วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อารยะขัดขืนคำสั่งอธิการฯ ธรรมศาสตร์

วันที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เวลา 12:06 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


อารยะขัดขืนคำสั่งอธิการฯ ธรรมศาสตร์

รายงานพิเศษ


หมายเหตุ : กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ประกอบด้วย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน นายยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 

นายประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง นายปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ นายปกป้อง จันวิทย์ น.ส.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ ร่วมเสวนาธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะหัวข้อ "ห้องเรียนประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ มธ.ศูนย์รังสิต 

ตอบโต้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมธ. ที่เห็นชอบกับมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกาศหยุดการเรียนการสอน และเสนอให้มีรัฐบาลรักษาการ สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.

  • ภาพ : สมคิด เลิศไพฑูรย์
  • ภาพ : ซ้าย : วรเจตน์ ภาคีรัตน์ , ขวา : ประจักษ์ ก้องกีรติ



  • วรเจตน์ ภาคีรัตน์
    หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน


    นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประกาศหยุดการเรียนการสอนวันที่ 3-4 ธ.ค. ของมธ.ทุกศูนย์การศึกษา ทั้งที่ท่าพระจันทร์ รังสิต พัทยา และลำปาง 

    โดยให้เหตุผลสถานการณ์การเมืองในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดพัฒนาไปสู่ความรุนแรง และมีแนวโน้มขยายตัวไปมากยิ่งกว่าเดิมจนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนและการทำงาน 

    กฎหมายให้ดุลพินิจสั่งการเรียนการสอน ไม่ได้หมาย ความว่าจะสั่งอย่างไรก็ได้และต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ไม่ใช่ทำอย่างไรก็ได้ตามใจ ต้องมีเหตุผลรองรับ 

    การปิดการเรียนการสอนเท่ากับมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นองค์กรสาธารณะ อาจารย์หลายคนหารือกันแล้วให้อธิการบดีใช้ดุลพินิจได้ในการเรียนการสอน แต่การสั่งให้หยุดทุกวิทยาเขตนั้นถูกต้องหรือไม่ 

    ที่ท่าพระจันทร์อาจมีเหตุผลเพราะผู้ชุมนุมอยู่ที่ถนนราชดำเนิน อาจทำให้การมาเรียนมาสอนลำบาก ถ้าสั่งหยุดบรรยายบางส่วนอาจมีเหตุผล แต่ที่ลำปางไม่มีสถานการณ์ชุมนุม นักศึกษาที่ศูนย์รังสิตส่วนใหญ่ก็อยู่หอพัก 

    ที่ผ่านมา มธ.มีบทบาททางการเมืองอย่างมากในนามของมธ. ทั้งการคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผมและอาจารย์นิติราษฎร์เองก็ไม่เห็นด้วย 

    แต่การไม่เห็นด้วยในนามมธ. โดยอ้างเป็นของประชาคมธรรมศาสตร์ การอ้างชื่อทุกคนในมธ.นั้นทำไม่ได้ อย่างน้อยต้องประชุมประชาคมก่อน อธิการบดีและอาจารย์คัดค้านในฐานะส่วนตัวได้ แต่ไม่ใช่นำชื่อของมหาวิทยาลัยไปดำเนินการ 

    บทบาทของ ทปอ.ที่จะให้หยุดเรียนสุ่มเสี่ยงถูกมองว่าเข้าไปเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย คนภายนอกมองว่าอาจารย์และสังคมธรรมศาสตร์เห็นด้วยกับผู้บริหาร

    การมาวันนี้เป็นเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงออกว่า มธ. ไม่ใช่ของอธิการบดีที่จะสั่งอะไรก็ได้

    สถานการณ์การ เมืองขณะนี้มีความพยายามที่จะให้เกิดรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มีการเสนอยุบสภา ให้ครม.ลาออกทั้งคณะเปิดทางให้มี นายกฯรักษาการจากภายนอก และให้มีสภาประชาชนอาศัยอำนาจจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 

    เป็นข้อเสนอจากนักวิชาการหลายแห่ง และทปอ. เรื่องนี้ทางกฎหมายทำได้หรือไม่ หากรัฐธรรมนูญยังใช้อยู่ทำไม่ได้ ที่มานายกฯ จะมาจากไหน 

