วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ไว้อาลัย เนลสัน แมนเดลา Amandla!

วันศุกร์, ธันวาคม 06, 2556

ไว้อาลัย เนลสัน แมนเดลา Amandla!



โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

เนลสัน แมนเดลา คือบิดาแห่งการต่อสู้เพื่อล้มล้างระบบ “อาพาร์ไทยท์” ซึ่งเป็นระบบเหยียดสีผิวในประเทศอัฟริกาใต้ ที่กีดกันคนผิวดำคนส่วนใหญ่ของประเทศ ออกจากสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน

     แมนเดลา นำการจับอาวุธต่อสู้กับรัฐเผด็จการของคนผิวขาว และต้องทนทุกข์ทรมานในคุกเป็นเวลา 27 ปี ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอัฟริกาใต้ที่มาจากการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย โดยที่คนผิวดำทุกคนได้สิทธิ์เลือกผู้นำของตนเองเป็นครั้งแรกในปี 1994

     แมนเดลา เป็นหัวหน้าพรรค African National Congress (ANC) หรือ “พรรคสภาแห่งชาติอัฟริกา” และในปี 1955 พรรค ANC ได้ประกาศ “ธรรมนูญแห่งเสรีภาพ” (Freedom Charter)เพื่อเป็นแนวทางในการต่อสู้ นอกจากธรรมนูญนี้จะระบุว่าพลเมืองทุกคนทุกสีผิวจะต้องมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันแล้ว ยังระบุว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ในการได้รับการศึกษาฟรีถึงขั้นมัธยม มีสิทธิ์ที่จะมีงานทำและได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เกษตรกรต้องมีที่ดินทำกินโดยจะมีการแบ่งที่ดินใหม่อย่างเป็นธรรม เพื่อไม่ให้คนรวยผูกขาดที่ดินของประเทศ มีการระบุว่าทรัพยากรต่างๆ และบริษัทใหญ่จะต้องนำมาเป็นของส่วนรวม และทุกคนจะต้องมีสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ

     แต่เกือบ 60 ปีหลังจากการประกาศ ธรรมนูญแห่งเสรีภาพ” และ 20 ปีหลังจากที่ แมนเดลา ขึ้นมาเป็นประธานาธบดี สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้ตรงกับความหวังที่เคยมีในธรรมนูญดังกล่าว องค์กรสหประชาชาติรายงานว่าเด็ก 1.4 ล้านคนอาศัยในกระท่อมที่ไม่มีน้ำสะอาดดื่ม และ 1.7 เด็กล้านคนต้องอาศัยในบ้านที่ต่ำกว่าคุณภาพเพราะไม่มีที่นอน อุปกรณ์อาบน้ำ หรือเครื่องมือทำอาหาร

     นอกจากนี้ธนาคารโลกคาดว่าดัชชนีจินี (Gini Coefficient) ของอัฟริกาใต้สูงถึง 0.7 ดัชชนีนี้วัดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนภายในประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกจะเห็นว่าอัฟริกาใต้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก (เปรียบเทียบกับไทย 0.4, อินเดีย 0.37, สหรัฐ 0.47, ญี่ปุ่นและอังกฤษ 0.32 และฟินแลนด์ 0.27)

    ในปี 2009 เมื่อผมมีโอกาสไปเมืองโจฮันเนสเบอร์ก ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหมืองทองคำ ผมเห็นบ้านหรูของคนผิวขาวและคนรวยผิวดำที่ล้อมรอบด้วยลวดหนาม ตามรั้วมีป้ายเตือนขโมยว่ามียามติดอาวุธ ในขณะเดียวกันผมเห็นบ้านเล็กๆ จำนวนมาก เสมือนกล่องปูนซิเมน ของคนผิวดำ และที่แย่กว่าคือสลัมที่ไม่มีน้ำสะอาดหรือห้องน้ำ

