วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

135 คณาจารย์ ชี้ 4 ปัญหาท่าที ทปอ.

 http://news.voicetv.co.th/democracycrisis/90278.html

135 คณาจารย์ ชี้ 4 ปัญหาท่าที ทปอ.

คณาจารย์ 135 คน ร่วมลงนามใน 'จดหมายเปิดผนึกจากคณาจารย์กลุ่มหนึ่งต่อท่าทีของที่ประชุมอธิการบดีใน สถานการณ์วิกฤติการเมือง'  ระบุไม่เห็นด้วยต่อท่าทีที่ให้รัฐบาลยุบสภา และตั้งรัฐบาลรักษาการ เนื่องจากไม่สะท้อนการเป็นตัวแทนประชาคมวิชาการของประเทศ และไม่คำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวต่อสังคม
 
 
คณาจารย์ 135 คน จากคณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  คณะศิลปศาสตร์  สื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เช่นอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , อาจารย์ กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล , อาจารย์วิโรจน์ อาลี , อาจารย์เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์  , อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ , อาจารย์วรเจตน์  ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ได้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของที่ประชุมอธิการบดี หรือ ทปอ.  ในวิกฤตการเมืองขณะนี้ 
 
 
เนื่องจาก ทปอ. ซึ่งมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเข้าประชุม  ได้เคยออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลยุบสภา และตั้งรัฐบาลรักษาการ ที่ทุกฝ่ายยอมรับขึ้นมาบริหารประเทศ  
 
 
โดยคณาจารย์ 135 คน ระบุว่า ในการประชุมและแถลงท่าทีดังกล่าว เป็นการประชุมกันเอง โดยไม่มีการรับฟังความเห็นและข้อถกเถียงจากประชาคมมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ทั้งๆ ที่การบริหารงานของแต่ละมหาวิทยาลัย ต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมและพร้อมรับผิดชอบ แต่กรณีนี้ อธิการบดี เอาความเป็นสถาบัน และภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ออกไปใช้ในทางการเมืองโดยไม่ฟังเสียงประชาคม 
 
 
นอกจากนี้ การนำเสนอความเห็นของ ทปอ. ต่อสถานการณ์การเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องรัฐบาลรักษาการ  มีแนวโน้มขัดต่อหลักการและเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากขาดการยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งหลักความเป็นตัวแทนจากการเลือกตั้งและเสียงข้างมาก และยังขัดต่อหลักนิติธรรม ในแง่ความถูกต้องทางกฎหมายและตามขั้นตอน 
 
 
ข้อเสนอของ ทปอ. ยังส่งผลต่อประโยชน์และความได้เปรียบทางการเมือง ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มอย่างชัดเจน และ ทปอ. ที่รวมกลุ่มกันแบบไม่มีกฎหมายรองรับ ยังไม่ปกป้องการทำหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย นั่นคือการเรียนการสอน   
 
 
ซึ่งคณาจารย์ 135 คน เห็นว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะนี้  ผู้บริหารสถาบันการศึกษาและที่ประชุม ทปอ.ควรแถลงเรียกร้องให้กลุ่มต่างๆ จำกัดพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมือง ต้องเตือนสติขั้วขัดแย้งทางการเมือง ให้ตระหนักถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นสำคัญ และมหาวิทยาลัยต้องเปิดการเรียนการสอนตามปกติ  เพราะถือเป็นหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย  การประกาศงดการเรียนการสอน ยังอาจกลายเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มได้
 
 
ข้อเรียกร้องสุดท้ายคือ ทปอ. ต้องเข้าใจบทบาทว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง และช่วยนำพาสังคม ให้ข้ามพ้นจากวิกฤตในระยะยาว ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นที่หลากหลาย  และเสรีภาพทางวิชาการของสมาชิกในประชาคม และของสังคม การนำมหาวิทยาลัยไปผูกกับจุดยืนทางการเมืองของผู้บริหารมหาวิทยาลัย  จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง  ถือเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศ ที่เชิดชูเสรีภาพและความหลากหลายทางความคิด รวมทั้งความอดทนอดกลั้น ของประชาคมมหาวิทยาลัยและผู้คนในสังคม 
 
                         
ในช่วงเหตุการณ์ประท้วงในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ผ่านมา  มีมหาวิทยาลัยที่ประกาศหยุดการเรียนการสอนและปิดทำการ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุกศูนย์การศึกษา คือท่าพระจันทร์  รังสิต และลำปาง , มหาวิทยาลัยศิลปากร , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฉพาะวิทยาเขตบางเขน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง , มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยมหิดล ทุกวิทยาเขต , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ , มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน และวิทยาคารพญาไท   สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขตคือ หาดใหญ่ ปัตตานี สุราษฎร์ธานี ตรัง และภูเก็ต

5 ธันวาคม 2556 เวลา 17:54 น.

Keyword: ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก นิติศาสตร์ ยุบสภา อธิการบดี รัฐบาลรักษาการ ,วิกฤติการเมือง รัฐศาสตร์ คณาจารย์ หลักธรรมาภิบาล ที่ประชุมอธิการบดี ทปอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น