด้วยเพราะทหารนั้นมีผู้บังคับบัญชาอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ รัฐบาล แต่อีกส่วนหนึ่งคือ ประเทศชาติ

"ผมไม่อยากให้มีการปะทะ มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ ตลอดทั้งวันที่ 1 ธันวาคม ก่อนที่จะมีการเจรจากันในตอนค่ำนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกร้องให้สื่อมวลชนช่วยกันสนับสนุน ให้ 2 ฝ่ายยุติการปะทะกันก่อน และให้มีการเจรจาของแกนนำ 2 ฝ่าย เพื่อหาทางออก

โดยก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการร้องขอจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีความสนิทสนม และพูดคุยกันอยู่ตลอดทุกวัน จนที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นแกนนำในการจัดให้มีการเจรจาในค่ายทหารขึ้น

แม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็เป็นความพยายามให้เห็นว่า กองทัพไม่ได้นิ่งดูดายกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีทางเลือกให้แสดงบทบาทใดๆ ได้มากมายนัก

แต่ทว่า ก็เสี่ยงต่อการถูกวิจารณ์ว่าแทรกแซงการเมือง เพราะหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยอมทำตามข้อเสนอของนายสุเทพ การเจรจาครั้งนี้ ต่อหน้า ผบ.เหล่าทัพ ก็จะถูกมองว่า เป็น "การปฏิวัติเงียบ" หรือเพราะนายกฯ ถูกทหารบังคับ

ที่สำคัญส่วนหนึ่ง เพราะกองทัพไม่ต้องการจะก่อการปฏิวัติรัฐประหาร เช่นที่ฝ่ายผู้ชุมนุมต้องการ เพื่อให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ แล้ว ตั้งสภาประชาชนขึ้นมา ตามที่นายสุเทพเสนอ ด้วย พล.อ.ประยุทธ์ และ ผบ.เหล่าทัพ ต่างมีบทเรียนในอดีตมาแล้ว จึงไม่อยากจะปฏิวัติ เอาปัญหาทุกอย่างมาแบกไว้คนเดียว



แต่ในเมื่อปัญหายังไม่จบ จึงทำให้กองทัพถูกจับตามองเขม็งนับจากนี้ เนื่องจากมีข่าวบางกระแส ในหมู่ทหารแตงโม ที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สงสัยในบทบาทของกองทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ และนายทหารที่สนิทสนม ทั้ง พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีต รอง ผบ.ทบ. เพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์

โดยเฉพาะความใกล้ชิดสนิทสนมกับนายสุเทพ ที่พวกเขารียกติดปากว่า "น้าเทพ" และมองว่าอาจเป็นฝ่ายมันสมองให้ ยิ่งเมื่อมีการตั้งเป็น "คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กป.ปส.) ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ถูกมองว่า เพราะมีพื้นฐานแนวคิดเดียวกับ เมื่อครั้งที่มีการตั้งชื่อ คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

มีรายงานว่า แผนเดิมของนายทหารสายอำมาตย์ นั้น ต้องการให้เกิดการปฏิวัติประชาชน โดยให้นายสุเทพ เป็นแกนนำ แล้วกองทัพหนุนหลัง เนื่องจากการปฏิวัติรัฐประหาร แบบเดิมนั้น จะไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมโลก อีกทั้งฝ่ายทหารเองก็เข็ดขยาดกับบทเรียนปฏิวัติในอดีต ที่แรกๆ ได้ดอกไม้ แต่หลังจากนั้นทหารถูกด่า

แต่ทว่า แผนการปฏิวัติประชาชน นั้นไม่สำเร็จ แม้ว่าจะมีการระดมคนให้มาร่วมมากที่สุด เป็นแสนคน หรือที่ฝ่ายนายสุเทพ อ้างว่า มากกว่า 1 ล้านคน

แต่เพราะมีปัจจัยที่คาดไม่ถึงคือ แม้มีการระดมผู้ชุมนุมมาได้จำนวนมาก แต่ก็ได้เฉพาะการชุมนุมใหญ่ ในการชุมนุมปกติ ก็มีมวลชนมาไม่มาก พอที่จะเอากำลังประชาชนไปยึดสถานที่สำคัญต่างๆ ได้ตามแผน

ประการหนึ่ง เพราะคนกรุงเทพฯ คนเมือง จำนวนไม่น้อย ที่มาร่วมม็อบ เพราะอยากมาดู มารู้เห็น มาตามสมัยนิยม มาถ่ายรูป โพสต์ Facebook แล้วก็กลับ ทานข้าว มาเที่ยว พอเหนื่อย ร้อน ก็กลับ ไม่ได้มาปักหลักอยู่ตลอด จึงทำให้ไม่มีมวลชนมากพอที่จะก่อการปฏิวัติ



แผนการปฏิวัติโดยประชาชน ต้องใช้มวลชนจำนวนมาก เข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญๆ ที่เป็น center of gravity ของรัฐบาล และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยให้ทหารหนุนอยู่เงียบๆ นั้นก็ล้มเหลว ทำไม่ได้ เพราะมีคนน้อย แต่ถ้ามีมวลชนมหาศาล เข้ายึดตามแผน ก็จะเป็นการบีบให้กองทัพเข้าร่วมกับประชาชน มากกว่าการเข้าข้างรัฐบาล แล้วออกมาสลายม็อบ แน่นอน

เพราะหากสำเร็จก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วร่างขึ้นมาใหม่ เพื่อเปิดช่องให้มีการตั้งสภาประชาชน หรือคณะผู้บริหารประเทศ เพื่อจัดการเลือกตั้ง โดยมีการคิดๆ กันไว้ ว่า คณะผู้บริหารประเทศนี้ อาจจะต้องเอานายทหารที่เป็นที่ยอมรับ หรือ องคมนตรี

โดยมีชื่อของบุคคลที่ชื่อ "พ." ซึ่งเป็นคนที่ทางสายอำมาตย์ และกองทัพ ได้เตรียมเจรจาหารือเอาไว้แล้ว

แต่ก็ใช่ว่า แผนการปฏิวัติโดยประชาชน ที่มีทหารหนุนหลังเงียบๆ จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะวันนี้ สงครามยังไม่จบ แถมยังไม่มีทางเลือกมากนัก

ที่สำคัญคือ หัวใจบิ๊กตู่ นั้นอยู่ฝั่งประชาชน แต่ทว่า ตัว ยังต้องทำหน้าที่ ผบ.ทบ. ที่มีรัฐบาล มี รมว.กลาโหม และนายกรัฐมนตรี เป็น ผู้บังคับบัญชา ต่อไป โดยมีบทเรียนในอดีต หลอกหลอนเตือนสติและเตือนหัวใจของเขาอยู่ตลอดเวลา



............



(ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 6-12 ธันวาคม 2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น