     อัฟริกาใต้ถูกคนผิวขาวจากยุโรปบุกรุกและยึดครองมาตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม แต่พอถึงยุค1880 มีการค้นพบเพชรกับทองคำ บริษัทใหญ่จึงต้องการแรงงานผิวดำราคาถูกเป็นจำนวนมาก สภาพการทำงานของคนงานเหล่านี้ในเหมือนแร่ป่าเถื่อนที่สุด พร้อมกันนั้นมีการใช้ความรุนแรงเพื่อขับไล่คนผิวดำในหมู่บ้านชนบทออกจากที่ดิน และนี่คือที่มาของการก่อตั้งขบวนการแรงงานคนผิวดำในอัฟริกาใต้ ซึ่งเป็นขบวนการทางสังคมที่มีพลัง ต่อมาในปี 1948 มีการออกกฏหมายเพื่อสร้างระบบ อาพาร์ไทยท์ เป็นทางการ คนผิวดำถูกบังคับให้อาศัยในสลัมเพื่อมาทำงานให้คนผิวขาวและบริษัทยักษ์ใหญ่ และห้ามใช้บริการต่างๆ ที่คนผิวขาวใช้ สรุปแล้วระบบ อาพาร์ไทยท์ ที่แบ่งแยกและกดขี่คนตามสีผิว เป็นส่วนหนึ่งและแยกไม่ออกจากระบบทุนนิยมของอัฟริกาใต้ บริษัทเพชร De Beers บริษัทเหมืองทองคำใหญ่ๆ เช่น Anglo-American รวมถึงบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ของประเทศตะวันตก เช่น ICI, GEC, Shell, Pilkington, British Petroleum, Blue Circle and Cadbury Schweppes สามารถกอบโกยกำไรมหาศาลจากระบบนี้

     ในขณะที่ผู้นำระดับโลกทุกวันนี้แห่กันไปชมและไว้อาลัย แมนเดลา เราไม่ควรลืมว่าตลอดเวลาที่ แมนเดลา ติดคุก ผู้นำประเทศตะวันตกเกลียดชังและด่าเขาว่าเป็นพวก “ก่อการร้าย”

     ในปี 1990 แมนเดลา ถูกปล่อยตัว และระบบ อาพาร์ไทยท์ เริ่มล่มสลาย เหตุผลหลักมาจากการต่อสู้และการนัดหยุดงานเป็นระยะๆ ของขบวนการแรงงานตั้งแต่ปี 1974 และการต่อสู้ของชุมชนผิวดำ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน เช่นในเมือง Soweto ในปี 1976 เพราะการลุกฮือเป็นประจำแบบนี้ทำให้นายทุนใหญ่และชนชั้นปกครองมองว่าต้องรื้อถอนระบบแบ่งแยกด้วยสีผิว เพื่อปกป้องฐานะและกำไรของเขาในระบบทุนนิยม

     ปัญหาของแนวทางในการต่อสู้ของพรรค ANC และพรรคแนวร่วมหลักคือ “พรรคคมอมิวนิสต์แห่งอัฟริกาใต้” (SACP) คือมีการเน้นการต่อสู้เพื่อปลดชาติจากการผูกขาดของคนผิวขาว ที่เรียกกันว่าการต่อสู้เพื่อ “ประชาชาติประชาธิปไตย” แทนที่จะมองว่าต้องต่อสู้กับระบบการกดขี่สีผิวพร้อมๆกับสู้กับระบบทุนนิยม (ที่ชาวมาร์คซิสต์เรียกว่า “แนวปฏิวัติถาวร”) พูดง่ายๆ ANC และ SACP มองว่าการมีรัฐบาลของ แมนเดลา จะทำให้ทุนนิยมอัฟริกาใต้ “น่ารักมากขึ้น” รัฐบาล ANC สัญญามาตั้งแต่แรกว่าจะไม่แตะระบบทุนนิยมและกำไรของบริษัทยักษ์ใหญ่ และบทบาทสำคัญของ SACP คือการคุมขบวนการแรงงานเพื่อไม่ให้ออกมาต่อสู้และ “เรียกร้องอะไรมากเกินไป” จากรัฐบาล ANC มองดูแล้วอดไม่ได้ที่จะนึกถึงรัฐบาลเพื่อไทยและบทบาทแกนนำ นปช.

