วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มติชนวิเคราะห์ ... วิกฤตแหลมคม รอเวลา"แตกหัก" วัดดวง"รัฐบาลเพื่อไทย"

 

มติชนวิเคราะห์ ... วิกฤตแหลมคม รอเวลา"แตกหัก" วัดดวง"รัฐบาลเพื่อไทย"

วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เวลา 13:00:02 น.

  








การชุมนุมไล่ระบอบทักษิณ ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มอดีต ส.ส.ปชป. ดำเนินมาจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน 

ขยายตัวด้วยการผนึกเข้ากับผู้ชุมนุมอีก 2 เวทีคือ กลุ่ม คปท. ที่แยกนางเลิ้ง และ กปท. หรือกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ ที่สะพานผ่านฟ้า 

กลายเป็น 3 เวที ผสมกับเงื่อนไขจากร่าง พ.ร.บ.สุดซอย เรียกมวลมหาประชาชนออกมาร่วมได้อย่างเหนียวแน่นต่อเนื่อง 

ไฮไลต์ในห้วงหลังของเดือน อยู่ที่การระดมครั้งใหญ่ จนผู้ชุมนุมเนืองแน่นเต็มพื้นที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน

จากนั้นเร่งเครื่อง ดาวกระจายไปยังกระทรวงต่างๆ มีเป้าอยู่ที่การให้ข้าราชการหยุดงาน และ "ชัตดาวน์" ราชการทั้งระบบ 

ผลจากการดาวกระจาย ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดเวทีเพิ่มได้ที่ลานกระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 

ก่อนกรีธาม็อบเข้ายึดศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

วันที่ 28 พฤศจิกายน กลุ่ม กปท. บุกไปยังย่านปทุมวัน ปิดล้อมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัดไฟ ขณะที่ ผบ.ตร.สั่งระดมกำลังตำรวจตรึงประตูรั้วไว้อย่างเต็มที่ 

วันที่ 29 พฤศจิกายน กลุ่ม คปท.ลุยเข้าไปในสนามหน้าอาคาร บก.ทบ. พร้อมกับเรียกร้องขอทราบจุดยืนของกองทัพบก 

ขณะเดียวกัน มีผู้ชุมนุมไปรวมตัวที่หน้าพรรคเพื่อไทย ปราศรัยโจมตีการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 

และเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ เพื่อปิดเกมขั้นแตกหัก ในวันที่ 29 และ 30 พฤศจิกายน 



หลังจากมีคำถามว่า แนวทางการเมืองของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวคืออะไร นายสุเทพ ได้ปราศรัยเปิดเผยว่า หากล้มระบอบทักษิณได้ จะดำเนินการปฏิรูปการเมือง 6 ข้อดังนี้ 

1.ให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ให้คนชั่วเข้ามา 

2.เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่ให้ทุจริต คอร์รัปชั่น เพราะนักธุรกิจการเมือง นายทุนสามานย์ ถอนทุนเมื่อชนะเลือกตั้ง ต้องแก้กฎหมายคดีคอร์รัปชั่นต้องไม่มีอายุความ

3.ให้นักการเมืองเคารพอำนาจประชาชนอย่างแท้จริง ต้องมีบทบัญญัติที่ให้ประชาชนมีอำนาจในการเมืองการปกครอง ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ทุกจังหวัดต้องได้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเหมือนกรุงเทพมหานคร 

4.ต้องปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ เป็นตำรวจของประชาชน กตร. หรือคณะกรรมการตำรวจจึงต้องเป็นประชาชน ไม่ใช่ตำรวจด้วยกันหรือข้าราชการ พอกันที ตำรวจมาลอยหน้าลอยตาบอกว่า "ได้ดีวันนี้ เพราะพี่ให้" ตำรวจต้องอยู่ใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด 

5.ต้องออกแบบระบบกฎหมายว่าข้าราชการต้องเป็นข้าราชการในระบบคุณธรรม ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์เล่นพรรคเล่นพวก 

6.การศึกษา สังคม สาธารณสุข ขนส่งต้องเป็นวาระแห่งชาติ เลิกประชานิยมทั้งหลาย ใครมาเป็นรัฐบาลต้องทำ ไม่ใช่ใครเป็นรัฐบาลทำตามอำเภอใจ ไม่สนใจเป้าหมายของชาติ

ส่วนแผนทางการเมือง จะตั้ง สภาประชาชน และให้มีรัฐบาลที่มาจากคนดี 

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงข่าวผ่านทีวีพูล เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน เรียกร้องให้ยุติการชุมนุม คืนสถานที่ราชการ และรัฐบาลพร้อมเปิดเวทีเพื่อให้มีการเจรจา 

