วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เปิดตัว "สมัชชาปกป้องปชต." โต้ กปปส. บิดเบือนรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย

 

เปิดตัว "สมัชชาปกป้องปชต." โต้ กปปส. 

บิดเบือนรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย

Prev
1 of 1
Next

คลิกภาพเพื่อขยาย

updated: 10 ธ.ค. 2556 เวลา 13:53:07 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



วลา 12.40 น. วันที่ 10 ธันวาคม ที่ห้อง 107 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดแถลงข่าวเปิดตัวสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวได้แก่ นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และ คณะนิติราษฎร์  นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และ คณะนิติราษฎร์  และนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 

สำหรับแถลงการณ์สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยฉบับที่ 1 โดยย่อมีดังนี้ 

“สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักวิชาการ และประชาชนหลากหลายอาชีพ ขอแถลงโต้แย้งประเด็นที่ กปปส. ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) และ นักวิชาการจำนวนหนึ่งที่นำเสนอความเห็นไปในทิศทางที่ขัดกับกติกาประชาธิปไตยในภาวะวิกฤติของบ้านเมือง ดังนี้

1.การก่อตั้งสภาประชาชน: ความเคลื่อนไหวที่นำมาสู่การจัดตั้งสภาประชาชน มีที่มาจากการข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลและรัฐสภาไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลและรัฐสภาจึงหมดความชอบธรรม และจำต้องจัดตั้งสภาประชาชนด้วยการอ้างอิงมาตราที่ 3 ของรัฐธรรมนูญ 2550 โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สมัชชาฯ ขอแถลงว่า กระบวนที่นำมาซึ่งการก่อตั้งสภาประชาชนโดยไม่เข้าสู่กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางปรกติ ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร ทั้งนี้จำต้องชี้แจงว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่มีฐานอำนาจตามรัฐธรรมนูญรองรับ จึงไม่มีผลทางกฏหมาย
นอกจากนี้ การอ้างอิงมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้งสภาประชาชนนั้น ไม่สามารถทำได้เพราะไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เว้นแต่จะต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน ประการสำคัญ การนำเสนอเรื่องของสภาประชาชนไม่มีความชัดเจนถึงความยืดโยงกับความเป็นตัวแทนของประชาชนไม่คำนึงถึงความเท่าเทียมและความหลากหลายทางความคิดโดยเฉพาะต่อประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมกับกปปส.

2.ข้อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลางหลังการยุบสภาเป็นที่มาจากการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา7ของรัฐธรรมนูญ หรืออาจเรียกง่ายๆว่า “นายกฯคนกลางพระราชทาน” เป็นการพยายามตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามครรลองของหลักการประชาธิปไตย และละเมิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีภายหลังจากการยุบสภาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มารับหน้าที่เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง

อีกทั้งกระบวนการใดๆที่ขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งเหนี่ยวรั้งให้การเลือกตั้งล่าช้าหรือสร้างสูญญากาศทางการเมืองถือเป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเสียเองนอกจากไม่เป็นคุณต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ต้องเคารพในสิทธิมนุษยชนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นความเท่าเทียมสันติภาพและอาจนำไปสู่วิกฤติความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นด้วย

3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยขอยืนยันว่ารัฐธรรมนูญเป็นกติกาประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพ แต่รัฐธรรมนูญนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยเจตจำนงของประชาชนและต้องคำนึงถึงทั้งหลักประชาธิปไตยและหลักการที่ไม่ทำลายสังคมประชาธิปไตยเสียเองทั้งนี้หากมีความไม่เห็นพ้องต้องกันถึงกติกาประชาธิปไตยฉบับนี้ก็สมควรจะร่วมกันหาทางออกที่ได้รับการยอมรับกันทุกฝ่ายสมัชชาฯขอเสนอว่าการร่วมกันออกแบบการทำประชามติในการแก้ไขหรือยืนยันการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี2550ควรเป็นทางออกของสังคม

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเป็นสมาชิกร่วมกับกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยสามารถเข้าไปเข้าร่วมที่เฟซบุ๊คเพจ"สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย" หรือ email : AFDD.thailand@gmail.com







ที่มา เฟซบุ๊ค สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น