     อย่างไรก็ตามตรรกะของการยอมรับระบบทุนนิยม โดยไม่พยายามปะทะ หรือเปลี่ยนระบบ คือการหันไปยอมรับกลไกตลาดเสรี ในปีที่พรรค ANC ขึ้นมาเป็นรัฐบาลมีการตกลงกับองค์กรIMF เพื่อรับแนวทางตัดสวัสดิการและตัดงบประมาณรัฐ และต่อมามีการลดภาษีให้บริษัทใหญ่ และทั้งๆ ที่รัฐบาลตั้งใจจะสร้างบ้านใหม่ให้คนผิวดำจำนวนมาก ในความเป็นจริงโครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และผลของนโยบายเสรีนิยม คือการที่มีการเพิ่มกำไรและรายได้ให้กับกลุ่มทุนและคนรวยในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนเหมือนเดิม เพียงแต่ข้อแตกต่างจากยุค อาพาร์ไทยท์ คือในหมู่นักธุรกิจและคนรวย มีคนผิวดำที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเข้าไปร่วมกินด้วย หนึ่งในนั้นที่เป็นเศรษฐีใหญ่คืออดีตผู้นำสหภาพแรงงานเหมืองแร่ Cyril Ramaphosa

     Ronnie Kasrils เพื่อนร่วมสมัยแมนเดลา และสมาชิกระดับสูงของพรรค ANC และพรรคSACP เขียนบทความใน นสพ The Guardian เมื่อปลายเดือนมิถุนายนปีนี้ โดยสารภาพว่าพรรคผิดพลาดมหาศาลที่ยอมถูกกดดันจากกลุ่มทุนใหญ่ จนทิ้งอุดมการณ์เดิมไปหมด เขามองว่ารัฐบาลในสมัยนั้นรวมถึงตัวเขาเอง กลัวคำขู่ของนายทุนมากเกินไป  ดูได้ที่ (http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2013/jun/24/anc-faustian-pact-mandela-fatal-error)

     ท่ามกลางสภาพสังคมที่แย่ๆ แบบนี้ ขบวนการชุมชนที่ต่อต้านการแปรรูปสาธารณูปโภคให้เป็นเอกชน และสหภาพแรงงานต่างๆ ก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการต่อสู้กับรัฐบาลและนายทุนอย่างดุเดือด และมีความพยายามของฝ่ายซ้ายบางกลุ่มที่จะตั้งองค์กรที่อิสระจากพรรค ANC และพรรคคอมมิวนิสต์ ล่าสุดการลุกฮือของคนงานเหมืองแร่ที่ Marikana ซึ่งถูกตำรวจปราบแบบนองเลือด แสดงให้เห็นว่าคนงานพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่ได้ถูกครอบงำโดยรัฐบาล นอกจากนี้ภาพตำรวจกราดยิงคนงานที่ไร้อาวุธ อย่างที่รัฐบาลเผด็จการของคนผิวขาวเคยทำ กระตุ้นให้คนจำนวนมากเริ่มมองว่าการล้ม อาพาร์ไทยท์ ไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปมากนัก และมวลชนยังมีภาระที่จะต่อสู้ต่อไป

     ผมจะไว้อาลัย เนลสัน แมนเดลา ทั้งๆ ที่แนวการต่อสู้ของเขาทำให้ความหวังของ ธรรมนูญแห่งเสรีภาพ ยังไม่เกิด เพราะอย่างน้อยเขาเป็นผู้นำที่เสียสละอดทนเพื่อสู้กับระบบ อาพาร์ไทยท์” และเขาเป็นผู้นำที่ดุจเสมือน “พ่อ” ที่น่าเคารพจริงคนหนึ่งของโลกสำหรับฝ่ายซ้ายรุ่นผม พวกเราเคยร่วมรณรงค์ต่อต้านอาพาร์ไทยท์ ในระดับสากลมาหลายปี และตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่าคุณแม่ก็ไม่ยอมซื้อสินค้าจากอัฟริกาใต้ แต่ผมจะไม่ลืมว่าการล้ม อาพาร์ไทยท์ อาศัยการต่อสู้เสียสละของมวลชนคนงานและเด็กนักศึกษาจำนวนมาก 