แต่นายสุเทพ ปฏิเสธ ยืนยันไม่เจรจา ไม่พูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างสิ้นเชิง 

และจะยกระดับการเคลื่อนไหวให้แรงยิ่งขึ้น เพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะยุบสภา หรือลาออก

ยืนยันจะเดินในแนวทางที่ประกาศไว้ 6 ข้อ 



ท่าทีจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ถือว่าน่าพิจารณาเช่นกัน

หลังจากนายสุเทพเข้ายึดกระทรวงการคลัง แกนนำของพรรค คือนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค กทม. ให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วย ทำให้นายสุเทพ ตอบโต้ด้วยความไม่พอใจอย่างรุนแรง 

ขณะเดียวกัน มีข้อเสนอในพรรคว่า ส.ส.ทั้งหมดน่าจะลาออกเพื่อไปร่วมการเคลื่อนไหวกับนายสุเทพ แบบสุดซอย 

วันที่ 29 พฤศจิกายน พรรค ปชป.ประชุมยาว 5 ชั่วโมง ก่อนลงมติไม่ลาออก ด้วยเหตุผลว่า ช่วงเวลาไม่เหมาะสม แต่ยืนยันสนับสนุนการต่อสู้เพื่อล้มระบอบทักษิณ 

ส่วนข้อเสนอขอเจรจาของนายกฯยิ่งลักษณ์ นายอภิสิทธิ์ระบุว่า นายกฯยิ่งลักษณ์ไม่มีสิทธิเป็นคนกลาง เพราะหมดความชอบธรรม เนื่องจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 

และนายกฯไม่มีสิทธิเจรจาต่อรอง เพราะเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง 

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวว่า พรรคจะปฏิรูปตัวเอง นำคนภายนอกเข้ามีส่วนร่วม เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น 

เป็นท่าทีซึ่งแม้จะไม่ร่วมหัวจมท้ายกับนายสุเทพแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ขัดแย้งกับแนวทางของนายสุเทพ



นับเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนและยุ่งยากสำหรับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

เพราะดูเหมือนจะทำได้เพียงแค่ควบคุมมิให้สถานการณ์บานปลาย โดยใช้กำลังตำรวจเข้ารักษาการณ์ และห้ามมิให้ใช้อาวุธและใช้ความรุนแรง 

ส่วนกองทัพ ยังแน่นเหนียวกับท่าทีที่ตั้งมั่นในกรมกอง แม้จะมีข่าวสะพัดหลายทิศทาง

ขณะที่ นปช.เอง ระดมคนเสื้อแดงชุมนุมที่สนามราชมังคลาฯด้วยท่าทีระมัดระวังอย่างสูงและเตรียมยกระดับการชุมนุมเป็นม็อบใหญ่ในวันที่ 30 พฤศจิกายน เพื่อคานกับม็อบค้านรัฐบาล 

กลายเป็นสถานการณ์ที่เหมือนกับสะสมพลังงาน รอการปะทุระเบิด 

ท่ามกลางความห่วงใยจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ที่เรียกร้องให้งดการใช้ความรุนแรง ให้เจรจากันด้วยหลักสันติวิธี 

รวมถึงเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ออกแถลงการณ์ จากกรุงนิวยอร์ก สหรัฐ แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ร้องทุกฝ่ายยึดอยู่บนความอดกลั้นและไม่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังกังวลถึงการยึดหน่วยงานราชการต่างๆ ในประเทศด้วย 

ส่วนข้อเสนอของพลังฝ่ายเป็นกลาง ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากนัก ในสถานการณ์ที่แหลมคม เห็นพ้องว่ารัฐบาลจะต้องตัดสินให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง 

อาทิ กลุ่ม อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ - นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอให้ทำประชามติขอแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วยุบสภา

ซึ่งก็ยังไม่ตรงกับแนวทางของกลุ่มผู้ชุมนุม 

ที่ต้องจับตาคือ ข้อเสนอของกลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.

เรียกร้องนายกรัฐมนตรี 5 ข้อ สาระบางตอนระบุว่า ให้รัฐบาลยอมรับว่า การเมืองระบอบทักษิณไม่เป็นที่ยอมรับ และเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 

และให้นายกฯและบุคคลในตระกูลชินวัตรต้องเสียสละ ด้วยการให้สัญญาประชาคมว่าจะไม่เกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือผ่านตัวแทน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเลือก "ทางออก" จากวิกฤตนี้ในจังหวะเวลาใดและลักษณะไหนยังไม่ชัดเจน 

ขณะที่อุณหภูมิดูเหมือนจะถูกเร่งให้ร้อนขึ้นเรื่อยๆ

.................

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 1 ธ.ค. 2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น