    อธิการบดีมธ.ที่เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่าเป็นนายกฯ คนนอกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. มีบทบัญญัติใดรองรับ คำตอบคือไม่มี การใช้รัฐธรรมนูญเราจะไม่ใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นปัญหาในทางกฎหมายที่หาทางออกไม่ได้ เว้นแต่ใช้อำนาจนอกระบบ 

    สมมติว่ามีการยุบสภาจริง ครม.จะพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ รัฐธรรมนูญบังคับว่าครม.ที่พ้นจากตำแหน่งต้องทำหน้าที่ต่อจนกว่าครม.ชุดใหม่จะทำหน้าที่ นั่นคือมีการเลือกตั้งทั่วไป

    ครม.จะพ้นจากตำแหน่งได้คือเสียชีวิตทั้งคณะ เมื่อเกิดขึ้นก็จะไม่มีใครรักษาการ แต่ก็ยังหานายกฯรักษาการไม่ได้อยู่ดีเพราะครม.พ้นจากตำแหน่ง 

    ในทางกฎหมายต้องให้ปลัดกระทรวงขึ้นมาทำหน้าที่บริหารชั่วคราว เป็นการอนุโลมตีความตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จากนั้นต้องเลือกตั้งมีส.ส. และตั้งครม.ทำหน้าที่ต่อไป 

    รัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้ตั้งบุคคลภายนอกได้เว้นแต่จะขัดขืนโดยใช้อำนาจพิเศษบางอย่าง ไม่ให้รัฐธรรมนูญใช้บังคับได้ 

    ส่วนการตั้งสภาประชาชนโดยยุบสภาหานายกฯมาทำหน้าที่แทน โดยอาศัยมาตรา 3 นั้น มาตรา 3 ระบุอำนาจอธิปไตยเป็นของชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น ทางรัฐสภา ครม. และศาล 

    จริงๆ คือการประกาศหลักการ 2 อย่าง คือ 1.ประชาธิปไตยที่บอกว่าผู้ทรงอำนาจนั้นคือประชาชน 2.การแบ่งแยกอำนาจ จะต้องใช้ผ่านองค์กรรัฐต่างๆ ประชาชนจะเข้ามาตั้งสภาประชาชนไม่ได้ จะทำได้ต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและยกร่างใหม่ทั้งฉบับ 

    การใช้อำนาจของประชาชนมี 2 ข้อ คือ 1.ประชาชนใช้อำนาจโดยตรง 2.ใช้โดยผ่านองค์กรของรัฐ การใช้อำนาจโดยตรงคือ ออกเสียงประชามติ และออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป 

    วิธีการที่ถูกต้องคือการสนับสนุนให้มีการปฏิรูปประเทศ การเสนออะไรก็ตามต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เปิดให้อำนาจนอกระบบเข้ามา หากมีการแทรกแซงจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจ

    มีคำถามว่าการที่รัฐสภาปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะคำวินิจฉัยของศาลระบุว่าให้ผูกพันองค์กรของรัฐ 

    แต่คำวินิจฉัยองค์กรของรัฐต้องวินิจฉัยโดยชอบ แต่หากโดยมิชอบ รัฐสภามีอำนาจปฏิเสธไม่รับเรื่องที่ตัดสินได้ ยืนยันว่าไม่ใช่กบฏ เป็นเรื่องรักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ 



    ประจักษ์ ก้องกีรติ
    คณะรัฐศาสตร์ 
    สาขาการเมืองการปกครอง



    มธ.กำลังถูกมองจากสังคมผ่านการกระทำของ ผู้บริหารว่าเราเลือกข้าง ซึ่งหมิ่นเหม่ที่จะเกิดการปกครองนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ ต้องยึดมั่นในหลักการ ความขัดแย้งยากจะคลี่คลายเพราะประชาชนไม่เป็นเอกภาพ ยากจะอ้างว่าเป็นเสียงของประชาชนได้ทั้งหมด 

    ทปอ.ออกมาพูดเหมือนคนทั้ง 65 ล้านคน คิดแบบเดียวกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งอันตรายมาก เพราะจะทำให้เสียงของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งหายไป และสภาวะที่เห็นต่างก็อยู่ในคนทุกระดับ 