          และภาระในการต่อสู้ยังไม่จบ

อาลัย เนลสัน แมนเดลา ( July 18, 1918 - December 5, 2013)





ชีวิตของเนลสัน แมนเดลา

18 กรกฎาคม 1918: 
วันเกิด เป็นลูกชายของที่ปรึกษาหัวหน้าเผ่า

1940: 
ถูกระงับการศึกษาในมหาวิทยาลัยเพราะมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อต้านรัฐ

1944: 
มีส่วนร่วมก่อตั้ง สันนิบาตเยาวชน พรรคสภาแห่งชาติแอฟริกา African National Congress หรือ ANC Youth League สนับสุนการคว่ำบาตร รัฐเผด็จการของคนผิวขาว ด้วยวิธีการ บอยคอตงดซื้อสินค้า นัดหยุดงาน อารยะขัดขืน

1950: 
เปิดบริษัทกฎหมาย ถูกจับกุมคุมขังหลายครั้ง ได้รับเลือกเป็นประธาน สันนิบาตเยาวชน พรรคสภาแห่งชาติแอฟริกา ANC

1960: 
รัฐเผด็จการของคนผิวขาวประกาศ ANC เป็นองค์กรต้องห้ามที่ผิดกฎหมาย

1962: 
ถูกจับและถูกตัดสินจำคุกห้าปี

1963: 
ถูกส่งตัวไปยังเกาะร็อบเบน ถูกฟ้องร้องอีกครั้ง ข้อหาก่อวินาศกรรม

1964: 
ถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต

1990: 
ถูกปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐยกเลิกแบน ANC ว่าเป็นองค์กรต้องห้าม

1993: 
ได้รับรางวัลโนเบลทางสันติภาพ ร่วมกับ FW de Klerk ประธานาธิบดี South Africa ณ ขณะนั้น และเป็นผู้ปล่อย เนลสัน แมนเดลา

1994: 
ยุคของการแบ่งแยกสีผิวอย่างเป็นทางการ “อาพาร์ไทยท์” จบลง มีการเลือกตั้งอย่างเสรีครั้งแรก แมนเดลาได้รับการเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้

1997: 
ลาออกจากการเป็นประธานของ ANC

1999:  
ไม่ลงรับเลือกตั้งประธานาธิปดีแอฟริกาใต้สมัยที่สอง หลังจากหมดเทอมแรก

2013: 
เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม สิริอายุ 95 ปี


ooo
คำคม เนลสัน แมนเดลา

A government which uses force to maintain its rules teaches the oppressed to use force to oppose it

รัฐใดใช้ความรุนแรงพื่อรักษาอำนาจการปกครองของตน รัฐนั้นได้สอนผู้ถูกกดขี่ ให้ใช้ความรุนแรงโต้ตอบ
ooo

We had to accept a permanent state of inferiority or defy the government. We chose to defy the government

เราต้องยอมรับความด้อยกว่าอย่างถาวร หรือ เลือกที่จะต่อต้านรัฐ เราเลือกที่จะต่อต้านรัฐ
ooo

There is no easy walk to freedom anywhere, and many of us will have to pass through the valley of the shadow again and again before we reach the mountaintop of our desires.

ไม่มีหนทางการเดินทางเพื่ออิสะภาพใด ๆ ที่ง่ายดาย และพวกเราหลายคน จะต้องเดินผ่าน หุบเขาแห่งความมืด ความตาย ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ก่อนที่เราจะไปถึงยอดเขาของความปราถนา


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น