วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"พงศ์เทพ" ชี้เหตุใช้ "นายกฯพระราชทาน" เพราะมีการออกธรรมนูญการปกครองเมื่อปี 2515

 

"พงศ์เทพ" ชี้เหตุใช้ "นายกฯพระราชทาน" 

เพราะมีการออกธรรมนูญการปกครองเมื่อปี 2515

updated: 06 ธ.ค. 2556 เวลา 12:51:37 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี รับข้อเสนอของตัวแทนนักเรียนรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อหาทางออกของประเทศ นำโดยนายปัณมาสน์ อร่ามเมือง เลขาธิการเครือข่ายแนวร่วมนักเรียนรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนนักเรียนรัฐศาสตร์ ประมาณ 20 คน โดยเนื้อหาของข้อเสนอต่อภาคส่วนต่างๆ แบ่งเป็น 2 ประการ คือ

1.ในระยะเฉพาะหน้าให้มีการเจรจาโดยเปิดเผย ให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะระหว่างรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุม เพื่อแสวงหาข้อตกลงร่วมกันและยอมรับผลที่เป็นไปได้ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในระยะที่การยุบสภาและลาออกยังไม่ใช่วิถีทางคืนอำนาจให้แก่ประชาชนที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายชุมนุม 


และ 2.ในระยะยาวการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ มีพื้นที่ในการแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยจัดให้มีการลงประชามติภายหลังการแก้ไข ถือเป็นการลดเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งที่จำเป็นได้อย่างยั่งยืน


ด้านนายพงศ์เทพ กล่าวว่า ข้อเสนอใด ๆ ถ้ารัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้ก็เป็นไปได้ เช่น กรณีข้อเสนอการจัดตั้ง “สภาประชาชน” ต้องดูว่าจะมีอำนาจแค่ไหน จะกำหนดไว้ในกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเรามีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทั้งนี้เวลาที่มีการแก้ไขมาตราใดในรัฐธรรมนูญ ก็ทำตามขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขมาตรานี้ เว้นแต่ถ้าเห็นว่าควรต้องมีกลไกในการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 ก่อน


เมื่อถามถึงการที่นายสุเทพเทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ระบุว่ากรณีของนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เคยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์วันที่14 ต.ค.2516  นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ไปดูกันให้เห็นก่อน อย่าเพิ่งทึกทักเอง ทั้งนี้ รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ออกธรรมนูญการปกครองเมื่อปี 2515 ซึ่งไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ ของการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีเพียงแค่สภานิติบัญญัติแห่งชาตินำชื่อบุคคลบุคคลหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯบุคคลนั้นได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายสัญญาธรรมศักดิ์ เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามธรรมนูญดังกล่าว  และหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2516 ยังคงมีการใช้ธรรมนูญฉบับดังกล่าว จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 จึงยกเลิกธรรมนูญการปกครองเมื่อปี 2515


นายพงศ์เทพ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 นั้น ตนอยากให้ไปดูพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2549 ว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้บทบัญญัติต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญถูกเขียนเพื่อรองรับเหตุการณ์ไว้หลากหลายโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ใช้กรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้คาดไว้ ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก เช่น กรณีที่มีสภาใดสภาหนึ่งทำหน้าที่อยู่ตลอด คือวุฒิสภา ซึ่งอาจมีบางเรื่องที่ต้องไปขอรับความเห็นชอบ อาทิ การประกาศสงคราม เป็นต้น แต่ถ้าปรากฏว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งหมดแล้ว ต้องมีการขอความเห็นชอบจากวุฒิสภาในวันนั้น ก็ต้องไปดูที่มาตรา 7 ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น


ต่อข้อถามถึงการระดมความคิดเห็นจากนักกฎหมายและนักวิชาการในการหาทางออกประเทศ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนและนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ไปรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ แล้วส่งให้นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่เป็นผู้รวบรวมและจัดทำรูปแบบเวทีระดมความคิดเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งกำลังเร่งทำส่วนนี้โดยเร็ว จากนั้นอาจต้องเชิญผู้เป็นเจ้าของแต่ละความคิดมาสอบถามรายละเอียด และอาจให้มีการพูดคุยกับคนอื่น ๆ ซึ่งอาจมีการปรับแต่งความคิดนั้น ๆ ได้ แล้วเราจะนำข้อสรุปแต่ละทางเลือกไปนำเสนอให้สาธารณชนรับทราบและช่วยกันวิพากษ์


เมื่อถามว่าจะมีการนัดหมายฝ่ายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เป็นผู้เสนอให้มีสภาประชาชนมาร่วมพูดคุยเมื่อใด  นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ถ้านายสุเทพมีการส่งตัวแทนมานั่งพูดคุยกัน ก็จะทำให้เรามีข้อมูลละเอียด ทั้งนี้ การที่เราให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายข้าราชการประจำการดำเนินการระดมความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อให้ทุกคนสบายใจ อย่างไรก็ตามการทำเรื่องนี้ต่างจากเวทีปฏิรูปประเทศ เพราะเวทีปฏิรูปฯ มีทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่การหาทางออกให้ประเทศครั้งนี้เราจำกัดแค่เป็นเรื่องเฉพาะ ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน

 

 

 

ที่มามติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น