    การหยุดเรียนเกิดขึ้นในบริบทของ กปปส.ไปเจรจากับรัฐบาลและผู้นำเหล่าทัพ อธิการบดีมธ.บอกว่า กองทัพเป็นตัวกลางในการเจรจาและกปปส.เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว 

    ไม่เคยมีตำราที่ไหนบอกว่าทหารมีอำนาจรองรับองค์กรให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่เกี่ยวกัน ขณะที่มีการเจรจากับกลุ่มที่เจรจาในสามจังหวัดใต้ก็มีทหารเจรจาด้วย ก็ไม่เห็นว่ามีใครมาบอกว่ากลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นองค์กรถูกต้องตามกฎหมาย 

    ที่ผ่านมา นายสุเทพประกาศว่าให้หน่วยราชการหยุดงานเพื่อแสดงพลังสนับสนุน กปปส. แต่ มธ.ประกาศหยุดเรียนต่อเนื่อง 3-4 ธ.ค. ซึ่งไม่ถูกต้อง 

    การที่อธิการฯประกาศอย่างใดอย่างหนึ่งโดยที่ไม่ถามความคิดเห็นของอาจารย์และนักศึกษา สะท้อนสภาวะการขาดประชาธิปไตยใน มธ.อย่างรุนแรง 

    การประกาศหยุดเรียนจะไปเอื้อต่อคำประกาศของนายสุเทพหรือไม่ ทั้งที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่มีใครหยุดงาน จึงอดคิดไม่ได้ว่าเป็นเจตนารมณ์บางอย่างทางการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ อธิการบดี ผู้บริหาร มธ.จำเป็นต้องตอบคำถามนี้ 

    การเคลื่อนไหวของ กปปส.ตั้งแต่ต้นมีการยั่วยุ เปิดช่องให้มีการเผชิญหน้า เกิดการรุนแรง ให้มีการแทรกแซงทางการเมืองนอกประชาธิปไตย นอกรัฐธรรมนูญ 

    เราไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนอกรัฐธรรมนูญอีกครั้งเพราะจะพาให้ประเทศไม่ก้าวหน้า เราเคยมีรัฐบาลคนดีมาแล้ว แต่หลายคนก็น้ำตาตกให้กับรัฐบาลชุดนั้น 

    เราต้องเริ่มจากการยอมรับว่ามีความเห็นต่างในสังคมนี้จริง ท่ามกลางที่สถาบันทุกองค์กรเลือกข้างไปหมดแล้ว อย่างน้อยยังมีความหวังกับสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะ มธ.ที่มีจุดยืนเพื่อประชาธิปไตย 

    เราต้องเป็นสติให้สังคม อย่ากระโดดลงไปเป็นตัวละครทางการเมืองอีกตัวหนึ่งที่ไปซ้ำเติมให้สังคมแตกขั้วมากขึ้น นำพาสังคมไปสู่ทางตันที่ไม่มีทางออก

    มธ.ต้องปฏิรูปอย่างจริงจัง ในมหาวิทยาลัยเรามีประชาธิปไตยมากแค่ไหน มธ.ถูกผูกขาดโดยกลุ่มอำนาจหรือไม่ 

    ส่วนสถานการณ์เฉพาะหน้าขณะนี้ นักการเมือง ที่แพ้การเลือกตั้งกับชนชั้นนำอนุรักษนิยมใช้ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อการเมืองปัจจุบันไปล้มล้างรัฐบาลด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ และนำอำนาจของตนเองกลับมาใหม่ ขอเรียกว่าทรราชเสียงข้างน้อย 

    กลัวว่าหากสมมติรัฐบาลถูกล้มได้จริง วันรุ่งขึ้นผู้ชุมนุมจะไม่ได้พบกับรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม แต่จะได้รัฐบาลที่ตรวจสอบได้น้อย ไม่ยึดโยงกับประชาชน 

    หน้าตาของสภาประชาชนจะเป็นเช่นไร ผู้ชุมนุมต้องตั้งคำถาม ไม่ใช่ประชาชนทั่วไปแน่นอน แต่เกรงว่าจะเป็นสภาของชนชั้นนำกลุ่มน้อย อาจจะมีคนอย่างกลุ่ม 40 ส.ว. ทปอ. อธิการบดี

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น